ผลสำรวจ 150 ซีอีโอ เสียงแตกเก็บภาษี ‘คริปโทฯ-หุ้น’
ผลสำรวจ ‘150 ซีอีโอ’ 57.8% ค้านจัดเก็บ “ภาษีซื้อขายหุ้น” ระบุกระทบการระดมทุน แนะรัฐศึกษารายละเอียดรอบคอบ หวั่นตลาดหุ้นไทยน่าสนใจลดลงเผย 52.7% หนุนเก็บภาษีคริปโทฯ หวังสร้างมาตรการทางการเงินโลกใหม่ ขณะที่ 48% ไม่เห็นด้วย ชี้เป็นการขวางนวัตกรรมโลกการเงินยุคใหม่
การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) ในอัตรา 0.1% (ภาษีหุ้น) ที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยนายอาคม เติมพิยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันก่อนหน้านี้ว่ามีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะมีการเก็บอยู่แล้วเพียงแต่ที่ผ่านมามีการยกเว้นการจัดเก็บ
ปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษี ซึ่งในต่างประเทศมีการจัดเก็บทั้งในรูปแบบ Capital gain และภาษีธุรกิจเฉพาะ
ขณะที่การจัดเก็บภาษีกำไร (Capital Gain Tax) จากการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี่) อยู่ในขั้นตอนที่กระทรวงการคลังรับฟังความเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังยืนว่าควรมีการเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบภาษี
“กรุงเทพธุรกิจ” สำรวจความคิดเห็น 150 ซีอีโอ องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่หลากหลายกลุ่ม เช่น ภาคการผลิต เกษตร พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ส่งออก การเงิน ค้าปลีก บริการ ท่องเที่ยว รถยนต์ อุปโภคบริโภค สุขภาพและไอทีดิจิทัล ถึงความเห็น และข้อเสนอแนะ ประเด็นการเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นที่ยังเป็นประเด็นร้อนแรงในแวดวงตลาดทุน เพื่อให้รับทราบข้อคิดเห็นเกี่ยวกับผลดีและผลเสียของการจัดเก็บหรือไม่จัดเก็บ
การสำรวจความเห็นครั้งนี้ใช้เวลาการสำรวจทั้งหมด 3 วันตั้งแต่วันที่ 12-14 ม.ค.2565 ผ่านแบบสำรวจออนไลน์ กำหนดกลุ่มเป้าหมายเป็นซีอีโอองค์กรธุรกิจ
ซีอีโอ57.8%ค้านเก็บภาษีหุ้น
การสำรวจครั้งนี้ “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นของซีอีโอในประเด็นที่รัฐบาลจะเก็บภาษีซื้อขายหุ้น (Financial Transaction Tax) ด้วย ซีอีโอเกือบ 60% (57.8%) ไม่เห็นด้วย ที่จะเก็บภาษีซื้อขายหุ้น ขณะที่ ซีอีโอ 42.9% ระบุ เห็นด้วย
เหตุผลที่ซีอีโอเห็นด้วยว่า ควรเก็บภาษีซื้อขายหุ้นนั้น 47.7% มองว่า เป็นการสร้างความเป็นธรรมให้ผู้เสียภาษี 46.2% เป็นการเพิ่มรายได้รัฐ ในขณะที่ 44.6% เห็นว่า เป็นการขยายฐานภาษีและนำรายได้ไปพัฒนาประเทศ
ส่วนซีอีโอ 32.3% มองว่า ควรที่จะเก็บเพราะนักลงทุนตลาดหุ้นเป็นกลุ่มบุคคลที่มีฐานะ ขณะที่ 29.2% ระบุว่า การเก็บภาษี เป็นการลดการเก็งกำไรในตลาดหลักทรัพย์
นอกจากนี้ ซีอีโอบางส่วน ยังมองด้วยว่า การจัดเก็บภาษียังเป็นการป้องกันเงินฝากของประเทศไม่ให้ไหล ความเสียหายของเงินฝากจะกระทบสภาพคล่องทางการเงินของระบบ และเป็นภัยต่อเศรษฐกิจของชาติที่คาดไม่ถึง
ขณะที่บางความเห็นมองว่าการเก็บภาษีก็เพื่อให้เป็นความชัดเจนดังเช่นธุรกิจการซื้อขายทั่วไป แต่สามารถเริ่มได้จากอัตราศูนย์ขึ้นไป เพื่อรักษาการเติบโตและสร้างความมั่นใจในแนวทางที่ชัดเจนแก่ทุกฝ่าย
กระทบระดมทุน-สภาพคล่องลด
อย่างไรก็ตาม เหตุผลของซีอีโอที่ “ไม่เห็นด้วย” กว่า 56% มองว่า การเก็บภาษีจะกระทบการระดมทุนผ่านตลาดหุ้น และรูปแบบอื่นที่เกี่ยวข้อง ขณะที่ 51% มองว่าจะทำให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นลดลง เพราะนักลงทุนไม่เทรดหุ้น รวมทั้งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ ย้ายฐานการลงทุน
48.9% เห็นว่า อยากให้ศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนจัดก็บ และ 27.7% ระบุว่า การเก็บภาษีซื้อขายหุ้นเป็นการเพิ่มภาระนักลงทุน
รวมทั้งยังมีความเห็นบางส่วนของซีอีโอ ระบุว่า การเก็บภาษีซื้อขายหุ้น เป็นการปิดโอกาสการเติบโตของกิจการขนาดเล็ก และนวัตกรรมใหม่ๆ บางส่วนมองว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สิทธิพิเศษ เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนของภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ตลาด Exchange อื่นหรือไม่ได้รับสิทธิพิเศษดังกล่าว ตามหลักถ้านำหุ้นสามัญไป Trade ที่ Exchange อื่นในประเทศ (ถ้ามี) ก็ต้องเสียภาษี ดังนั้น ประเด็นหลัก คือ ความพิเศษเพื่อช่วยขับเคลื่อนประเทศ และเป็น Exchange ที่ตั้งตาม พ.ร.บ.ไม่ใช่ของเอกชน
ทั้งควรให้ศึกษาผลกระทบถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจมหภาคทั้งหมด ที่จะส่งผลกระทบต่อจีดีพีประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุน และการจ้างงาน ที่สำคัญควรเป็นช่องทางการลงทุนที่ส่งเสริมรายได้แก่นักลงทุน
เสนอเก็บเพียง 0.05%
นอกจากนี้ ซีอีโอยังได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีหุ้นที่หลากหลาย โดยเห็นว่าภาครัฐควรศึกษาให้ดีก่อนประกาศใช้เพื่อไม่ให้กระทบความเชื่อมั่นในสายตานักลงทุน รวมทั้งภาครัฐบาลไม่ควรฟังคำคัดค้านของผู้มีส่วนได้เสียมากนักเพราะต้องค้านอยู่แล้ว แต่ควรคำนึงถึงความเป็นธรรมทางด้านภาษีเป็นหลัก
ในขณะรายละเอียดของการจัดเก็บเห็นว่าไม่ควรใช้รูปแบบ Capital gain ทั้งการเก็บภาษีหุ้นและภาษีคริปโทฯ ที่รัฐกำลังดำเนินการ รวมทั้งอัตราการจัดเก็บภาษีหุ้นที่ตั้งไว้ 0.1% เป็นอัตราที่ค่อนข้างสูงและเห็น่าควรมีการจัดเก็บที่อัตรา 0.05% เท่านั้น รวมทั้งควรเก็บภาษีกรณีที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขายหุ้นทิ้ง และควรยกเว้นภาษีสำหรับรายย่อยที่ไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่
รวมทั้งกรณีที่ต้องจัดเก็บควรพิจารณาประเด็นการลงทุนระยะสั้นควรเป็น Withholding Tax ในอัตราที่ต่ำน้อยกว่า 1% เพื่อยังคงสนับสนุนการออมการลงทุน
ตลาดหุ้นไทยน่าสนใจลดลง
ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีหุ้นเห็นว่าบริษัทจดทะเบียนมีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่แล้วจึงไม่ควรเก็บภาษีอื่นเพิ่ม รวมทั้งในการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าคอมมิชชันและค่าค่าธรรมเนียมระบบโอนเงินหักบัญชีอัตโนมัติ (ATS) อยู่แล้ว จึงถือว่ามีต้นทุนหลายรายการที่นักลงทุนต้องรับผิดชอบ
รวมทั้งภาษีหุ้นเป็นประเด็นที่กระทบผู้ลงทุนรายใหญ่และถ้าเก็บมากอาจทำให้นักลงทุนรายใหญ่หายไปจากตลาดหุ้นไทย ซึ่งจะเป็นการเก็บภาษีหุ้นทั้งที่ตลาดหลักทรัพย์ของไทยมีความน่าสนใจน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาคนี้ และถ้าเก็บภาษีดังกล่าวเพิ่มจะยิ่งทำให้ความน่าสนใจของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงอีก
ซีอีโอ52.7%หนุนเก็บภาษีคริปโทฯ
จากการสำรวจ พบว่า ซีอีโอเกินครึ่ง หรือราว 52.7% หนุนให้เก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี่) ขณะที่ซีอีโอ 48% เห็นว่าไม่ควรเก็บ
เหตุผลที่ซีอีโอมองว่า ควรเก็บภาษีคริปโทเคอร์เรนซี่ กว่า 62.4% มองว่า เป็นการสร้างมาตรฐานการจัดเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความเป็นสากล รองลงมา ซีอีโอ 51.8% มองว่า การเก็บภาษีจะช่วยสกัดการหลบเลี่ยงภาษีที่อาจนำไปสู่การทำธุรกรรมใต้ดินมากขึ้น และรัฐจะขาดรายได้ในส่วนนี้ไป ทั้งมองว่า หากมีการเก็บภาษี รัฐจะได้รายได้เข้าประเทศเพิ่มขึ้น
ขณะที่ ซีอีโอเกือบ 50% (49.5%) เห็นด้วยว่า การเก็บภาษีจะเป็นการช่วยป้องกันการฟอกเงิน และ ซีอีโอ 34.1% มองว่า เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการเก็งกำไรในตลาดคริปโทฯ
ส่วนใหญ่มุมมองของซีอีโอ ที่สนับสนุนให้เก็บภาษีเพราะเป็นการสกัดการเก็งกำไรในตลาดคริปโทฯ ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจจริง และยังอาจเป็นช่องทางผ่องถ่ายเงินออกไปในนอกประเทศด้วย ขณะที่รัฐก็สามารถควบคุมสินทรัพย์ดิจิทัลได้ ทั้งมองว่า สุดท้ายในอนาคตต้องมีการเก็บภาษีนี้อยู่ดี และเพื่อความเท่าเทียมในการเก็บภาษีในประเทศด้วย
‘ไม่เห็นด้วย’หวั่นขวางการเงินยุคใหม่
ส่วนซีอีโอที่ “ไม่เห็นด้วย” ในการเก็บภาษีคริปโทฯ ซีอีโอ 67.1% ระบุว่า การเก็บภาษีเป็นการขัดขวางแรงขับเคลื่อนนวัตกรรมในโลกการเงิน ฉุดประเทศถอยหลัง ขณะที่ ซีอีโอ 50% มองว่า เป็นการสกัดการเติบโตของนักลงทุนรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ รวมถึงเอสเอ็มอี
ซีอีโอ 35.4% บอกว่า เป็นการดับฝันเศรษฐกิจดิจิทัล ซีอีโอ 32.9% มองว่า การเก็บภาษี จะส่งผลให้ Exchange ในไทยได้รับผลกระทบทันที เกิดความเสียหาย รัฐเก็บภาษีได้ลดลง
อย่างไรตาม มีความเห็นเพิ่มเติม ระบุว่า หากรัฐจะเก็บภาษี ควรต้องนำผลขาดทุนมาคิดคำนวณด้วย ขณะที่มีความเห็นระบุว่า ที่ไม่เห็นด้วย เพราะยังขาดความสามารถในการคำนวณภาษีได้อย่างถูกต้อง และไม่มีซอฟต์แวร์ หรือวิธีการคำนวณได้อย่างครบถ้วน กฏหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่มีการรองรับ
ซีอีโอ มองว่า ช่องทางการลงทุนแบบใหม่ นี้ควรเป็นช่องทางการลงทุนที่ส่งเสริมรายได้ให้แก่นักลงทุน และหากรัฐเรียกเก็บภาษี จะเป็นการขัดขวางการทำธุรกรรม ทำให้คนสนใจรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ น้อยลง
ซีอีโอบางส่วน มองว่า ประเด็นการเก็บภาษีครั้งนี้ รัฐยังไม่ชัดเจนในหลักการ ขณะที่การ ไม่เก็บภาษี จะป้องกันประโยชน์ของเงินฝากประชาชน ที่อาจเสียหายจากการนำเงินไปฝากซื้อคริปโทฯ ที่ออกในต่างประเทศและไม่มีองค์กร กำกับดูแลที่น่าเชื่อถือ สิ่งสำคัญ ซีอีโอ มองว่า รัฐควรต้องศึกษารายละเอียดให้มากกว่านี้ แล้วจัดโครงสร้างการจัดเก็บให้ชัดเจน
ชงเก็บภาษีคริปโทฯ 1-5%
เมื่อถามว่า หากรัฐบาลยืนยันจะเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล อัตราที่เหมาะสมควรเป็นเท่าไหร่ ซีอีโอเกินครึ่ง หรือ 51.4% ระบุว่า ควรอยู่ในอัตรา 1-5% ขณะที่ รองลงมา ระบุ ควรเก็บในอัตรา 10% ขึ้นไป อย่างไรก็ตาม มีซีอีโอบางส่วนเสนอหากจะเก็บ ควรให้อยู่ในอัตราที่เป็นธรรม คนเสียภาษีรับได้ และควรจัดเก็บจากกำไรเท่านั้น คือ วิธีการจัดเก็บต้องชัดเจนว่า เป็นการเก็บจากผลกำไรที่ได้รับจริงๆ โดยนำผลขาดทุนมาคำนวณด้วย
ขณะเดียวกันควรศึกษาการเก็บภาษีของประเทศอื่นในภูมิภาคอื่นประกอบ บางส่วนเสนอให้เก็บภาษีในอัตรา 0.5-2.0% รวมถึงอาจใช้อัตราเดียวกับหลักทรัพย์อื่น เช่น หุ้นกู้ หรือใช้อัตราการเก็บแบบ Financial Transaction Tax ไม่เกิน 1%
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า ถ้าเก็บภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล คิดว่า นักลงทุนจะเปลี่ยนวิธีการลงทุนแบบใด ซีอีโอกว่า 64.6% มองว่า นักลงทุนจะย้ายไปลงทุนในแพลตฟอร์มต่างประเทศทันที ขณะที่ ซีอีโอ 38.1% ระบุว่า นักลงทุนจะหาวิธีการหลบเลี่ยงภาษี และใช้วิธีเทรดคริปโทฯ โดยไม่แปลงเป็นเงินบาท
มีซีอีโอ เพียง 21% ที่ยังเชื่อมั่นว่า หากรัฐเก็บภาษีดิจิทัล นักลงทุนจะยังลงทุนในประเทศเหมือนเดิม และจ่ายภาษีตามที่รัฐกำหนด
แนะกำหนดอัตราที่ยอมรับได้
ซีอีโอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า เก็บภาษีดังกล่าวได้แต่ควรหาวิธีการคำนวณภาษีที่เป็นธรรมกับนักลงทุน โดยมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณอัตราภาษีที่เป็นที่ยอมรับและอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง รวมทั้งต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้กระทบกับการลงทุน โดยรวม
ในขณะที่รูปแบบการลงทุนใหม่ที่เกิดขึ้นใหม่ ภาครัฐควรกำกับดูแลแต่ไม่ใช่การชี้นำ โดยควรปล่อยให้มีการเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง เพียงแต่สร้างความชัดเจนว่าขัดกฎหมายหรือไม่ เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอื่นที่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน แต่ต้องไม่สร้างกติกาใหม่เพื่อควบคุมการเติบโตและการพัฒนา
และควรแยกประเภทสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีหลายกลุ่ม โดยมีหลักเกณฑ์การกกำกับที่เทียบเคียงปัจจุบันเพียงแต่มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
รวมทั้งมีข้อเสนอจากซีอีโอให้ดูแนวทางการจัดเก็บในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกับไทย รวมทั้งควรแบ่งการจัดเก็บเป็นเฟสเพื่อเป็นการปรับตัวของนักลงทุน
ต้องไม่กระทบแข่งขันต่างชาติ
นอกจากนี้ การจัดเก็บต้องพิจารณาการจัดเก็บภาษีในภาพรวมของประเทศให้สมดุลกัน รวมทั้งควรมีอัตราการจัดเก็บที่มีการปรับขึ้นหรือลดลงตามสถานการณ์ และอัตราการจัดเก็บควรอยู่ในระดับที่ทำให้การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยแข่งขันกับประเทศอื่นได้
นอกจากนี้ มีการเสนอให้จัดเก็บภาษีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลไปพร้อมกับค่าธรรมเนียมอื่นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เช่น 0.1% ในทุกออร์เดอร์
นอกจากนี้ ภาครัฐควรควบคุมเอกชนที่นำเงินไปซื้อสินทรัพย์ดิจิทัลต่างประเทศ เพราะมีกำไรสูงแต่มีความเสี่ยงสูง โดยถ้ามาร์เก็ตแคปการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลมีขนาดใหญ่เกินไปอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งสถานการณ์สินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันมีความเปราะบาง โดยบางครั้งเหมือนการพนันเพราะไม่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง และภาครัฐควรเร่งออกเงินบาทดิจิทัล เพื่อให้นักลงทุนใช้เป็นมูลค่าอ้างอิงในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย