เบรกสิทธิซื้อบ้าน-ถือครองที่ดินดับฝันดึงดีมานด์ต่างชาติกระตุ้นอสังหาฯ
หลังจากศบศ. เบรกมาตรการหนุนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์คอนโด-เช่าบ้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ ประเมินกระทบนโยบายดึงต่างชาติพำนักระยะยาวชะงัก ! เหตุขาดแรงจูงใจในการซื้อ/เช่าอสังหาฯในเมืองไทย
วานนี้ (21 ม.ค.) ผลจากการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติตีกลับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน โดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้าประเทศไทย
ในส่วนของสิทธิประโยชน์ด้านอสังหาริมทรัพย์ 3 ข้อได้แก่
1.การถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอัตราส่วนมากกว่าร้อยละ 49 ของเนื้อที่ห้องชุด โดยกรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย เสนอให้คงสัดส่วนการถือครองที่ร้อยละ 4 ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันยังมีห้องชุด "คงเหลือ" ที่ต่างชาติสามารถถือครองได้
2.การขยายระยะเวลาในการให้สิทธิชาวต่างชาติเช่าบ้านจัดสรรจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปีนั้นไม่สามารถดำเนินการผ่าน พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม พ.ศ. 2552 ได้ เนื่องจาก "ไม่มี"บทบัญญัติในเรื่องการเช่าที่ดินเพื่อการอยู่อาศัย
3.การให้สิทธิชาวต่างชาติในการถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่
โดยทั้ง 3 ข้อดังกล่าว นายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โต้แย้ง ว่าเงื่อนไขเดิมเหมาะสมอยู่แล้ว และหากเสนอเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นโจมตีทางการเมืองได้
"วิชัย วิรัตกพันธ์ "ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) กล่าวว่า ตามนโยบาย รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ )ได้ให้นโยบายไว้ในปี2564 ที่ผ่านมาว่าต้องการดึงชาวต่างชาติมาพำนักระยะยาว(Long Stay)
ฉะนั้นการที่ยังคงให้การถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในอัตราส่วน 49% ของห้องชุดทั้งหมดเหมือนเดิม ไม่เพิ่มขึ้น ในข้อแรก จึง"ไม่มี"ผลกระทบมากในกรุงเทพฯแต่ในบางพื้นที่เช่น ภูเก็ต ที่มีดีมานด์ของชาวต่างชาติมากกว่า 49% ทำให้ทุกอย่างติดขัดเหมือนเดิมทำให้กลับไปใช้วิธีเดิมก็คือ เป็น"ลิสโฮลด์" เช่าระยะยาว30ปี ต่อ30ปี
ส่วนข้อสอง คือการไม่ขยายระยะเวลาในการให้สิทธิชาวต่างชาติเช่าบ้านจัดสรรจากเดิม 30 ปี เป็น 50 ปี ตรงนี้จะมีผลให้ต่างชาติ"ขาด"ความเชื่อมั่นในการที่ต่างชาติจะมาลงทุนระยะยาวในประเทศไทยเพราะเป็นข้อจำกัด เนื่องจากต่างชาติต้องการเช่าระยะยาวแต่ทำไม่ได้
ส่วนข้อสาม การให้สิทธิชาวต่างชาติในการถือครองที่ดินเพื่ออยู่อาศัยไม่เกิน 1 ไร่ ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่โดนโจมตีเยอะ แต่ตามที่เสนอไปคือให้ถือครองในพื้นที่ของโครงการจัดสรร เพราะฉะนั้นเป็นจุดหนึ่งที่สามารถควบคุมการถือครองกรรมสิทธิ์ได้ดี
แต่หากไม่ได้รับการอนุมัติ ชาวต่างชาติก็คงจะใช้วิธีเดิมก็คือ ไปเช่าระยะยาว30ปี ก็กลับไปที่ข้อ2หรือกลับไปที่ข้อ1ก็คือไปหาซื้อคอนโด49%ที่ยังมีอยู่ กลับไปทำทุกอย่างเหมือนเดิม ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะไม่สนับสนุนต่อนโยบายที่ต้องการดึงชาวต่างชาติมาพำนักระยะยาว(Long Stay)เพราะ"ขาด"แรงจูงใจในเรื่องของการถือครองอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย