สภาเกษตรจี้รัฐอัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำทำโซนนิ่งขึ้นทะเบียนbrokerหมู
สภาเกษตรฯจี้รัฐอัดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ จัก Zoning-Compartment พร้อมขึ้นทะเบียนbroker ทุกรายทุกขนาด ขณะประภัตร ยืนยันสุกร 19 ล้านตัว เพียงพอบริโภคทั้งปี จัดแผนฟื้นฟูรายย่อย
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า การแก้ไขปัญหาเรื่องสุกร ต้องดำเนินควบคู่กันระหว่างการฟื้นฟูการเลี้ยงให้เพียงพอกับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และปรับราคาให้อยู่ในระดับที่รับได้ทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภค
ในขณะที่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป กรมปศุสัตว์จะเร่งสั่งจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ ASF ให้แล้วเสร็จประมาณ 2.7 แสนตัว วงเงินตามกรอบที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา รวม 574 ล้านบาท
ทั้งนี้ในส่วนของการฟื้นฟู จะเริ่มที่รายย่อยก่อน เนื่องจากเป็นส่วนใหญ่ 90 % ที่ได้รับความเสียหาย โดยจากผู้เลี้ยงสุกรในประเทศ รวม1.9 แสนราย ในจำนวนนี้เป็นรายย่อย1.86 แสนราย ที่เหลือ 2,000เป็นรายใหญ่
การเลี้ยงหลังจากนี้ต้องเข้มงวดการจัดการฟาร์มให้มากขึ้น เฉพาะการป้องกันโรค การจำหน่ายหมูเพื่อเข้าโรงเชือด ต้องให้กรมปศุสัตว์ตรวจเลือดก่อนทุกตัว ซึ่งปัจจุบันก็ดำเนินการสำหรับฟาร์มที่ยังดำเนินการอยู่ สุกรที่ผลเป็นลบ เท่านั้นที่จะเข้าโรงเชือดและเคลื่อนย้ายได้
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปศุสัตว์อำเภอมีเพียง 1 คน ทำให้การดำเนินอาจล่าช้า ดัง นั้น จึงสั่งการให้อาสาสมัครเข้าไปช่วยด้วย โดยเริ่มตั้งแต่ปัจจุบันเป็นต้นไป วิธีการดังกล่าวมั่นใจว่าจะส่งผลให้มีเนื้อสุกรเข้าสู่ตลาดเร็วขึ้น ซึ่งจากการสำรวจปริมาณสุกร ผ่านระบบเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Movement) พบว่า ยังมีสุกรในประเทศกว่า 19 ล้านตัว ในจำนวนนี้ใช้บริโภคภายในประเทศ 18 ล้านตัว ที่เหลือ 1 ล้านตัวเป็นการส่งออก
ดังนั้นยังถือว่าอยู่ในภาวะสมดุล แต่กรณีที่เนื้อสุกรในช่วงเดือน พ.ย.2564- ปัจจุบันราคาขยับขึ้น นั้นน่าจะมีปัจจัยอื่นมาสนับสนุนเรื่องการระบาดของASF ประกอบกับในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาไทยส่งออกเนื้อสุกรในตลาดเพื่อนบ้านมาก ถึง 3 ล้านตัว ทำให้ประชากรสุกรขาดช่วง ทั้งนี้การแก้ปัญหาเนื้อสุกรขาดตลาดนี้ กระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการพิจารณาการนำเข้า ซึ่งเป็นการแก่ปัญหาในระยะสั้นไปก่อน
“จากข้อมูลสุกรรายสัปดาห์ พบว่า ในปี 2564 มีลูกสุกรเข้าคอกเลี้ยงเฉลี่ยราว 3.5 แสนตัวใกล้เคียงกันกับก่อนการเกิดโรค
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์ ยังได้เตรียมมาตรการที่จะเพิ่มแม่สุกรให้กับหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ตลอดจนฟาร์มเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดีของกรมปศุสัตว์ รวมทั้งในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสัตวบาล เพื่อผลิตลูกสุกรเข้าสู่ระบบคู่ขนานกันไปด้วย
จึงเชื่อมั่นว่าจากมาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการทั้งมาตรการเร่งด่วน มาตรการระยะสั้น และระยะยาวนั้น จะสามารถเพิ่มการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการในการบริโภคได้แน่นอน “
อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่ทราบว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องการกลับมาเลี้ยงสุกรรอบใหม่ ซึ่งกรมปศุสัตว์จะต้องมีการสแกนพื้นที่เพื่อตรวจสอบเบื้องต้นว่ามีความปลอดภัยหรือมีความเสี่ยงต่อพี่น้องเกษตรกรอยู่หรือไม่
จากนั้นจะมีการคัดกรองตัวเกษตรกร พร้อมกับตรวจสอบสภาพความพร้อมและความเหมาะสมของฟาร์มในการยกระดับมาตรฐานฟาร์มให้มีความปลอดภัย ด้านการควบคุมโรคที่สูงขึ้น เช่น GFM หรือ GAP กรมปศุสัตว์จึงจะสามารถอนุญาตให้เกษตรกรกลับเข้าสู่อาชีพในครั้งต่อไปได้
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มาตรการการดำเนินการควบคุมโรค ASF กรณีพบสุกรป่วยตายและมีผลการยืนยันทางห้องปฏิบัติการหรือพบในสถานประกอบการอื่นๆ เช่น โรงฆ่าสุกร เป็นต้น
ว่าพบสารพันธุกรรมของเชื้อ ASF จากห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์ สัตวแพทย์พื้นที่จะประกาศเป็นเขตโรคระบาดชั่วคราวในรัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรค และมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมีดังกล่าวอย่างเข้มงวด ร่วมกับการเฝ้าระวังทั้งเชิงรุกและเชิงรับในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมทั้งมีการพ่นยาฆ่าเชื้อทำลายเชื้อโรคในฟาร์มหรือสถานประกอบการที่พบโรค
สำหรับฟาร์มสุกรที่จากการสอบสวนทางระบาดวิทยาแล้วพบว่ามีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับฟาร์มหรือสถานประกอบการที่เป็นโรคเจ้าหน้าที่สัตวแพทย์จะเข้าไปสอบสวนโรค ประเมินความเสี่ยงฟาร์มและเก็บตัวอย่างเพื่อตรวจสอบสภาวะโรคในฟาร์ม ทั้งนี้หากฟาร์มใดที่ประเมินความเสี่ยงแล้วมีความเสี่ยงสูงมาก เจ้าหน้าที่จะเจรจากับเกษตรกรเพื่อขอทำลายสุกรและจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย
6 มาตรการเร่งด่วนในการฟื้นฟูและเพิ่มปริมาณการผลิตสุกร ประกอบด้วย
1.การสำรวจและขึ้นทะเบียนเกษตรกร กำหนดแล้วเสร็จภายใน 15 ม.ค. 65 จำนวน 189,152 ราย (รายย่อย 172,528 ราย, รายเล็ก 12,477 ราย, รายกลาง 3,856 ราย, รายใหญ่ 291 ราย)
2.การฟื้นฟูการผลิตรายย่อย/เล็ก/กลาง ภายใต้มาตรการประเมินความเสี่ยงที่รัดกุมก่อนการเลี้ยงใหม่พร้อมยกระดับมาตรฐานฟาร์มเข้าสู่ GFM/GAP/อื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
3.การเพิ่มจำนวนสุกรเข้าสู่ระบบ โดยเพิ่มกำลังการผลิตลูกสุกรในหน่วยงานของกรมปศุสัตว์และเครือข่ายสัตว์พันธุ์ดี ทั้งแม่สุกรพันธุ์แท้เพื่อให้เกิดความมั่นคงของแหล่งพันธุกรรมและลูกสุกรขุน พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับวิทยาลัยเกษตร/สถาบัน
การศึกษาในการเพิ่มปริมาณการผลิตสุกร
4.ประสานความร่วมมือผู้เลี้ยงรายกลาง/รายใหญ่ ในการจัดสรรและกระจายลูกสุกรในการดำเนินงานตามมาตรการที่ 2
5.การสนับสนุนแหล่งทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร( ธ.ก.ส.) กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร และกองทุน FTA เพื่อช่วยเหลือเกษตรกร
6.การสนับสนุนอาสาปศุสัตว์ในการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน
นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า สภาเกษตรกรแห่งชาติได้ร่วมกับคณะทำงานแก้ไขปัญหาโรคระบาดในสุกร พร้อมและยินดีสนับสนุนให้ความร่วมมือและให้กำลังใจกับส่วนราชการและภาคีเครือข่าย โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนเพื่อช่วยแก้ปัญหาโรคระบาดในสุกร
ซึ่งสภาเกษตรกรแห่งชาติได้จัดทำหนังสือข้อเสนอเชิงนโยบายโครงการฟื้นฟูเยียวยาและปรับโครงสร้าง การเลี้ยงสุกรของเกษตรกรรายกลางถึงรายย่อยทั้งประเทศเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันแบบยั่งยืน โดยเสนอให้แก่รัฐบาลเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2564 ด้วย
มาตรการเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการทันที ได้แก่
1.เร่งจ่ายเงินเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายจากโรคระบาดกับเกษตรกรรายกลาง รายเล็ก รายย่อย ที่ทำลายซากสุกรไปแล้ว โดยขอให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรที่ได้ทำลายซากไปแล้ว
ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังมีเกษตรกรส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชยทั้งที่เวลาได้ล่วงเลยมานานพอสมควรแล้ว กับขอสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในการชดใช้ราคาสุกรเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร(ASF) เพื่อรอการดำเนินการตามแผนลดความเสี่ยงต่อโรคระบาดสำคัญในสุกร
2.รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือปลอดดอกเบี้ย โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยและรายกลาง ดำเนินการปรับปรุงโรงเรือน สถานที่ และระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อเป็นระบบ GFM ของกรมปศุสัตว์ ด้านผู้ประกอบการโรงฆ่าสุกร โรงงานแปรรูป เพื่อดำเนินการปรับปรุงโรงเรือนและกระบวนการผลิต เข้าสู่ระบบมาตรฐาน GMP , HACCP หรือระบบของกรมปศุสัตว์
3.ให้นำระบบ Zoning และ Compartment มาใช้ในการควบคุมและป้องกันโรคระบาดสัตว์
4.ขึ้นทะเบียนคนกลางรับซื้อสุกร (broker) ทุกรายทุกขนาด และออกระเบียบให้มีบทบาทและมีความรับผิดชอบต่อห่วงโซ่การผลิตสุกร ในฐานะเครือข่ายหนึ่งในการป้องกันโรคระบาดและการสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่การผลิต
5.เร่งทำงานวิจัยเรื่องผลกระทบของกฎหมาย ประกาศกระทรวงต่างๆ และระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อพัฒนาวงการสุกร โดยเฉพาะรายกลาง - รายย่อย เพื่อแก้ไขและปรับปรุงโดยด่วน
6.สนับสนุนให้จัดตั้งกองทุนสุกร ให้เป็นรูปธรรม ด้วยความร่วมมือสนับสนุนงบประมาณ จากกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำหรับผู้เลี้ยงสุกร และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง
7.นำระบบเศรษฐกิจใหม่ BCG Model มาใช้ในวงการปศุสัตว์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ให้เร่งจัดทำแผนโดยละเอียดเพื่อเร่งดำเนินการต่อไป
ขณะที่ มาตรการระยะปานกลาง ภายใน 3 ปี ได้แก่
1.เร่งรัดให้กรมปศุสัตว์ เพิ่มศักยภาพในการตรวจวินิจฉัย ชันสูตรโรค ที่ได้มาตรฐาน ทั้งกำลังคนและเครื่องมือ หรือสร้างเครือข่ายการชันสูตรโรคกับมหาวิทยาลัยต่างๆในภูมิภาค เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายและควบคุมโรค
2.สนับสนุนให้มีการวิจัย และพัฒนาการเลี้ยงสุกรเข้าสู่ ระบบ Precision agriculture ที่เหมาะสมกับเกษตรกรแต่ละระดับรวมถึงการวิจัยวัคซีน และชีวภัณฑ์ต่างๆเพื่อลดการใช้ยาปฏิชีวนะ
โดยสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์ และปิดท้ายกับ มาตรการระยะยาว ภายใน 5 ปี ได้แก่
1.กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ให้ประเทศไทยปลอดจากโรคปากและเท้าเปื่อย หรือควบคุมโรคได้ด้วยวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ
2.สนับสนุนให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มเกษตรกร ตั้งโรงงานผลิตวัคซีนสำหรับสัตว์ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้ในประเทศและจำหน่ายในกลุ่มอาเซียน โดยอาจอยู่ในรูปแบบของ 4 P คือ Public , Private , Professional , People Partnership เป็นต้น
“ เพื่อให้ทุกๆปัญหาในภาคเกษตรกรรมผ่านพ้น สภาเกษตรกรแห่งชาติยินดีสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ประเทศไทย คนไทยบอบช้ำมามากแล้ว ขอให้ร่วมแรงรวมใจฮึดสู้กันอีกสักครั้งหนึ่ง ด้วยความหวัง ห่วงใยและขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ”