ส่องโมเดลรื้อสัญญาไฮสปีด ลุ้นคลังเคาะ “ซีพี” ผ่อนจ่าย
สกพอ.เตรียมปรับแก้สัญญาร่วมทุนไฮสปีดสามสนามบิน ปม “ซีพี” ร้องผลกระทบโควิด ขอผ่อนจ่ายค่าโอนสิทธิบริหารแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กว่า 1 หมื่นล้านบาท เร่งขอความเห็นกระทรวงการคลังเคาะรูปแบบ พบมี 2 โมเดลยืดสัญญาระยะ 6 ปีและ 10 ปี
หลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน เมื่อวันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ที่มีกลุ่มซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในฐานะผู้รับสัมปทาน โดยที่ประชุมมีมติรับข้อเสนอของเอกชนในการขอปรับแก้เงื่อนไขในสัญญา เรื่องการจ่ายค่าโอนสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
รายงานข่าวจาก สกพอ.ออกมาระบุถึงผลการประชุมว่า ประชุมได้รับทราบถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ทำให้ปริมาณผู้โดยสารใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้เอกชนได้รับผลกระทบรายได้ที่จะจัดเก็บลดลง จึงเห็นชอบให้มีการปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยจะต้องปรับแก้ในส่วนของสัญญาการจ่ายค่าโอนสิทธิ จากเดิมที่ต้องจ่ายเป็นนวงเงินเต็มกว่า 1 หมื่นล้านบาท เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เนื่องจากการหารือในครั้งนี้ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ว่าจะแก้สัญญาในรูปแบบใด โดยจะกำหนดกรอบเวลาในการจ่ายค่าบริหารสิทธิเป็นระยะเวลากี่งวดจึงจะเหมาะสม ส่งผลให้ที่ประชุมมีมติให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งสอบถามความเห็นไปยังสำนักงบประมาณ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ และกระทรวงการคลัง ซึ่งเรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน และจะมีการหารืออีกครั้งในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้ ก่อนจะเร่งรัดนำเสนอสัญญาฉบับใหม่ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน มี.ค.นี้
สำหรับโมเดลของการปรับแก้สัญญา เบื้องต้นพบว่ามี 2 รูปแบบ แบ่งเป็น
โมเดลที่ 1 กลุ่มซีพีเสนอ
จากเงื่อนไขสัญญาร่วมทุนที่ตกลงจะจ่ายค่าแอร์พอร์เรลลิงค์จำนวน 10,671.090 ล้านบาท เป็นก้อนเดียวในวันที่ 24 ต.ค. 2564 กลุ่มซีพีได้เจรจาขอเลื่อนชำระพร้อมกับแบ่งชำระ 10 งวด ระยะ 10 ปี พร้อมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม
โมเดลที่ 2 การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เสนอ
แบ่งชำระเหลือ 6 งวด ระยะ 6 ปี โดยจะแบ่งเป็นเป็นอัตราขั้นบันได ปีแรกจ่ายในสัดส่วน 5% ปีที่ 2 จ่าย 7% ปีที่ 3 จ่าย 10% ปีที่ 4 จ่าย 10% ปีที่ 5 จ่าย 10% ปีที่ 6 จ่ายส่วนที่เหลือทั้งหมดประมาณ 67.7% พร้อมจ่ายดอกเบี้ยเพิ่ม โดยค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value : NPV) จะอยู่ที่ 11,705.463 ล้านบาท ปรับเพิ่มจากวงเงินเดิมราว 1,034.373 ล้านบาท
สำหรับโมเดลที่มีการเสนอมานี้ การประชุมคณะกรรมการบริหารสัญญาไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน มีความเห็นด้วยว่า “ข้อเสนอเอกชนที่ขอผ่อน 10 ปี คงไม่ได้ เพราะที่ประชุมเล็งเห็นว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวนานเกินไป ส่วนกรณีที่การถไฟฯ ศึกษาว่าจะผ่อนจ่ายในระยะเวลา 6 งวด รวม 6 ปี เรื่องนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางนี้หรือไม่ จะเหมาะสมหรือไม่ ดังนั้นคงต้องรอฟังความเห็นจากหน่วยงานกระทรวงการคลัง” แหล่งข่าวกล่าว