"ยื่นภาษี 2564" สรุป "ลดหย่อนภาษี" ด้วยอะไรได้บ้าง ?
"ยื่นภาษี 2564" ไม่มีพลาด รวมครบทุกรายการ "ลดหย่อนภาษี" สำหรับผู้มีเงินได้ที่ต้องยื่น ช่วง 1 ม.ค. - 8 เม.ย. 65 ผ่านเวบไซต์ "กรมสรรพากร"
เทศกาล "ยื่นภาษี" กลับมาแล้ว สำหรับผู้เงินได้ต่อปี 120,000 บาท หรือเฉลี่ยมากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน อย่าลืม "ยื่นภาษี 2564" ที่เปิดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านช่องทางออนไลน์ ระบบ E-Filing กรมสรรพากร ได้ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 8 เม.ย.65
สำหรับปีภาษี 2564 นี้ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมรายการ "ลดหย่อนภาษี" ที่ช่วยให้ประหยัดภาษีได้ในปี 2564 ไว้ โดยแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ดังนี้
- กลุ่มที่ 1 ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
- ลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- คู่สมรส 60,000 บาท
- บุตรทุกคนสามารถลดหย่อนได้ 30,000 บาท/คน อายุไม่เกิน 20 ปี (บุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป 30,000 บาท)
- ค่าคลอดบุตร 60,000 บาท (ต่อครรภ์)
- พ่อแม่ 30,000 บาท (ต่อคน)
- ดูแลผู้พิการหรือทุพพลภาพ 60,000 บาท
- กลุ่มที่ 2 ค่าลดหย่อน ประกัน เงินออม และการลงทุนต่างๆ
- ประกันชีวิต/เงินฝากที่มีประกันชีวิต(ประกันสะสมทรัพย์) 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพตัวเอง 25,000 บาท
โดยประกันชีวิตและประกันสุขภาพตัวเองรวมกันแล้ว ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
- ประกันสุขภาพพ่อแม่ 15,000 บาท
- ประกันสังคม ตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 5,100 บาท เนื่องจากในปี 2564 ประกันสังคมมีนโยบายเรียกเก็บเงินสมทบลดลงในช่วงโควิด-19 ระบาด ดังนี้
- เดือนมกราคม หัก 3% สูงสุด 450 บาท
- เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หัก 0.5% สูงสุด 75 บาท
- เดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน หัก 2.5% สูงสุด 375 บาท
- เดือนธันวาคม คิดที่เต็มจำนวนสูงสุด 750 บาท
- เบี้ยประกันชีวิตบำนาญ 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ/ กบข./ สงเคราะห์ครู 15% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 500,000 บาท
- กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF 30% ของเงินได้ ไม่เกิน 200,000 บาท
- กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. 13,200 บาท
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนกลุ่มเบี้ยประกันบำนาญ กองทุนต่างๆ รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
- กลุ่มที่ 3 ค่าลดหย่อนจากมาตรการต่างๆ
- ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนสูงสุด 100,000 บาท
- ค่าธรรมเนียมบัตรเดบิต (ธุรกิจที่มีเครื่อง EDC) = เพิ่ม 1 เท่าตามที่จ่ายจริง
- กลุ่มที่ 4 ค่าลดหย่อนจากการบริจาค
- บริจาคพรรคการเมือง 10,000 บาท
- การศึกษา กีฬา สังคม และ รพ.รัฐ ลดหย่อน 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
- บริจาคให้มูลนิธิ องค์กรสาธารณกุศล และบริจาคอื่นๆ สามารถนำมาลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนแล้ว
--------------------------------------------------------
อ้างอิง: กรมสรรพากร, TaxBugnoms
พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์ ศิลาวงษ์