“พลังงาน” คุยคลัง ลดภาษีดีเซล หลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 8 พันล้าน
“พลังงาน” คุย คลัง ขอลดภาษีดีเซล หลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบกว่า 8 พันล้านบาท ด้าน สอบ.จี้หยุดใช้เงินกองทุนฯ อุ้มดีเซล เห็นควรลดภาษีน้ำมันช่วยประชาชน
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานเตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง เพื่อขอพิจารณาลดภาษีน้ำมันดีเซล โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ก็ได้เคยเสนอลดภาษี 1-2 บาทต่อลิตร แต่ก็ได้ถูกปฏิเสธ แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ ปัญหาราคาแพงเกินคาดแล้ว ควรร่วมกันลดภาระให้กับประชาชน
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกยอมรับว่าในขณะนี้ราคาสูงเกินคาดการณ์ ทั้งปัญหาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด และปัญหาความไม่สงบในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปัญหายูเครน และล่าสุดตุรกีได้ระงับการลำเลียงน้ำมันผ่านท่อส่งที่เชื่อมต่อระหว่างตุรกีและอิรัก จากเหตุระเบิดที่ระบบการขนส่ง
ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะอุปทานน้ำมันตึงตัว กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องเข้าอุดหนุนราคาน้ำมันเพื่อดูแลราคาดีเซลในประเทศไทยเพื่อไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร มากกว่าที่ได้มีการคาดการณ์เดิม นอกจากนี้ กองทุนฯ ยังต้องดูแลราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) เพื่ออุดหนุนราคาที่ 318 บาท/ถัง ขนาดน้ำหนัก 15 กิโลกรัมไปจนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้สถานะกองทุนฯ ล่าสุด 16 มกราคา2565 ติดลบ 8,782 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 15,340 ล้านบาท และเงินบัญชีแอลพีจีติดลบ 24,122 ล้านบาท โดยจากผลกระทบต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้นทำให้เงินกองทุนน้ำมันไหลออกต่อเดือนกว่า 4,600 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้ประเมินราคาน้ำมินดิบดูไบไม่เกิน 87.50 บาทต่อดอลลาร์ ในกรณีที่จะดูแลราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ซึ่งในขณะนี้ราคาก็ใกล้เคียงแล้ว แต่ก็มีปัญหาอื่นเข้ามาทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าเกินคาดการณ์อีก ราคาไบโอดีเซล บี 100 ที่ทะลุ 60 บาทต่อลิตร โดยกองทุนฯ อุดหนุน 2.49 บาทต่อลิตร และภาษีสรรพสามิตจัดเก็บที่ 5.99 บาทต่อลิตร
ด้านสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยในเวทีการสัมมนา “ราคาน้ำมันพุ่ง ก๊าซหุงต้มแพง วิกฤตมหากาพย์ผู้บริโภค” ระบุว่า ราคาน้ำมันและแอลพีจี ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลพยายามตรึงราคาด้วยการใช้เงินกองทุนน้ำมันไปชดเชย ทำให้ฐานะกองทุนน้ำมันติดลบเกิน 8,700 ล้านบาทและเตรียมต้องกู้เงินมากถึง 2-3 หมื่นล้านบาทมาจัดการหนี้สินที่เกิดขึ้นนั้น
ดังนั้น จึงเสนอแนวทางดำเนินการ ไปยังรัฐบาล ได้แก่ คือ 1. ยกเลิกการกำหนดโครงสร้างราคาน้ำมันและแอลพีจีที่ผลิตในประเทศแต่ไปอิงราคาตลาดโลกและยังบวกค่าใช้จ่ายในการนำเข้าซึ่งเป็นต้นทุนเทียม เสมือนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศไปเสียทั้งหมด และ 2. ปรับลดภาษีน้ำมันให้เป็นธรรมกับภาวะค่าครองชีพของประชาชนและราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกที่สูงขึ้น