"ปิดทองหลังพระฯ"จับมือ 8 องค์กร ชู "แนวพระราชดำริ" ช่วยสังคมอยู่รอด-ยั่งยืน
"ปิดทองหลังพระ" สานต่อแนวพระราชดำริ ร่วมกับ 8 องค์กร จัดงานเสวนา”อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” เพื่อระดมผู้รู้ในหลากหลายสาขาและผู้มีประสบการณ์ มาร่วมช่วยกันเสนอทางออกให้กับสังคมไทย ชูแนวทางพระราชดำริตอบโจทย์แก้ปัญหา อยู่รอด ยั่งยืน หลังวิกฤตโควิด
ท่ามกลางวิกฤติที่ผู้คนทั่วโลกยังต้องประสบปัญหาภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อเนื่องจนเข้าสู่ปี3 แล้ว มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงได้ร่วมกับ 8 องค์กร จัดงานเสวนา "อยู่รอด และยั่งยืน หลังโควิด” เพื่อระดมผู้รู้ในหลากหลายสาขาและผู้มีประสบการณ์ มาร่วมช่วยกันเสนอทางออกให้กับสังคม ไทย
โดยช่วงแรกได้เชิญคนในหลายช่วงวัยและจากหลากหลายสาขาอาชีพมาร่วมพูดคุยในหัวข้อ "งานใหม่ ชีวิตใหม่ ในโลกใหม่” ซึ่งทั้ง 4 ราย ล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ พร้อมนำความรู้และทักษะที่มีอยู่ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำอาชีพใหม่ จนกระทั่งประสบความสำเร็จเป็นย่างดี ที่สำคัญได้นำแนวพระราชดำริ”หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”มาปรับใช้ด้วย
ช่วงที่ 2 เสวนาในหัวข้อ“คิดใหม่...ไทยก้าวต่อ” โดยคณะนักวิจัยได้ เปิดผลงานวิจัยทางวิชาการด้วยความร่วมมือของปิดทองหลังพระฯและ 8 องค์กร เสนอแนะแนวทางสร้างความอยู่รอดแบบยั่งยืนของไทยหลังต้องเผชิญวิกฤติการณ์โควิด-19 ทั้งภาคเอกชน องค์กรท้องถิ่น ที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนใน 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ ที่สามารถพึ่งพาตนเองให้อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติการณ์โควิดได้ โดยแต่ละพื้นที่ต่างเสนอแนวทางการน้อมนำแนวพระราชดำริมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยข้อสรุปที่ได้สามารถนำเสนอต่อภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดทำนโยบายให้ทันต่อสถานการณ์ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในบริบทใหม่ อาทิ ควรมีการนำแนวพระราชดำริเรื่อง “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” มาใช้เพื่อกำหนดนโยบายที่เน้นการพัฒนาบนพื้นฐานความต้องการของแต่ละท้องถิ่นที่มีความหลากหลายแตกต่างกัน เป็นการระเบิดจากข้างในในการขับเคลื่อนการพัฒนา ให้ประชาชนเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนา
เนื่องจากประชาชนเป็นผู้รับประโยชน์ แทนการจัดทำนโยบายแบบเดิมที่หน่วยงานภาครัฐฯเป็นผู้กำหนดลงไป "เป็นสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาตามสภาพภูมิสังคมก่อน แล้วดำเนินการพัฒนาตามลำดับไป ทำให้ผลสำเร็จมีความยั่งยืน”
รศ. ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ได้ ชี้ให้เห็นภาพในปัจจุบันและอนาคตว่า โลกเปลี่ยนไปมาก ดังนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีปฏิบัติใหม่ ซึ่งมี3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1. ใช้ความรู้ที่เปลี่ยนไป 2. ใช้ความสามารถที่เปลี่ยนไป และ 3.ต้องใช้เครื่องมือที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้ โควิด-19 คือเป็นตัวเร่งให้สิ่งที่เปลี่ยนไปเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่สภาพโลกที่เปลี่ยนไปมีหลายเรื่อง
“คีย์เวิร์ดที่สำคัญ 3 คำคือ เรียนรู้ ยอมรับ และปรับตัว แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่ความไม่แน่นอน ฉะนั้นต้องมีคำที่ 4 เพิ่มเข้าไป คือต้องยืดหยุ่นให้มาก รวมถึงแนวพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่9 ที่พระราชทานไว้ให้ ซึ่งจะต้องให้น้ำหนักมากขึ้นคือ การเติบโตพัฒนาต้องมาจากฐานรากที่มั่นคง และการเติบโตพัฒนาจะต้องเกิดจากการระเบิดจากข้างใน พูดง่ายๆคือ การที่แต่ละคนมีของ จะทำให้เราสามารถอยู่รอดต่อไปได้”
ด้านดร.ณชา อนันต์โชติกุล ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของโลก บวกกับสถานการณ์โรคโควิด-19 รวมทั้งปัญหาโครงสร้างเดิมของสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ยิ่งซ้ำเติมผู้คนในสังคมไทยมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตแบบไม่สมดุล ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการท่อ่งเที่ยวหรือการส่งออก เมื่อมาเจอวิกฤติโควิด-19 จึงปรับตัวไม่ทัน ทั้งภาคการผลิตและภาคแรงงานก็ยังอยู่ในโลกยุคเก่า จึงเกิดปัญหาในการพัฒนาและสร้างรายได้ นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบไปถึงเด็กจบใหม่และคนทำงานบางส่วนที่จะต้องออกจากงานประจำ
“การปรับตัวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการปรับตัวในส่วนของโครงสร้างทางเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่เป็นไปไม่ได้ บางประเทศสามารถทำได้อย่างเช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์และจีน ดังนั้นต้องตระหนักรู้ ยอมรับปัญหาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริง และต้องทำความเข้าใจว่าจะอยู่อย่างเดิมไม่ได้ ต้องปลดล็อกเพื่อเพิ่มศักยภาพของตัวเอง เชื่อว่าคนไทยเก่ง และพร้อมที่จะปลอดปล่อย ถ้าได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งเห็นด้วยกับประโยคที่ปิดทองฯนำเสนอคือ คิดรู้ เรียนรู้ ทำรู้ โดยจะต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง”
ในงานเดียวกันนี้ ดร.วิรไท สันติประภพ กรรมการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และศ. ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ที่ปรึกษาสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกันพูดคุยในหัวข้อ “ใครจะอยู่รอดในสังคม และจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน”
โดยดร.วิรไทเกริ่นว่า คงไม่มีคำตอบที่ฟันธงได้ชัดเจนว่า ใครจะอยู่รอดในสังคม และจะอยู่รอดอย่างไรที่ยั่งยืน เพราะโลกมีความไม่แน่นอนสูง มีความผันผวนสูง แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้ไม่ใชวิกฤติครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของไทย เนื่องจากเคยเผชิญมาแล้วเมื่อปี 2540 เพียงแต่ครั้งนี้กระทบวิถีชีวิตของทุกคน โจทย์ที่ถามว่าใครจะอยู่รอด ใครจะยั่งยืน อยู่ที่ว่าใครจะสามารถปรับตัวให้รู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นได้ ซึ่งจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันในหลากหลายรูปแบบ
“หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่9 หลักสำคัญคือ พอประมาณ สมเหตุสมผล และสร้างภูมิคุ้มกัน จะเห็นได้ว่าวิกฤติรอบนี้ สิ่งที่จะต้องเน้นคือมิติที่3 การสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากโลกในวันข้างหน้าไม่แน่นอน และมีความผันผวนสูง จึงต้องสร้างภูมิคุ้มกัน พร้อมกับหลักคุณธรรม ทั้งอดทน วิริยะ ซื่อสัตย์และมีรอบรู้ และในโลกแห่งความเป็นจริง จะมีอาชีพเดียวไม่ได้ จะต้องกระจายความเสี่ยง และต้องปรับตัว”
ดร.วิรไทบอกด้วยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ฐานะทางการคลังของประเทศอ่อนแอลง ซึ่งภาครัฐเองยังต้องมีภาระหลายอย่าง ทั้งในการดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจใหญ่ก็จะให้ภาครัฐดูแล ดังนั้นจะทำอย่างไรให้คนไทยพึ่งพาตัวเองได้ และมีแต้มต่อที่จะสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้
นอกจากนี้ภาครัฐต้องกระจายอำนาจและให้น้ำหนักในการพัฒนาเชิงพื้นที่มากขึ้น เพราะแต่ละพื้นที่มีความหลากหลาย โดยทำให้เกิดแพลตฟอร์มที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและต่อยอดได้ เพื่อจะทำให้เกษตรกรในเมืองรองสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังควรสนับสนุนประชาชนในท้องถิ่นที่ต้องการการ reskill และ upskill เพื่ออำนวยให้ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
ด้านศ. ดร.ชาติชายมองว่า ประชาชนในพื้นที่มีความหลากหลายและมีความรู้ แต่คนในพื้นที่อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดที่จะพึ่งพาภาครัฐอย่างเดียว จะต้องทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเอง และให้ภาครัฐร่วมคิดร่วมสนับสนุนเท่านั้น ที่ผ่านมาองค์กรปกครองท้องถิ่นยังไม่ค่อยได้ช่วยดูแลชุมชนในเรื่องเศรษฐกิจมากนัก
ดังนั้นภาครัฐควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นเข้ามาดูแล โดยเฉพาะเรื่องอาชีพการทำมาหากิน“ ในหลวง รัชกาลที่9 พระราชทานแนวพระดำริไว้หลายอย่างทั้ง หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ฯลฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนเราจะพัฒนาตัวเองได้นั้น ต้องรู้จักทำชีวิตให้ประสบความสำเร็จ จะทำกิจการใดต้องมีความวิริยะ อุตสาหะ ไม่ย่อท้อ จะทำให้รอดตัวได้ตลอดเวลา ทั้งนี้จะต้องสำรวจตัวเองด้วยว่ามีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันด้านสุขภาพ ด้านการเงิน และด้านสังคม รวมถึงทุกเรื่องที่อยู่รอบๆตัว”
ทั้งหมดนี้คงทำให้ได้เห็นชัดเจนแล้วว่าแนวพระราชดำริในเรื่องต่างๆของในหลวง รัชกาลที่9 สามารถนำพาคนไทยฟันฝ่าบรรดาวิกฤติน้อยใหญ่ได้อย่างยั่งยืน