เฉลิมชัย ปัดปกปิด ASF ระบาด ถกทุกภาคีหวังคืนสภาพปลอดโรค

เฉลิมชัย ปัดปกปิด ASF ระบาด ถกทุกภาคีหวังคืนสภาพปลอดโรค

เฉลิมชัย เร่งหารือทุกภาคีเครือข่าย คุมโรค ASF หวังขอคืนสภาพปลอดโรคโดยเร็ว พร้อมเร่งช่วยเกษตรกร แจงไม่คิดปกปิด ด้านปศุสัตว์ย้ำไม่แพร่สู่คน และสัตว์อื่นวอนผู้เลี้ยงสงสัยให้รีบแจ้ง

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีการตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ตรวจโดยห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์เพื่อยืนยันผล

ตนเองได้มีความห่วงใยต่อเรื่องนี้มาโดยตลอดตั้งแต่ต้น และสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที เร่งดำเนินการเพื่อหารือ และทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว

เฉลิมชัย ปัดปกปิด ASF ระบาด ถกทุกภาคีหวังคืนสภาพปลอดโรค

ได้ประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรและแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป

โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน

กรมปศุสัตว์ย้ำไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกรได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด

โดยสั่งการในปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร (contingency plan) และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร (Clinical Practice Guideline)

และได้เผยแพร่ในเวบไซต์ของกรมปศุสัตว์ การบูรณาการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจาการส่งออกสุกร

โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)

ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา  เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์

โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น

สำหรับประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือ การลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค

อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป

 

กรณีปัญหาราคาเนื้อสุกรแพงนั้น มาจากหลายปัจจัย สาเหตุสำคัญที่ทำให้ราคาเนื้อสุกรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เนื่องจากปริมาณสุกรมีชีวิตที่ถูกแปรสภาพเป็นเนื้อสุกรลดลง ประกอบกับภาวะต้นทุนการผลิตสุกรขุนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น และค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบป้องกันภัยทางชีวภาพของฟาร์มสุกร และต้นทุนด้านการขนส่งที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตสุกรลดลงเนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพในฟาร์มสุกรของไทยเพิ่มขึ้น ในรอบปี 2564 พบการระบาดของโรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์ และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) เกษตรกรต้องลดความหนาแน่นของสุกรในฟาร์ม และเลิกเลี้ยงสุกรในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูงด้านสุขภาพ

โดยได้มีมาตรการให้การแก้ปัญหาระยะเร่งด่วน ระยะสั้น และระยะยาวดยมาตรการระยะเร่งด่วนกระทรวงพาณิชย์ โดยคณะกรรมการกลางว่า ด้วยราคาสินค้าและบริการได้ประกาศห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตไปนอกราชอาณาจักรเป็นเวลา 3 เดือน (6 มกราคม – 5 เมษายน 2565) ช่วยเหลือราคาอาหารสัตว์ จัดสินเชื่อพิเศษ เพื่อให้เกษตรกรได้กลับมาเลี้ยงใหม่ ตรึงราคาจำหน่ายที่เหมาะสมสอดคล้องต้นทุนที่เกิดขึ้น และเร่งสำรวจภาพรวมการผลิตสุกรเพื่อกำหนดพื้นที่เป้าหมายและมาตรการ

พร้อมเพิ่มกำลังการผลิตแม่สุกรทดแทน มาตรการระยะสั้น มีการส่งเสริมการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ ขยายกำลังการผลิตแม่สุกร เร่งศึกษาวิจัยยา และสารกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพื่อลดความสูญเสียจากโรคระบาด

สำหรับมาตรการระยะยาวคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรเพื่อป้องกันโรคระบาด (Good Farming Management: GFM) ส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่ามาตรฐานฟาร์ม GAP เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตหมูให้เพียงพอต่อความต้องการบริโภค และจัดสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กู้ยืมจาก ธ.ก.ส. โครงการสานฝันสร้างอาชีพ โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาสุกรจะเข้าสู่ภาวะปกติแบบค่อยเป็นค่อยเป็น

 

​นอกจากนี้ เพื่อเป็นการทำงานเชิงรุกป้องกันโรคในระยะยาว กรมปศุสัตว์ได้มีคำสั่งกรมปศุสัตว์แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรค ASF ในสุกร ประกอบด้วย หน่วยงานจากภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และอาจารย์จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิจัยการป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกรในอนาคต ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

การศึกษาและพัฒนาวัคซีนโรค ASF ในสุกรโดยเร็วและมีประสิทธิภาพให้มากที่สุด และพิจารณาเรื่องการศึกษาและวิจัยโรค ASF ในสุกรอีกด้วย ซึ่งวัคซีนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ในการควบคุมโรคเท่านั้น แต่ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรค การป้องกันโรคโดยการเพิ่มความเข้มงวดในเรื่องระบบความปลอดภัยทางชีวภาพของฟาร์มเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคขึ้นภายในฟาร์มเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

​สำหรับกรณีการขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในสุกรตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้กำหนดใน Terrestrial Animal Health Code (CHAPTER 15.1. INFECTION WITH AFRICAN SWINE FEVER VIRUS) สามารถขอคืนได้ในรูปแบบ country free, zone free หรือ compartment free

โดยต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE โดยต้องมีการเฝ้าระวังโรคเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสุกรป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในสุกรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าสุกรที่ถูกนำเข้ามาเป็นไปตามข้อกำหนดของ OIE ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks) เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ มีหลักฐานการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้ายและร่วมกับมีการการทำลายสุกร และใช้สุกรสำหรับการเฝ้าระวังโรค (sentinel pigs) ในโรงเรือน โดยผลที่ได้ต้องเป็นลบต่อเชื้อ ASF ในสุกร

 

นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน เนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ ขอให้มั่นใจได้เพราะมีการเข้มงวดคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF เข้าผลิตให้แก่ผู้บริโภค

โรค ASF เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งก่อโรคเฉพาะในสัตว์สกุลสุกรคือ สุกรและสุกรป่า ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ตัวโรคก่อความรุนแรงมากในสุกรสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีอัตราป่วยในสุกร 100% อัตราตาย 30-100% ในลูกสุกรอัตราตายสูง 80-100% ภายใน 14 วัน

ตัวเชื้อไวรัสมีความทนทานในสภาพแวดล้อมสูง ต้องใช้ระยะเวลาถึง 30 นาทีในการทำลายด้วยยาฆ่าเชื้อ สุกรสามารถติดเชื้อได้จากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสุกรป่วยหรือสิ่งปนเปื้อน การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และการโดนเห็บที่มีเชื้อกัด อาการของโรคสามารถพบได้ทุกกลุ่มทุกช่วงอายุสุกร มีการตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง

จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคและยารักษาที่จำเพาะได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการควบคุมการโรคให้สงบได้โดยเร็วต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 อย่างเคร่งครัดในการรายงานกรมปศุสัตว์โดยเร็วกรณีสงสัยโรค ASF เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงทีและควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเพื่อหยุดการระบาด

รวมทั้งเกษตรกรต้องยกระดับมาตรการป้องกันโรคในฟาร์มขั้นสูงสุด โดยปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตามแนวทางมาตรฐานฟาร์ม GAP หรือ GFM ประกอบด้วย การพักตัวและอาบน้ำฆ่าเชื้อคนที่เข้าฟาร์มทุกคน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งและอุปกรณ์ทุกครั้งที่เข้า-ออกฟาร์ม การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือน

โดยมีรายงานยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น​ Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine​ เป็นต้น ​การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ การไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การเลี่ยงนำเนื้อสุกรเข้าฟาร์ม

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์