ThaiBMA เผยโควิดทำหุ้นกู้ดีฟอลต์ ปี 64 มียอดค้างชำระรวมแตะ 2.2หมื่นล้าน

ThaiBMA เผยโควิดทำหุ้นกู้ดีฟอลต์ ปี 64 มียอดค้างชำระรวมแตะ 2.2หมื่นล้าน

สมาคมตราสารหนี้ไทย จับตา "หุ้นกู้ไฮยิลด์" มีความเสี่ยงถูกดีฟอลต์ แม้มีสินทรัพย์ค้ำประกัน เหตุการระบาดโอมิครอนคาดทำเศรษฐกิจฟื้นตัวครึ่งปีหลัง เตือนนักลงทุนประเมินผู้ค้ำประกัน  เผยสิ้นปีก่อนหุ้นกู้ยังค้างชำระหนี้รวม 2.2 หมื่นล้าน หนุนตั้งกองทุนไฮยิลด์บอนด์

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย หรือThaiBMA เปิดเผยว่า ในปี 2565 ยังต้องติดตามความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของ “หุ้นกู้ไฮยิลด์” ต่อเนื่อง เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจปีนี้น่าจะฟื้นตัวช่วงปีครึ่งหลัง และต้องรอประเมินการแพร่ระบาดโควิดโอมิครอนจะยังรุนแรงต่อเนื่องถึงไตรมาส 4 ปี 65 หรือไม่

ขณะที่การออกหุ้นกู้ไฮยิลด์ที่ออกขายส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมาจะมีการค้ำประกัน โดยใช้นิติบุคคล แต่มองว่าแม้จะมีการค้ำประกันก็ไม่ได้ทำให้ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ลดลง เพราะนอกจากความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้แล้ว ยังขึ้นกับความสามารถในการชำระหนี้และคุณภาพของสินทรัพย์ของผู้ค้ำประกันในการชำระหนี้ด้วย เป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องพิจารณา

โดยพบว่า ในช่วงโควิดปี 2564 มีบริษัทผิดนัดชำระหนี้ 1 บริษัท 1 รุ่น มูลค่าหุ้นกู้ผิดนัดชำระ 2.8 พันล้านบาท ออกโดยบริษัทต่างชาติ และสามารถชำระคืนเงินเต็มจำนวนโดยผู้ค้ำประกันแล้ว เป็นบริษัทจดทะเบียนในมาเลเซีย เครดิตเรตติ้ง AAA เป็นธุรกิจบริการด้านพลังงาน

และ ณ สิ้นปี 2564 มูลค่าหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ยังค้างชำระรวม 2.2 หมื่นล้าน คิดเป็นสัดส่วน 0.5% ของมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ทั้งหมด

 

โดยก่อนโควิด ปี 2562 -มี.ค. 2563 มีมูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหา 5.4 พันล้านบาท ( ผิดนัดชำระ 2 ราย 8 รุ่น มูลค่า 3.8 พันล้านบาท และขอขยายอายุ 2 ราย 4 รุ่น มูลค่า 1.5 พันล้านบาท) สามารถทยอยชำระคืนแล้ว 3 พันล้านบาท

และช่วงโควิด ปี 2563 เม.ย.-ธ.ค.2563 มี มูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหา 9 หมื่นล้านบาท (ฟื้นฟูกิจการ 1 ราย 48 รุ่น มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท และขอขยายวันไถ่ถอน 14 ราย 24 รุ่น มูลค่า 1.4 หมื่นล้านบาท) สามารถทยอยชำระคืนแล้ว 7.3 พันล้านบาท 

ล่าสุด ช่วงโควิดปี 2564 มูลค่าหุ้นกู้ที่มีปัญหา 1.5 หมื่นล้านบาท (ขอขยายอายุ เป็นรายใหม่ 4 ราย 6 รุ่น มูลค่า 3.7 พันล้านบาท ,รายเดิมรุ่นใหม่ 7 ราย 13 รุ่น มูลค่า 7.5 พันล้านบาท และรายเดิมรุ่นเดิม 4 ราย 9รุ่น มูลค่า 3.5 พันล้านบาท) สามารถทยอยชำระคืนแล้ว 1 พันล้านบาท

 “ปัจจุบันมูลค่าหุ้นกู้ทั้งระบบราว 1 ล้านล้านบาท มีหุ้นกู้ไฮยิลด์ สัดส่วนเพียง 7-8 % เท่านั้น สัดส่วนส่วนใหญ่มากกว่า 90% ยังเป็นกลุ่มระดับลงทุน หรือ Investment Grade แต่หุ้นกู้ไฮยิลด์ที่มีนิติบุคลค้ำประกันต้องตามไปดูนิติบุคคลนั้นๆ มีความสามารถในการค้ำประกันมากแค่ไหน ขึ้นอยูกับดุลยพินิจของผู้ลงทุน” 

นอกจากนี้ แนวทางการจัดตั้งกองทุนไฮยิลด์บอนด์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) มองว่า เป็นทิศทางที่ดีสร้างโอกาสการลงทุน และช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนรายใหญ่ ที่ลงทุนหุ้นกู้ไฮยิลด์ ได้ดี เนื่องจากกองทุนจะสามารถกระจายความเสี่ยงได้มากกว่า เพราะหากจะให้คุ้มความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต้องมีการลงทุนหุ้นกู้ไฮยิลด์อย่างน้อย 100 ตัว