“Erdonomics” เศรษฐศาสตร์นอกรีตสไตล์ "ผู้นำตุรกี” ดีด “เงินเฟ้อ” ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี
รู้จัก “Erdonomics” โมเดลเศรษฐกิจใหม่ สไตล์ผู้นำ “ตุรกี” ที่ดีด “เงินเฟ้อ” ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี และอาจนำประเทศสู่ “วิกฤติค่าเงิน” แม้ผู้ว่าธนาคารกลางจะออกโรงค้านถึง 4 คน แต่ทั้งหมดก็จบลงด้วยการถูกไล่ออก!
ท่ามกลางการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 หลายประเทศเริ่มใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดผ่านการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือถอนมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ เพื่อระงับความร้อนแรงของเศรษฐกิจ สกัดการเร่งขึ้นของ “อัตราเงินเฟ้อ”
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า “ตุรกี” จะไม่ได้สนใจปัจจัยทางเศรษฐกิจดังกล่าว แม้อัตราเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 19 ปี จนทำให้ค่าเงินลีราตุรกีอ่อนค่าลง 44% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ประธานาธิบดี “เรเซป เทย์ยิป เออร์ดวน” (Recep Tayyip Erdoğan) ยังคงยืนกรานที่จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำต่อไป และเลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการเข้าแทรกแซงในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศแทน
เบื้องหลังของการตัดสินใจดำเนินนโยบายขัดกับหลักการทั่วไปนั้น มีที่มาจาก “เออร์ดวน” ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปในแบบที่ตนเห็นว่า “ดี” หรือที่นักวิชาการหลายคนเรียกว่า “Erdonomics” (Erdoğan + Economics) ซึ่งโมเดลดังกล่าวนี้ถูกวิเคราะห์ว่าจะนำตุรกีสู่ “วิกฤติค่าเงิน” (Currency crisis) ในที่สุด
- “Erdonomics” โมเดลเศรษฐกิจใหม่จาก “เออร์ดวน”
เออร์ดวน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของตุรกี มีความต้องการจะปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ จากการพึ่งพิงเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่ต่างอะไรจาก “เงินร้อน” ที่ถูกดึงดูดโดยอัตราดอกเบี้ยสูง ให้เปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตจากภายใน ผ่านการสนับสนุนภาคการส่งออกและการลงทุนในประเทศด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ การดำเนินนโยบายด้วยการควบคุมตัวแปรทางเศรษฐกิจตัวใดตัวหนึ่ง มักส่งผลกระทบไปยังตัวแปรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อเออร์ดวนเลือกควบคุม “อัตราดอกเบี้ย” ตัวแปรอื่นที่เกี่ยวข้องอย่าง “อัตราเงินเฟ้อ” และ “อัตราแลกเปลี่ยน” จึงได้รับผลกระทบไปด้วย
- พิษของโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่ส่งผ่าน “อัตราแลกเปลี่ยน” และ “อัตราเงินเฟ้อ”
ในระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (Open Economy) การดำเนินนโยบายตามอำเภอใจอาจไม่ได้ให้ผลดังที่คาดคิด การลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงถึง 4% ท่ามกลางการคงอัตราดอกเบี้ยหรือเข้าสู่สภาวะขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้อัตราผลตอบแทนของการเอาเงินเข้ามาลงทุนในตุรกีนั้นต่ำลงมาก เกิดเหตุการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศ
เมื่อกระแสเงินทุนในตุรกีอยู่ในทิศทางไหลออก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ “อัตราแลกเปลี่ยน” จะต้องปรับตัวตามทิศทางตลาด
อธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อการลงทุนในตุรกีไม่ได้ผลตอบแทนที่ดี การถือสินทรัพย์และเงินลีราตุรกีก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป นักลงทุนจึงหันไปแลกเปลี่ยนเงินลีราไปเป็นเงินสกุลอื่น อาทิ ดอลลาร์สหรัฐ ยูโร หรือเงินสกุลอื่นที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
เหตุการณ์ในตลาดซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จึงเป็นไปในรูปแบบที่ว่า มีความต้องการขายเงินลีราตุรกี เพื่อซื้อเงินสกุลอื่นเข้ามาในกระเป๋าแทน
..เมื่อมีความต้องขายมากกว่าซื้อ ราคาหรือค่าเงินลีราตุรกีจึงอ่อนค่าลง
ซ้ำร้ายในช่วงที่มีการลดอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อของตุรกีนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากอยู่แล้ว และมีการเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 การลดอัตราดอกเบี้ยจึงเป็นการเหยียบคันเร่งเพิ่มอัตราเงินเฟ้อให้ยิ่งสูงขึ้นไปอีก เพราะโดยปกติแล้ว เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จะต้องทำการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อเพิ่มต้นทุนในการจับใช้สอยในระบบเศรษฐกิจ
แม้อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำและการอ่อนลงของค่าเงินลีราจะส่งผลดีต่อ “การส่งออก” ตามที่เออร์ดวนตั้งใจอยากให้เป็น โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 มูลค่าการลงออกทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 2.15 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในทางตรงข้าม ค่าเงินที่อ่อนลงก็ทำให้การนำเข้าสินค้าที่จำเป็น อาทิ สินค้าพลังงาน นั้นมีราคาที่สูงขึ้นมากเช่นกัน โดยในช่วงเวลาเดียวกัน มูลค่าการนำเข้าก็ทำสถิติสูงสุดตลอดกาลที่ 2.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
สินค้านำเข้าจำเป็นที่แพงขึ้น ได้ซ้ำเติมสถานการณ์เงินเฟ้อให้เลวร้ายลงไปกว่าเดิม ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นไปด้วย ยิ่งเงินเฟ้อสูงขึ้นเท่าไร เงินในมือก็ยิ่งมีค่าน้อยลงเท่านั้น
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติเทศบาลนครอิสตันบูล พบว่า ในปี 2564 ระดับราคาสินค้าเพื่อการดำรงชีพได้ดีดตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก อาทิ น้ำตาล, ข้าวสาลี และน้ำมันดอกทานตะวัน ที่มีราคาเพิ่มขึ้นถึง 90% , 109% และ 137% ตามลำดับ
ทำให้ไม่ใช่เพียงแค่นักลงทุนต่างประเทศที่อยากเทขายเงินลีรา แต่ยังรวมไปถึง นักลงทุนและประชาชนทั่วไปในประเทศเองที่ไม่ต้องการถือแล้วเช่นกัน
ความพยายามแลกเปลี่ยนเงินลีราเป็นเงินสกุลอื่น หรือเปลี่ยนป็นสินทรัพย์อื่น เพื่อคุ้มครองการสูญเสียมูลค่าจากเงินเฟ้อ และความเสียหายจาก “วิกฤติค่าเงิน” ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งปฏิกิริยาดังกล่าวจะมีผลให้เงินลีรานั้นอ่อนค่าลงและเข้าใกล้วิกฤติค่าเงินไปมากกว่าเดิม
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ทำให้ภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา ระดับเงินเฟ้อของตุรกีเพิ่มสูงขึ้นกว่า 16% เมื่อเทียบกับปี 2563 และภายในธันวาคม 2564 เพียงเดือนเดียว เงินเฟ้อพุ่งแตะที่ระดับ 36.08% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 19 ปี
นอกจากนี้ เงินลีราตุรกีอ่อนค่าลงไปที่ระดับ 44% กลายเป็นหนึ่งในค่าเงินที่มีสถานการณ์แย่ที่สุดในโลก โดย Bloomberg Economics ได้วิเคราะห์ว่า ตุรกี คือ 1 ใน 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดวิกฤติค่าเงินมากที่สุด
- “Unorthodox policy” และความไม่เป็นอิสระของธนาคารกลาง
หลายคนคงอาจสงสัยว่า เหตุการณ์เลวร้ายถึงขนาดนั้นแล้วไม่มีนักวิชาการหรือผู้ใดทำการทักท้วงบ้างเลยหรือ โดยเฉพาะผู้ว่าธนาคารกลางที่ควรต้องทำหน้าที่คุมทิศทางเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ
แล้วในขณะที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว คนเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน?
เรื่องนี้ต้องบอกเลยว่า ผู้ว่าธนาคารกลางไม่เพียงแค่ทักท้วง แต่ถึงขั้นคัดค้านในการลดอัตราดอกเบี้ยในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง
ในท้ายที่สุดแล้ว จุดจบของคนที่ยืนหยัดในหลักวิชาการที่ตนร่ำเรียนมา ก็ต้องถูกไล่ออกจากตำแหน่งไป ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่คนเดียว โดยผู้นำตุรกีต้องไล่ผู้ว่าธนาคารกลางออกถึง 4 คน! เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายทางการเงินให้สอดคล้องกับ “Erdonomics” ต่อไปได้
มาถึงตรงนี้ เราได้เห็นปัญหาใหญ่ที่สำคัญของตุรกี คือ ความไม่เป็นอิสระของธนาคารกลาง เพราะหากไม่มีอำนาจอย่างอิสระในการขับเคลื่อนนโยบาย ถึงแม้ผู้ว่าธนาคารกลางจะเก่งถึงเพียงใด แต่ก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีเท่าที่ควรจะเป็น
ตามหลักเศรษฐศาสตร์มหภาค การลดอัตราดอกเบี้ยไม่ควรจะเกิดขึ้น ณ ท่ามกลางภาวะอัตราเงินเฟ้อที่ค้างอยู่ในระดับสูงเช่นในตุรกี และควรมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น เพื่อบรรเทาสถานการณ์เงินเฟ้อและการอ่อนค่าของค่าเงินที่รุนแรงเช่นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยความต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจให้ได้ในแบบที่ต้องการ เออร์ดวนจึงเลือกปฏิเสธหลักการข้างต้น และหันมาใช้ “Unorthodox policy” หรือการดำเนินนโยบายแบบนอกรีต
รูปแบบการดำเนินงานทางนโยบายดังกล่าว ข้อดีคือการสามารถปรับใช้นโยบายต่างๆ ได้หลากหลายและตามต้องการ ซึ่งอาจทำให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียคือ การเพิ่มอำนาจให้กับผู้ใช้มากเกินไป เกิดการดำเนินนโยบายอย่างตามใจชอบ เสี่ยงต่อการขาดความนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบและถี่ถ้วน
ในกรณีของตุรกี อำนาจของเออร์ดวนที่เป็นฝ่ายบริหาร ได้เข้ามายึดกุมอำนาจที่ควรเป็นอิสระของธนาคารกลางออกไป การเลือกใช้ Unorthodox policy จึงเป็นเครื่องมือเสริมอำนาจในมือให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้การดำเนินนโยบายทางการเงินเกิดขึ้นสอดคล้องกับความต้องการปฏิรูปเศรษฐกิจของเออร์โดอาน แม้จะผิดหลักการเศรษฐศาสตร์ตามปกติก็ตาม
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ความนิยมของเออร์ดวนได้ถูกสั่นคลอนลงไปมาก มีการลุกฮือประท้วงจากเรื่องค่าครองชีพในหลายพื้นที่ และฝ่ายค้านได้มีความพยายามจะผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งภายในปีนี้แทน จากกำหนดการเดิมที่จะเกิดขึ้นในปี 2566
Bloomberg ได้จัดให้เหตุการณ์ความวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ในตุรกีอาจเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่จะทำพิษเศรษฐกิจโลกปี 2565 นี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า ตุรกีจะเจอทางออกสำหรับสถานการณ์ทั้งหลายนี้ได้อย่างไร
--------------------------------------------------
อ้างอิง