"ชฎาทิพ จูตระกูล" เคลื่อนทัพสยามพิวรรธน์ลุย "ดิจิทัลบิสสิเนส-ลงทุนตปท."
"กล้าคิดใหญ่ กล้าทำใหม่" หลักคิด(การ)ใหญ่ ของ "ชฎาทิพ จูตระกูล" ผู้นำทัพสยามพิวรรธน์ฝ่าคลื่นวิกฤติหลายระลอกหลากวิกฤติการณ์ที่บ่มเพาะประสบการณ์ตั้งรับแข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมเดินหน้าเปิดเกมรุกก้าวใหญ่สู่ "ดิจิทัลบิสสิเนส" และสยายปีกลงทุนต่างประเทศ
กว่าครึ่งศตวรรษของกลุ่มบริษัทสยามพิวรรธน์ องค์กร 62 ปี ภายใต้การขับเคลื่อนของแม่ทัพหญิงแกร่ง ชฎาทิพ จูตระกูล นั่งเก้าอี้กุมบังเหียนร่วม 33 ปี ด้วยหลักยึดผู้นำความคิดสร้างสรรค์ (Thought Leader) นำพาธุรกิจก้าวข้ามทุกขีดจำกัด ข้อจำกัดทุกรูปแบบ และทุกวิกฤติการณ์! มุ่งหน้าสู่โลกแห่งอนาคต
ซึ่งสูตรแห่งความสำเร็จ และ คัมภีร์ฝ่าวงล้อม "วิกฤติ" ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะมหันตภัยเขย่าโลก "โควิด-19" ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก หากแต่ "สยามพิวรรธน์" ยังคงยืดหยัดอย่างแข็งแกร่งและพร้อมทะยานไปข้างหน้าตลอดเวลา
ชฎาทิพ จูตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ผู้พัฒนาธุรกิจค้าปลีกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ เจ้าของและผู้บริหาร สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ หนึ่งในพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม และสยาม พรีเมี่ยม เอาท์เล็ต กรุงเทพกล่าวว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้มาเพื่อ Reset ทั้งโลก! แต่ สยามพิวรรธน์ ผ่านมาหลายวิกฤติ และทุกวิกฤติมีโซลูชั่นส์ที่ทำในทันที
เริ่มตั้งแต่ "Reset" ในที่นี้หมายถึงธุรกิจที่เราทำมาเคยเป็น "ศูนย์การค้า" เป็นธุรกิจออฟไลน์ทั้งหมด ต้องมา Reset เป้าหมายใหม่ ภายใต้บริบทของลูกค้าและโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เป้าหมายใหม่คืออะไร และไม่ลืมว่าเป้าหมายที่เซ็ตขึ้นใหม่ต้องอินไลน์กับ Core Business
เมื่อ Reset เป้าหมายแล้วต้องมา "Rewrite-strategy" ว่ากลยุทธ์ที่จะตอบสนองเป้าหมายใหม่มีอะไรบ้าง เราใช้เวลาอย่างรวดเร็วมากในการเขียนกลยุทธ์ใหม่ เชื่อว่าบริษัทอืี่นๆ ก็คิดเช่นนี้เหมือนกัน แต่เราเน้นกลยุทธ์ที่ลงรายละเอียดว่ามี Action Plan อะไรบ้าง
"Reimagine" สำคัญมากเพราะธุรกิจของเราไม่ได้ทำเพื่อตัวเราเอง! แต่ทำเพื่อความพอใจสูงสุดของลูกค้า และทำให้คู่ค้าพันธมิตรอยู่ได้ขายดี ฉะนั้นต้อง Reimagine ได้ว่าโลกต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องมีทีมวิจัย มีคลังสมอง หรือ Think Tanks นำนวัตกรรมมาผสมผสานเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เป็น One step ahead ของลูกค้าตลอดเวลา ต้อง Reimagine ให้ออกว่าเราจะนำเสนออะไร ที่แตกต่างและตรงใจ เรียกว่าเป็นประสบการณ์แรกที่ตรงใจตามแบบฉบับของสยามพิวรรธน์
"Refresh" สยามพิวรรธน์เป็นเจ้าของพรอพเพอร์ตี้ 4 ศูนย์การค้า จะ Refresh ให้มีความแปลกใหม่ได้อย่างไร ยิ่งเรานำเสนอ "วันสยามซูเปอร์แอพ" ขึ้นมาแล้ว แพลตฟอร์มนี้จะเชื่อมความคาดหมายของลูกค้า เชื่อมสัมพันธ์ลูกค้าจากบ้านมาสู่สถานที่ของเราได้อย่างไร มาถึงแล้วและเชื่อมต่อโลกออนไลน์และออฟไลน์ซึ่งเป็นโลกคู่ขนานได้อย่างไร ต้องคอมบายร่วมกันประสบการณ์จากบ้านสู่สโตร์ต้องทำให้เกิดในศูนย์การค้า นำโลกดิจิทัลเข้ามาให้ลูกค้าอินเทอร์แรคในศูนย์การค้าได้ ฉะนั้นต้องปรับปรุง Refresh ตลอดเวลาด้วยไดเรคชั่นที่ชัดเจนว่าทำเพื่อตอบโจทย์อะไร
อีกหนึ่งความสำคัญคือ “Realign” เมื่อเราปรับวิชั่น ปรับเป้าหมายใหม่ ปรับบิสสิเนสโมเดลใหม่ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้สำเร็จนั้นทุกคนต้องได้รับการ Realign กับเราเริ่มจากภายใน
“สยามพิวรรธน์ประสบความสำเร็จมาได้ตลอด 60 กว่าปี เพราะเรามีผู้บริหารและทีมงานที่แข็งแกร่ง ทุ่มเท แอสเสทสำคัญที่สุดไม่ใช่ทรัพย์สินหรือตึกที่มีมูลค่าเป็นแสนล้าน แต่คือพนักงานของเรา ซึ่งได้รับการถ่ายทอดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ใหม่ ทุกคนต้องกลับไปคิด Action Plan ใหม่ที่จะลุกขึ้นมาก้าวข้ามทุกอุปสรรค นำเสนอสิ่งใหม่และหลายสิ่งใหม่เรายังไม่เคยทำ ไม่ว่าจะดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดิจิทัลแอคทิวิตี้ ออนไลน์ทั้งหลาย ต้องปรับกระบวนทัพมากพอสมควร ทำ เชนจ์ แมเนจแมนท์”
แต่โชคดีทุกคนเรา Work as one พนักงานทุกคนเปิดใจเพื่อปรับเปลี่ยน และ Core Value ของเรา มีคำหนึ่ง “Daring" คำนี้สำคัญ “กล้าคิดใหญ่ กล้าทำใหม่” คือวัฒนธรรมองค์กรของสยามพิวรรธน์ การปรับตัวของพวกเราไม่เป็นเรื่องยาก! แต่ต้องทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมายเดียวกัน และต้องบริหารการเปลี่ยนแปลง ทั้งกระบวนความคิด วิธีการทำงาน ทั้ังหมดถูกเขียนใหม่ให้คนทำงานได้เร็วขึ้น
"สิ่งสำคัญที่สุดจะทำให้เราออกจากโควิดให้เร็วอย่างผู้ชนะ คือ สปีด คือความรวดเร็วในการแก้ปัญหา การ
Reset Realign ทำทุกอย่างใหม่ ทำทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ซึ่งเรา Rewrite และ Reset ตั้งแต่ปี 2563 เพราะมองเห็นแล้วว่าศึกนี้ใหญ่หลวงและยืดยาวนาน"
ขณะเดียวกันโลกก้าวสู่ดิจิทัลเต็มรูปแบบมากขึ้นการเคลื่อนธุรกิจของสยามพิวรรธน์ในเวลานี้ มุ่งยกประสบการณ์ในศูนย์การค้ามาไว้บน "ดิจิทัลแพลตฟอร์ม" เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัว "วันสยามซูเปอร์แอพ" สร้างขึ้นมาเฉพาะในการส่งมอบประสบการณ์เหนือความคาดหมายด้วยการรวมพลัง 1,000 แบรนด์ 13 กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมเพื่อใช้แพลตฟอร์มนี้ร่วมกันในกลุ่มพันธมิตรที่สามารถส่งลูกค้ามาให้สยามพิวรรธน์บริหารประสบการณ์ที่มีเงินก็ซื้อไม่ได้
เวลานี้สยามพิวรรธน์กำลังเข้าสู่เฟสของการรุกออนไลน์ ขณะที่ “ศูนย์การค้า” จะไม่ใช่สถานที่ขายของหรือขายบริการ แต่เป็นสถานที่เสนอประสบการณ์เหนือความคาดหมาย มอบคุณค่าของชีวิต ความรู้ เรื่องราวใหม่ๆ ให้ทุกคนมาใช้ชีวิตในถานที่ของเราอย่างมีคุณค่า เสมือนบ้านหลังที่ 2
และพร้อมปรับใหญ่ “สยามพารากอน” ที่หนึ่งในใจของลูกค้าคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเคยเป็นอันดับ 6 บนโกลบอลเฟซบุ๊ก หมายถึง คนทั้งโลกพูดถึงสยามพารากอนเป็นลำดับที่ 6 มากกว่าหอไอเฟล ไทม์สแควร์ เป็นสถานที่หนึ่งเดียวของเอเชียที่ไต่อันดับขึ้นไปถึงขณะนั้น
สยามพารากอน จะไม่เป็นศูนย์การค้า!! ต้องติดตาม!!
อย่างไรก็ดี ช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สยามพิวรรธน์มีโอกาสมากมาย ได้รับการติดต่อจากดีเวลลอปเปอร์ต่างประเทศในการไปลงทุน ร่วมทุน เปิดศูนย์การค้าในประทศต่างๆ ทั้งเพื่อนบ้าน เมืองจีน มาเลเซีย
ก้าวต่อไปของ “สยามพิวรรธน์” คือการสร้างฐานที่มั่นคงในประเทศไทยเพื่อจะสามารถมอบประสบการณ์ “ออนไลน์-ออฟไลน์” ที่เชื่อมต่อกันได้ พร้อมเปิดสู่การลงทุนใน “ต่างประเทศ” ซึ่งสยามพิวรรธน์เราได้รับความมั่นใจ ศรัทธา และยกย่องจากหลายดีเวลลอปเปอร์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณา
ขณะเดียวกันมีแผนลงทุนต่อเนื่องใน "ดิจิทัลแพลตฟอร์ม" และ “ดิจิทัลบิสสิเนส” ซึ่งเป็นเรื่ืองสำคัญ เพราะหากธุรกิจจะก้าวสู่ ดิจิทัลแอคทิวิตี้ทั้งหมดนั้นเราไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง!
ต้องยอมรับว่า สยามพิวรรธน์ ไม่ใช่ "เทคคอมปะนี" แต่เรามีแผนจะก้าวสู่เรื่องของฟินเทค ไฟแนนซ์เชียลแพลตฟอร์ม เช่ื่อมต่อลูกค้าเข้าสู่ “วันสยามซูเปอร์แอพ” ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน ลูกค้ามีวอลเล็ตของตัวเอง มีดิจิทัลแอสเสท เทรดได้บนแพลตฟอร์มนี้
"สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหม่ เราสร้างกองทัพไม่ทัน การร่วมลงทุน ถือหุ้น หรือสนับสนุน ในเทคคอมปะนี เทคสตาร์ทอัพ อยู่ในกลยุทธ์ของสยามพิวรรธน์ เป็นการเปลี่ยนแปลงทางด้านนโยบาย ความคิด ทำแบบฟาสท์แทร็ก Speed is King และสุดท้าย บุคคลากร คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้ทุกอย่างสำเร็จได้"
สยามพิวรรธน์จึงเร่งเสริมทัพ เฟ้นคนรุ่นใหม่เข้ามาในหลายสายงาน เป็นการปรับกลยุทธ์ ปรับทัพครั้งยิ่งใหญ่ เป็นความท้าทายที่น่าตื่นเต้นในรอบ 33 ปีทีเดียว
"ที่ผ่านมาประสบการณ์ใช้ได้ 10% วันนี้อาจเหลือแค่ 2-3% เท่านั้น เราต้องเรียนรู้จากคนรุุ่นใหม่และอยู่กับการเปลี่ยนแปลง มีผู้บริหารรุ่นใหม่มาช่วยงาน ต้อง Empower และ Engage ให้เขาทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้ดี"
ชฎาทิพ กล่าวย้ำว่า ตัวเลข 33 ปีในวงการศูนย์การค้า ไม่เคยมีคำว่า “สำเร็จ” และ ไม่มีคำว่า “ที่สุด” เพราะตราบใดที่ทำงานอยู่จุดนี้ และเป็นงานที่เราต้องทำเพื่อความสำเร็จของผู้อื่นตลอดเวลา ความรับผิดชอบนี้ไม่มีที่สิ้นสุด! จะทำอะไร พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ ไม่ว่าจะคู่ค้า พันธมิตร หรือความพึงพอใจของลูกค้า ไม่มีคำว่าที่สุด ฉะนั้น “คิดใหม่ ทำใหม่ทุกวัน” คือภารกิจ
แต่แน่นอนว่าอภิมหาโครงการริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา “ไอคอนสยาม” คือความภาคภูมิใจที่ยิ่งใหญ่ เป็นครั้งแรกที่ได้ทำโครงการโดยมีผู้อื่นเป็นที่ตั้ง
"เราข้ามแม่น้ำไปอยู่ฝั่งธนบุรี แถบนั้นทั้งหมดคือเจ้าของโครงการร่วมกับเราที่ได้เรียนรู้จากชุมชนที่อยู่รายล้อมเป็นเพื่อนบ้าน เราสำรวจคนฝั่งธนฯ ทั้งหมด อยากเห็นอะไร อยากทำอะไร คนที่อยู่ริมเจ้าพระยาต้องได้ประโยชน์จากการมาของไอคอนสยาม ที่ได้ทำงานร่วมกับสมาคมริมน้ำ สมาคมเรือ ผู้คนทั้งหมด ที่เรามีโอกาสจะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้ได้"
อัตลักษณ์ของ “ไอคอนสยาม” คือการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดของประเทศไทย ฉะนั้นเราต้องมีความเข้าใจว่าเมืองไทยเรามีอะไรดี คนในประเทศใคร คือ “โลคอล ฮีโร่” คนเก่งของประเทศที่จะให้ไอคอนสยามเป็นเวทีส่งไปเป็น “โกลบอล ฮีโร่” ดังนั้นไม่ว่าจะทำงานกับศิลปินแห่งชาติ ศิลปินเด็กรุ่นใหม่ ชาวบ้าน ชุมชน ที่จะมานำเสนอของดี ของฝาก ของอร่อย หัตถกรรมจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องเรียนรู้ว่าหากจะส่งให้ทุกท่านเปล่งประกายในไอคอนสยามจะต้องทำอย่างไร
นับเป็นความภาคภูมิใจส่วนตัวและทีมงาน อะไรก็ตามที่เราทำและส่งผลให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์ นั่นคือ กำไรชีวิต มากกว่าได้กำไรหลายล้าน เป็น “รางวัลชีวิต” ที่จะอยู่กับตัวเราไปตลอด
"เราบอกพนักงานตลอดว่าการทำงานที่สยามพิวรรธน์คือการสร้างประวัติศาสตร์ใหม่และความภาคภูมิใจที่ได้ทำเพื่อผู้อื่นและได้เห็นความสำเร็จนั้น"
เป็นพันธกิจของสยามพิวรรธน์นับจากวันก่อตั้งเมื่อ 63 ปีก่อนว่า...เราจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดคนทั้งโลกให้มาประเทศไทย ด้วยโครงการทั้งหมดของบริษัทต้องสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย ภายใต้ภารกิจและเป้าหมายจะทำอะไรก็ตามต้อง “นำไทยไปชนะบนเวทีโลก” ทำให้คนทั้งโลกอยากมาประเทศไทย มาแล้วรักประเทศไทยมากขึ้นกว่าเดิม