“กองทุนน้ำมันฯ” อั้นไม่ไหว ยื่น “คลัง” ลดภาษีสรรพสามิตร
ภายหลังทั่วโลกต่างต้องเจอกับปัญหาโควิด-19 มาเป็นเวลากว่า 2 ปี อีกทั้งการเมืองต่างประเทศ และปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมันผันผวนและพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ประเทศไทย ถึงแม้จะมีสัดส่วนการใช้น้ำมันไม่มาก แต่ด้วยปัจจัยที่ต้องอิงราคาน้ำมันเดียวกับตลาดโลก จึงทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในไทยที่คนไทยใช้มากสุดทะลุเกินกว่า 30 บาทต่อลิตรมาเป็นเวลานาน ซึ่งรัฐบาลใช้วิธีนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยขณะนี้อุดหนุนที่ 2.49 บาทต่อลิตร
และยิ่งไปกว่านั้น ราคาก๊าซ (แอลพีจี) ก็พุ่งสูงขึ้นเช่นกัน ทำให้กระทรวงพลังงานโดย คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน อนุมัติให้นำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาพยุงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ภาคครัวเรือนที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม โดยขยายระยะเวลาไปจนถึงสิ้นเดือนมี.ค. 2565
ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุด ณ วันที่ 16 ม.ค. 2565 เงินกองทุนติดลบ 8,782 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 15,340 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 24,122 ล้านบาท โดยกองทุนน้ำมันฯ มีเงินไหลออกจากการชดเชยราคาน้ำมันดีเซล 4,600 ล้านบาทต่อเดือน และชดเชย LPG รวม 1,900 บาทต่อเดือน รวมชดเชยรวมราว 6,500 ล้านบาทต่อเดือน
ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะต้องเตรียมแผนขอลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันนั้น ตามรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่แล้ว ซึ่งกองทุนน้ำมันฯ จะต้องรักษาสภาพคล่องของกองทุนฯ พร้อมทั้งประเมินนโยบาย รวมถึงแผนรับมือเพื่อไม่ให้กระทบทั้งเงินกองทุนฯและประชาชน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้เสนอแผนการขอปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กับนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อหารือกับนายสุพัฒนพงษ์ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้นในระดับใกล้เคียงกับ 87.50 ดอลลาร์ ที่ กบง.ประเมินไว้เป็นระดับที่ควรขอให้กระทรวงการคลังลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เพื่อลดผลกระทบเงินไหลออกของกองทุนน้ำมันฯ
“ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสงขึ้น การปรับลดภาษีน้ำมันจึงถือว่าอยู่ในเงื่อนไของกบง.ที่ว่าหากราคาน้ำมันดิบดูไบเกิน 87.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งขณะนี้ราคาใกล้เคียงมากแล้ว จึงต้องเร่งหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อรับมือ ซึ่งก่อนหน้านี้ กบง.ก็ได้เคยเสนอขอลดภาษีน้ำมันที่ 1-2 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันจัดเก็บที่ 5.99 บาทต่อลิตร แต่ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลัง”
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) กล่าวว่า กองทุนน้ำมันฯ ยังเดินตามขั้นตอนเงินกู้เหมือนเดิม เพราะผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากกระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อขอปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันได้โดยเร็ว ก็จะส่งผลดีต่อสถานะกองทุนน้ำมันฯ แน่นอน เพราะขณะนี้ ปัจจัยราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมีเหตุการณ์ต่างๆ ในต่างประเทศ หลายฝ่ายประเมิณว่าอาจเกิดภาวะวิกฤติด้านน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม ทางด้านนโยบายก็ต้องมองว่าถ้าราคาน้ำมันโลกจะปรับขึ้นทะลุเพดานที่ได้กำหนดไว้ ก็อาจจะต้องดำเนินการขอปรับลดภาษีน้ำมัน เพราะหากราคาน้ำมันตลาดโลกยิ่งปรับขึ้นสภาพคล่องของกองทุนก็จะส่งผลกระทบ จำนวนเงินไหลออกเร็วกว่าเดิมและตามตัวกรอบเดิมจะรองรับไหวอยู่หรือไม่ จึงต้องมองในหลายมิติ
“ในแต่ละเดือนเงินไหลออกจากกองทุนฯ ราว 6,000 ล้านบาท และหากราคาพลังงานยังสูงขึ้นจะส่งผลกระทบกับเงินกองทุนฯ ถึงแม้ว่าจะมีกระแสเงินสดอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท และถึงแม้ว่าจะได้เงินกู้ 20,000 ล้านบาท เข้ามาช่วย แต่ก็จะใช้พยุงราคาน้ำมันได้ไม่กี่เดือน หากลดภาษีลงก็อาจช่วยลดจำนวนเงินไหลออกได้ก้อนหนึ่ง เท่าที่ทราบหลายฝ่ายเห็นใจกองทุนฯ ที่เป็นเครื่องมือหลักที่นำมาช่วยเหลือแต่ก็มีข้อจำกัด”
นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงฯ ได้คาดการณ์การเข้าสู่ฤดูร้อนในช่วงเดือนมี.ค.2565 จำนวนการใช้พลังงานอาจลงลง ราคาพลังงานก็อาจจะปรับลงตามมาด้วย แต่สถานการณ์ทางการเมืองต่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกราคายังผันผวนก็ยังกระทบกับราคาน้ำมันในประเทศไทยอยู่ดี เพราะอิงกับราคาตลาดโลก แม้ประเทศไทยจะเป็นเซกเตอร์ที่จำนวนไม่มากก็ตาม
หรับความคืบหน้าในการกู้เงินก้อนแรก 20,000 ล้านบาท มีธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารกสิกรไทย ประสานมาทางสำนักบริหารการเงินเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจ และยังมีอีกหลายธนาคารได้เข้ามาดูข้อมูลในระบบเว็บไซต์ของกองทุนน้ำมันฯ ยืนยันชำระเงินภายในเวลา 3 ปี มั่นใจธนาคารต่างๆ จะยื่นข้อเสนอปล่อยเงินกู้กับกองทุนน้ำมันฯ แน่นอน โดยกองทุนฯ ได้กำหนดเวลายื่นถึงวันที่ 31 ม.ค.2565