"ทัวร์เที่ยวไทย" หั่นงบ 4 พันล้าน! บ.ทัวร์โอดขอปรับเงื่อนไขเอื้อขายแพ็คเกจ
หลังจากรัฐบาลดำเนินโครงการ “ทัวร์เที่ยวไทย” วงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งเริ่มเปิดให้ประชาชนจองใช้สิทธิโดยตรงผ่าน “บริษัทนำเที่ยว” เพื่อซื้อแพ็คเกจทัวร์ ตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.2564 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ม.ค.2565 รัฐช่วยจ่ายค่าแพ็คเกจทัวร์ 40% ของราคาเต็ม
แต่สูงสุดไม่เกิน 5,000 บาทต่อสิทธิ จำนวน 1 ล้านสิทธิ ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิเท่านั้น
เวลาผ่านไปกว่า 3 เดือน พบว่ามีประชาชนใช้สิทธิจำนวนน้อย! โดยจากสถิติบนเว็บไซต์ ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย วานนี้ (17 ม.ค.) ระบุว่ามีจำนวนสิทธิคงเหลือมากถึง 972,718 สิทธิ ถูกใช้ไป 27,282 สิทธิเท่านั้น!
พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯได้ “คืนสิทธิ” โครงการทัวร์เที่ยวไทย จำนวน 8 แสนสิทธิ คิดเป็นวงเงิน 4,000 ล้านบาท คงเหลือไว้ 2 แสนสิทธิ คิดเป็นวงเงิน 1,000 ล้านบาท โดยทั้งหมดได้หารือร่วมกับคณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.เงินกู้โควิดฯ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นประธานเรียบร้อยแล้ว
“ยืนยันว่าทางรัฐบาลไม่ได้ยุติโครงการทัวร์เที่ยวไทย แต่มีการปรับลดจำนวนสิทธิจากเดิมที่กำหนดไว้ 1 ล้านสิทธิ ให้คงเหลือ 2 แสนสิทธิ ซึ่งปัจจุบันใช้ไปแล้ว 2 หมื่นกว่าสิทธิ”
ทั้งนี้เชื่อว่าแม้จะเก็บจำนวนสิทธิเอาไว้ 2 แสนสิทธิ ก็น่าจะยังเหลือเมื่อถึงวันสิ้นสุดโครงการฯ เพราะพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวไทยไม่ค่อยนิยมเที่ยวผ่านบริษัทนำเที่ยว นิยม “เที่ยวด้วยตัวเอง” มากกว่า โดยเฉพาะในสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังระบาดขณะนี้
“ผมขอถามกลับไปยังบริษัทนำเที่ยวทั้งหลายว่ามีคนเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เหลือเท่าไรในสถานการณ์โควิด-19 แบบนี้ ทางรัฐบาลได้ให้จำนวนสิทธิโครงการทัวร์เที่ยวไทยไปแล้ว 1 ล้านสิทธิ แต่ปัจจุบันมีประชาชนใช้สิทธิเพียง 2 หมื่นกว่าสิทธิ จึงมองว่าทำไมต้องดึงวงเงิน 4,000 ล้านบาทเอาไว้ในเมื่อไม่ได้ใช้ อย่างไรก็ตามหากบริษัทนำเที่ยวสามารถขายแพ็คเกจทัวร์ผ่านโครงการนี้หมด 2 แสนสิทธิที่เหลือ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯก็พร้อมจะเสนอของบฯก้อนใหม่แก่โครงการทัวร์เที่ยวไทยให้”
ทั้งนี้รัฐบาลจะไม่มีการนำงบประมาณโครงการทัวร์เที่ยวไทยในส่วนที่คืนให้แก่คณะกรรมการกลั่นกรองฯสภาพัฒน์ โยกไปเพิ่มแก่โครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 แต่อย่างใด เพราะงบฯโครงการทัวร์เที่ยวไทยมาจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง พ.ร.ก.นี้สิ้นสุดลงไปแล้ว ขณะที่งบฯโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ดังนั้นจึงไม่สามารถโยกวงเงินที่เหลือมาได้ หากต้องการใช้เพิ่มก็ต้องตั้งโครงการใหม่
และในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 25 ม.ค.นี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเสนอให้พิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินโครงการทัวร์เที่ยวไทย จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ม.ค.2565 ออกไปจนถึงในวันที่ 30 เม.ย.2565
นอกจากนี้จะเสนอให้ ครม.พิจารณาเพิ่มสิทธิโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” อีกจำนวน 2 ล้านสิทธิ (คืน) วงเงิน 13,200 ล้านบาท หลังจากก่อนหน้านี้ ครม.ได้อนุมัติในหลักการไปแล้ว คาดจะเริ่มให้ประชาชนจองสิทธิได้ภายในเดือน ก.พ.2565 และสิ้นสุดการใช้สิทธิภายในเดือน ก.ย.2565 โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯคาดว่าจำนวน 2 ล้านสิทธิดังกล่าวจะถูกใช้หมดภายในเดือน เม.ย.นี้ เพราะเข้าช่วงพีคซีซั่นของตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศซึ่งมีวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์
ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้ สมาคมฯจะขอเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวฯ และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อวิงวอนขอให้รัฐบาล “อย่าตัดงบฯ” โครงการทัวร์เที่ยวไทย! ให้คงวงเงินรวมไว้ที่ 5,000 ล้านบาทเหมือนเดิม หลังมีสมาชิกบริษัทนำเที่ยวกว่า 200 บริษัทได้เข้ามาร้องต่อสมาคมฯเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้จะขอให้มีการปรับปรุงเงื่อนไขโครงการฯในจุดที่ยัง “หยุมหยิมเกินไป” เช่น การเสนอโปรแกรมทัวร์ กว่าจะผ่านขั้นตอนต่างๆ เพื่อขออนุญาตขาย ต้องใช้เวลานานถึง 21 วัน กว่าว่าจะเริ่มขายได้จริงคือเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เพิ่งได้ขายแพ็คเกจทัวร์กัน 1-2 เดือนนี่เอง รวมถึงขั้นตอนที่นักท่องเที่ยวเดินทางจริง ต้องมีการสแกนใบหน้าทุกจุด ไม่ใช่เฉพาะแค่จุดเริ่มต้นการเดินทาง ขณะที่ร้านค้าร้านอาหารต่างๆ ที่รองรับนักท่องเที่ยวโครงการนี้ต้องมีแอพพลิเคชันถุงเงินรองรับเท่านั้น
นอกจากนี้อยากให้ต่อระยะเวลาแก่ผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยวสามารถกรอกรายการนำเที่ยวใหม่ผ่านเว็บไซต์ ทัวร์เที่ยวไทย.ไทย จากเดิมมีกำหนดสิ้นสุดเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2564 ทั้งที่บริษัทนำเที่ยวมีสิทธิเสนอขายแพ็คเกจทัวร์จำนวน 30 โปรแกรม ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายยังใช้สิทธิไม่ครบกัน และอยากเสนอขายโปรแกรมทัวร์เพิ่ม
“ทัวร์เที่ยวไทยถือเป็นโครงการเดียวที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการบริษัทนำเที่ยว หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ครบ 2 ปีเต็ม ช่วยให้บริษัทนำเที่ยวบางส่วนเริ่มกลับมาขายแพ็คเกจทัวร์ได้อีกครั้ง ส่วนจุดที่มองว่ามีผู้มาใช้สิทธิโครงการน้อย เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาเกิดการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 มากกว่า สมาคมฯมองว่ายังมีดีมานด์เที่ยวผ่านบริษัททัวร์อยู่”