ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ แรงหนุนสำคัญต่อราคาน้ำมันไตรมาส 4
สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ ยังคงมีความผันผวนจากสถานการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลาง โดยต้องติดตามประเด็นที่มีผลต่อความต้องการน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณาลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
ราคาน้ำมันดิบ ไตรมาส 4 ปี 2567 ยังคงได้รับแรงหนุนด้านภูมิรัฐศาสตร์ ที่คาดว่าจะตึงเครียดต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
โดยในต้นเดือน ต.ค. 2567 ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เพิ่มขึ้นแตะระดับ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากความกังวลต่อความขัดแย้งใน ตะวันออกกลาง ที่มีแนวโน้มตึงเครียดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำมันดิบ ขณะเดียวกัน ราคายังได้รับแรงหนุน หลังคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่อง
อีกทั้งสถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองยังคงผันผวน อาทิ ความขัดแย้งระหว่าง อิสราเอล - ฮามาส ที่โจมตีในฉนวนกาซา และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ ที่ขยายไปทั้งทางตอนเหนือและตอนใต้ของเลบานอน รวมไปถึงท่าทีของอิสราเอลในการตอบโต้กลับไปยังอิหร่านที่เพิ่มความกังวลของตลาดต่อผลกระทบด้านการผลิตน้ำมันดิบแม้ล่าสุดอิสราเอลมุ่งเป้าโจมตียุทธศาสตร์ทางการทหารของอิหร่าน ไม่ใช่โรงกลั่นผลิตน้ำมันหรือฐานนิวเคลียร์
ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมัน ถูกกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ยังอ่อนแอ แม้รัฐบาลจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เมื่อปลาย ก.ย. 2567 หลายฝ่ายคาดว่ามาตรการอาจกระตุ้นเศรษฐกิจบางส่วน แต่ไม่มากเท่ากับที่คาดการณ์ไว้ ส่วนความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังกลุ่มโอเปกคงมติเดิม ที่จะเริ่มทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิต โดยจะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 67 ต่อเนื่องจนถึงเดือน พ.ย. 68
ด้านอัตรา เงินเฟ้อ ในสหรัฐและยูโรโซน มีแนวโน้มชะลอตัวลงหนุนธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปลดอัตราดอกเบี้ย ครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือน พ.ย. 2567 และ ธ.ค. 2567 ซึ่งกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวยังคงทำให้ ราคาน้ำมันดิบ ไตรมาส 4 มีความผันผวน
ขณะเดียวกันหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า การเปลี่ยนแปลงประธานาธิบดีสหรัฐ จะส่งผลกระทบทั้งด้านอุปทานน้ำมันสหรัฐที่อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมไปถึงสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้าที่อาจตึงเครียดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน