เปิดรายงานภาษีหุ้นกระทบรายได้ ‘โบรก-ตลท.-ก.ล.ต.’ วอลุ่มเทรดวูบ
เปิดรายงานผลศึกษาของวงการตลาดทุน หากรัฐบาลเดินหน้าจัดเก็บภาษีเทรดหุ้น 0.1% สภาพคล่องซื้อขายรายวันทั้งระบบวูบ กระทบชิ่งค่าคอมมิชชั่นเพิ่มแต่รายได้โบรกเกอร์ดิ่งสวนทาง เหตุสถาบันหนีลงทุนต่างประเทศ ด้าน “เฟทโก้” จับมือสมาคมฯ ตลาดทุน ส่งหนังสือขอพบ “อาคม” ชี้แจงเก็บภาษีหุ้น
จากกรณีที่ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศว่า กระทรวงการคลังจะเดินหน้าจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% ของธุรกรรมการการซื้อขายตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่กรมสรรพากรจะกำหนดแนวทางการจัดเก็บ ทั้งนี้ เพื่อสร้างความชอบธรรม และเป็นการขยายฐานภาษี หลังจากที่รัฐบาลได้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีซื้อขายหุ้นมาตั้งแต่ปี 2534 เพื่อส่งเสริมการลงทุนตลาดหุ้นที่อยู่ในช่วงของการพัฒนา
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นความร้อนแรงในแวดวงตลาดหุ้นและตลาดทุน ที่มีหลายฝ่ายออกมาคัดค้าน ทั้งโบรกเกอร์ สภาธุรกิจตลาดทุน รวมทั้งภาคการเมือง เช่น นางสาววทันยา วงษ์โอภาษี ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ และ กรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ที่ออกมาเรียกร้องให้ทบทวน เพราะเกรงว่าจะสร้างภาระให้นักลงทุนในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่ และจะเป็นผลักใสนักลงทุนหนีไปลงทุนต่างประเทศแทน
“เฟทโก้” ขอพบ รมว.คลัง
ขณะที่สมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นและตลาดทุนไทย เริ่มมีความเคลื่อนไหว ล่าสุดวานนี้ (13ม.ค.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เรียกประชุมสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีเป็นการด่วน
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการ FETCO วานนี้ ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่มีการหารือกัน คือ มาตรการการจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยผู้ประชุมที่เป็นตัวแทนของภาคตลาดทุนทั้งหมด เห็นตรงกันว่าจะยื่นหนังสือเพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อชี้แจงเหตุผลในการคัดค้านการเก็บภาษีหุ้น จากเดิมมีแผนทำหนังสือชี้แจงในนาม FETCO เท่านั้น เบื้องต้นสภาธุรกิจตลาดทุนได้ส่งหนังสือไปยังกระทรวงการคลังเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับสมาคมวิชาชีพตลาดทุนที่ร่วมประชุมวานนี้ ประกอบด้วย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน (AIMC) สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย (TIA) และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย (TLCA)
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การหารือร่วมกันวานนี้ FETCO ได้รวบรวมความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อย่างไรก็ดี ยังไม่มีประเด็นใหม่ที่ต้องพิจารณาเพิ่มเติม
แหล่งข่าวจากตลาดทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า ในวงการตลาดทุน ได้เปิดเผยถึงบทวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ในกรณีที่กรมสรรพากรจัดเก็บภาษีหุ้น ซึ่งผลกระทบคาดว่าจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ เพราะคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการซื้อขายในทุกผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่หุ้น อนุพันธ์ และการซื้อขายบนตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX) ซึ่งจะส่งผลให้สภาพคล่องการซื้อขายลดลงราว 50-70%
อีกหนึ่งผลกระทบสำคัญ คือ การซ้ำเติมการลงทุนของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน หรือกองทุนในประเทศ จากช่วงที่ผ่านมานักลงทุนกลุ่มนี้ลดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ลง ภายหลังถูกกระทบจากการยกเลิกการต่ออายุกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ส่งผลให้กองทุนรวมของสถาบันในประเทศส่วนใหญ่มีแนวโน้มออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น
ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่คาดว่าจะประสบในอุตสาหกรรม คือ ผลกระทบต่อนักลงทุน โดยเฉพาะแรงจูงใจในการลงทุน ภายหลังค่าธรรม เนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) จะต้องปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ (DR) ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) กองทุนรวมดัชนี (ETF) บล็อกเทรด และตราสารประเภทซับซ้อน (Structured Products) ฯลฯ
โบรกเกอร์-ตลท.-ก.ล.ต.รายได้วูบ
นอกจากนี้ คาดว่าหากจัดเก็บภาษีหุ้นจริงจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งจุดนี้เป็นจุดที่ผู้ร่วมตลาดมองว่าผลลัพธ์ของการจัดเก็บรายได้อาจไม่เป็นไปตามที่กรมสรรพากรคาดการณ์เอาไว้ เพราะคาดว่ารายได้ของผู้ร่วมอุตสาหกรรมจะลดลงจามสภาพคล่องในตลาดหุ้นที่หายไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงเม็ดเงินการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากบริษัทหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์และ ก.ล.ต.
ด้าน นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถตอบได้ว่าผลิตภัณฑ์ประเภท DR DW และ ETF จะถูกจัดเก็บภาษีขายหุ้นเหมือนหุ้นสามัญที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ เพราะต้องรอความชัดเจนของนโยบายการจัดเก็บภาษีจากกรมสรรพากรก่อน