ส่องเทรนด์อนาคตภาษี | ธราธร รัตนนฤมิตศร

ส่องเทรนด์อนาคตภาษี | ธราธร รัตนนฤมิตศร

เมื่อเร็วๆ นี้ได้เกิดประเด็นด้านภาษีที่น่าสนใจหลากหลายประเด็น ล่าสุดคือกรมสรรพากรประกาศให้บุคคลที่มีเงินได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี่ ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

แนวทางขั้นตอนการเก็บภาษีจากกำไรการเทรดรายธุรกรรมก็ทำให้เกิดจากถกเถียงกันอย่างกว้างขวางว่าเหมาะสมหรือไม่ เนื่องจากมีผลกระทบโดยเฉพาะกับผู้ที่เทรดแล้วเกิดผลขาดทุนสุทธิในรอบปี แต่ยังต้องเสียภาษีเงินได้จากรายธุรกรรมที่เกิดกำไร 
    ทั้งนี้ นอกเหนือจากเรื่องการเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นกระแสร้อนแรงดังกล่าวแล้ว บทความในวันนี้จะชวนกันกลับไปทบทวนความเคลื่อนไหวด้านภาษีที่น่าสนใจและน่าจับตามองที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมารวมถึงแนวโน้มในอนาคตใน 4 ประเด็นสำคัญ

ประเด็นแรก เมื่อปีที่แล้วได้เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างหลายประเทศเพื่อกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax หรือ GMT) วัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ปัญหาบริษัทข้ามชาติหลบเลี่ยงภาษีและโยกย้ายกำไร 
    โดยตกลงกันกำหนดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำให้เป็นอัตราเดียวกันทั่วโลก ทำให้การตั้งบริษัทลูกในประเทศที่ภาษีต่ำกว่าทำได้ยากขึ้น 
    อีกทั้งจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแข่งขันในการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ประเทศต่างๆ คงต้องเลิกใช้เครื่องมือทางภาษี (tax incentive) เพื่อดึงดูดการลงทุนไปสู่การพัฒนาปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆ เป็นปัจจัยแข่งขันแทน 
    ล่าสุด OECD ได้ประกาศว่า 136 ประเทศได้ร่วมกันกำหนดอัตรา GMT ไว้ที่ 15% กำหนดเวลาปรับใช้ในปี 2566 และอาจเริ่มจัดเก็บจริงในปี 2567 ประเด็นนี้น่าจะกระทบกับนโยบายและเครื่องมือการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศของประเทศไทยที่ต้องกลับมาทบทวนกันใหม่
    ประเด็นที่สอง การเปิดเผยเอกสารแพนดอร่าเปเปอร์ (Pandora Papers) ซึ่งเป็นชุดเอกสารเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินลับจำนวน 11.9 ล้านฉบับ ที่เปิดเผยโดยเครือข่ายความร่วมมือสื่อ ICIJ โดยนักข่าวกว่า 600 คนจาก 117 ประเทศในปีที่แล้ว

ซึ่งเป็นการเปิดเผยธุรกรรมลับของผู้ทรงอิทธิพล มหาเศรษฐี ผู้นำการเมือง ข้าราชการมากกว่า 400 คน ไปยัง Tax Haven 

นับเป็นการเปิดเผยเอกสารลับที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปานามาเปเปอร์ที่เปิดเผยในปี 2559 เอกสารลับดังกล่าวทำให้เห็นเจ้าของที่แท้จริงของธุรกรรมการเงินหรือการถือครองสินทรัพย์โดยบริษัทตัวแทนในประเทศที่เป็น Tax Haven เช่น ปานามา ดูไบ สวิตเซอร์แลนด์ หมู่เกาะเคย์แมน 
    แม้ว่าบางธุรกิจจะไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็อาจเข้าข่ายการหลบเลี่ยงภาษี การเปิดเผยเอกสารนี้น่าจะกดดันให้ประเทศต่างๆ ต้องออกมาตรการเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีให้ดีขึ้น
    ประเด็นที่สาม ภาษีความมั่งคั่ง ประเด็นข้อถกเถียงเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจมีมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะระหว่างกลุ่มมหาเศรษฐี 1% กับคนทั่วไป 99% ที่แตกต่างเหลื่อมล้ำกันสูงมาก 
    จึงเกิดแนวคิดการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งของมหาเศรษฐี เมื่อปีที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไบเดน ของสหรัฐอเมริกาได้วางนโยบายที่จะทำให้เศรษฐกิจเป็นธรรมมากขึ้นผ่านภาษีความมั่งคั่ง 
    รัฐบาลสหรัฐจะขึ้นภาษี 2% กับเศรษฐีที่มีความมั่งคั่งสุทธิสูงกว่า 50 ล้านดอลลาร์ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ และขึ้นภาษี 3% สำหรับกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสุทธิมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ 
    รวมถึงการจัดเก็บภาษีกำไรจากการลงทุนสำหรับผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 1 ล้านดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป รวมถึงยุติการยกเว้นภาษีกำไรจากการรับมรดก
    ประเด็นที่สี่ ภาษีใหม่ในอนาคต นอกจากภาษีเพื่อสุขภาพเช่น ภาษีความหวาน ภาษีความเค็มที่น่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้า ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) นับเป็นหนึ่งในแนวโน้มของภาษีที่สำคัญที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน 
    ภาษีคาร์บอนจะเป็นเครื่องมือที่สร้างแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนต่างๆ ลง โดยภาษีคาร์บอนได้ถูกเก็บแล้วในหลายประเทศทั่วโลก 
ถึงแม้ว่าบางประเทศจะไม่เก็บภาษีคาร์บอน แต่เมื่อส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องโลกร้อน ก็มีแนวโน้มจะถูกเก็บภาษีคาร์บอนจากสินค้านำเข้าได้ ดังเช่นมาตรการ Cross Border Adjustment Mechanism ของสหภาพยุโรป
    ภาษีใหม่ในโลกอนาคต น่าจะรวมถึงการเก็บภาษีในระบบเศรษฐกิจในเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่คาดว่าจะสำเร็จอย่างเต็มรูปแบบในทศวรรษหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจเสมือนขนาดใหญ่แบบไร้ประเทศ ไร้พรมแดนบนหลายแพลตฟอร์ม ที่อาจเรียกว่าพหุเมตาเวิร์ส (Multi-Metaverse) ทำให้มีการติดต่อซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ทั้งสกุลเงินคริปโต NFT เกม ที่ดินดิจิทัล ฯลฯ ที่เชื่อมโยงหรืออาจไม่เชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจจริงที่หลากหลายรูปแบบเกิดขึ้น 
    นอกจากนี้ เมื่อมองไปในอนาคตที่ไกลขึ้น ภาษีหุ่นยนต์ (Robot Tax) ก็เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่มีการพูดถึงกันมากจากบทบาทของหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่นำมาใช้ทดแทนมนุษย์จนอาจทำให้เกิดชนชั้นไร้ประโยชน์ (useless class) 
    ดังที่ยูวาล โนอา ฮารารี่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ Homo Deus ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาสังคมขนานใหญ่ ดังนั้น จึงมีการเสนอแนวคิดการเก็บภาษีหุ่นยนต์เพื่อนำรายได้ไปชดเชยให้มนุษย์หรือมอบเป็นรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) 
    ประเด็นต่างๆ ข้างต้นทำให้ภาครัฐคงต้องคิดเชิงรุกล่วงหน้าถึงการออกแบบระบบภาษีใหม่ๆ ที่ดี มีมาตรฐานระดับสากล มีระยะเวลาเปลี่ยนผ่านและมาตรการช่วยเหลือการปรับตัวที่เหมาะสม เพื่อให้เท่าทันกับบริบทใหม่ของโลกอนาคต.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ธราธร รัตนนฤมิตศร
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation)
https://www.facebook.com/thailandfuturefoundation/