เอกชนจี้รัฐหักดิบเปิด Test & Go พลิกเกมท่องเที่ยวไทยฝ่า "โอมิครอน"
ปิดศักราชใหม่ปี 2565 อุปสรรคดาหน้าเข้ามาท้าทายไม่หยุดสำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย! เมื่อเผชิญการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” เตะสกัด จน "ศบค." ต้องยกระดับมาตรการตามมติเมื่อ 7 ม.ค. ระงับการลงทะเบียนของนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go รายใหม่ต่อเนื่อง
นึ่งในสาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึกที่ วิลเลียม เอ็ลล์วู๊ด ไฮเน็ค ประธานกรรมการ บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT ยักษ์ใหญ่วงการท่องเที่ยวบริการและอาหารของไทย ร่อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีใจความว่า แม้ระยะสั้นจะยังไม่สามารถลดอัตราการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนลงได้ แต่ส่วนใหญ่เกิดอาการที่รุนแรงน้อยกว่ามาก ส่งผลให้อัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและการเสียชีวิตลดลงตามสัดส่วน ดังนั้น “เราจำเป็นต้องหาวิธีจัดการกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากเดิม ด้วยการลดอัตราการแพร่ระบาดผ่านการเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เพิ่มมากขึ้น”
อีกทั้งหลักปฏิบัติเกี่ยวกับการเปิดรับ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” เข้าประเทศไทย ควรได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่าง “ไทยแลนด์พาส” (Thailand Pass) ซึ่งเป็นระบบการลงทะเบียนเพื่อขอรับการอนุมัติเข้าประเทศล่วงหน้า รวมถึงข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำประกันและการจองที่พักล่วงหน้าก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบมากกว่าเชิงบวก เนื่องจากเป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวของชาวต่างชาติ มาตรการเหล่านี้ล้วนไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป! ไทยควรยึดตามหลักปฏิบัติที่ใช้กันในหลายๆ ประเทศ รวมถึงสายการบินต่างๆ เช่น การขอหลักฐานการฉีดวัคซีน และผลตรวจโควิด-19
“เราควรเร่งกลับมาใช้นโยบาย Test & Go หรือ Sandbox และหากพบนักท่องเที่ยวที่มีผลตรวจเป็นบวก ก็สามารถอนุญาตให้กักตัวเองได้ภายในโรงแรม”
ด้านยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กรณีระงับการลงทะเบียน Test & Go รายใหม่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าสถานการณ์แพร่ระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในไทยดีขึ้น สธ.จะกลับมาพิจารณาเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภท Test & Go อีกครั้ง เพราะเป็นจุดขายสำคัญในการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศไทย
สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ใน “ภูเก็ต” หนึ่งในพื้นที่หลักเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทแซนด์บ็อกซ์ หลังพบยอดผู้ติดเชื้อใหม่รายวันพุ่งสูงขึ้น พบว่ายังไม่ส่งผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยื่นสมัครขอไทยแลนด์พาสเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เพราะเมื่อดูจากภาพรวมผู้สมัครขอไทยแลนด์พาสเมื่อ 11 ม.ค.จำนวนประมาณ 3,800 ราย พบว่ามีผู้ยื่นสมัครเข้า “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” กว่า 3,700 ราย อีก 100 กว่ารายสมัครเข้าแซนด์บ็อกซ์ในอีก 3 พื้นที่ใหม่ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า) พังงา (ทั้งจังหวัด) และกระบี่ (ทั้งจังหวัด) ซึ่งยังต้องติดตามอีกสักระยะเพื่อรอดูดีมานด์ เพราะเพิ่งเปิดระบบรับสมัครไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมานี่เอง
“แม้ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ในภูเก็ตจะเพิ่มขึ้น แต่กว่า 70-80% พบว่าไม่มีอาการ จึงเข้ารับการกักตัวเพื่อเฝ้าดูอาการ โดย ททท.มองว่าสถานการณ์ปัจจุบันของภูเก็ต ไม่ได้อยู่ในขั้นที่ควบคุมไม่ได้ หากนักท่องเที่ยวจะตัดสินใจไม่มาเที่ยวไทย น่าจะเป็นเพราะสถานการณ์โอมิครอนของประเทศต้นทางมากกว่า”
และเมื่อวันที่ 10 ม.ค. ททท.ได้ประชุมร่วมกับจังหวัดภูเก็ต ทางนายณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ระบุว่าภูเก็ตรับมือกับสถานการณ์นี้ได้! เพราะนักท่องเที่ยวที่ติดเชื้อส่วนใหญ่ “ไม่มีอาการ” สามารถเลือกรับการรักษาขึ้นกับอาการได้ ตั้งแต่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล, ฮอสพิเทล หรือ Hotel Isolation ซึ่งเป็นโรงแรมที่มีความพร้อมให้นักท่องเที่ยวของโรงแรมที่ติดเชื้อโควิด-19 กักตัวต่อในห้องพักโดยไม่ต้องย้ายออกไปโรงพยาบาลหรือฮอสพิเทล
“ภูเก็ตได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน เพิ่มจำนวนห้องพักของ Hotel Isolation เป็น 600-800 ห้องพัก ไม่กระทบต่อขีดความสามารถในการรองรับผู้ป่วยติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยสีแดง สีเหลือง และสีเขียวของภูเก็ต นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทางผู้ว่าฯภูเก็ตบอกว่ายังรับมือไหว”
ทั้งนี้ ททท.ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันกำกับดูแลนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ว่าจะเดินทางเข้าไทยด้วยรูปแบบไหน ให้สามารถติดตามตัวในพื้นที่ได้ด้วยการติดตั้งแอพพลิเคชั่นหมอชนะ โดย ททท.ได้ทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการโรงแรมไปแล้ว รวมถึงการทำหน้าที่ของ SHA+ Manager ในแต่ละโรงแรมอย่างรัดกุม ควบคู่กับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ครบ 2 ครั้งตามกำหนด