คลังปัดลด ’ภาษีที่ดิน’ ชี้เป็นภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น​

คลังปัดลด ’ภาษีที่ดิน’ ชี้เป็นภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น​

“คลัง” เผยไม่ลดภาษีที่ดิน​ ชี้เป็นภาระชดเชยรายได้ท้องถิ่น​ หลังลดมา​ 2 ปี “สรรพากร” เล็งปรับลดสิทธิลดหย่อนภาษีคนรวย เพิ่มให้ผู้มีรายได้ปานกลาง-น้อย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ​ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง จะไม่พิจารณาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในปี 2565 หลังจากลดภาษีดังกล่าวมา 2 ปีแล้ว​ เพราะการลดภาษีดังกล่าวถือเป็นภาระทางการคลัง โดยมีการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ในปี 2563-2564 ทำให้รัฐบาลเสียรายได้ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นภาระที่สูง ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงเสนอไม่ลดภาษีดังกล่าวอีก และให้กลับไปใช้อัตราตามกฎหมาย


สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นภาระที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้จัดเก็บ และเป็นรายได้ของท้องถิ่นที่นำไปพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งเมื่อรัฐบาลประกาศลดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ทำให้กระทรวงการคลังต้องชดเชยรายได้ให้ท้องถิ่น


หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2563 ได้กระทบเศรษฐกิจในประเทศรุนแรง คนตกงาน ผู้ประกอบการไม่มีรายได้ ซึ่งทำให้ในเดือนมิ.ย.2563 รัฐบาลลดภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง 90% ของภาระภาษีที่เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ต้องจ่าย โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลเลื่อนเวลาให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องชำระภาษีนี้ในทุกเดือนเม.ย.ของทุกปี เป็นเดือนส.ค.เพราะกฎหมายลูกยังไม่พร้อมใช้ และจะกลับมาชำระภาษีในทุกเดือนเม.ย.นับตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

สำหรับอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปี 2565-2566 กำหนดว่า 1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.01-0.1%  
2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1% โดยที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.03-0.1% ส่วนสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1% และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจากนี้มีอัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.02-0.1%  
3.การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และอุตสาหกรรม อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.3-0.7% และ 4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีจัดเก็บปัจจุบัน 0.3-0.7%
ทั้งนี้ บ้านและที่ดินที่เป็นบ้านหลังหลักหรือบ้านหลังแรกที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นภาษี ส่วนที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาที่มีมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับยกเว้นเช่นกัน

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์