OTO มุ่งสู่ "เทคคอมพานี" ดันราคาหุ้นพุ่งติดจรวด
เริ่มต้นศักราชใหม่มาเกือบครบ 1 เดือน แต่ตลาดหุ้นไทยยังทรงๆ ไม่ไปไหน เนื่องจากยังมีปัจจัยถ่วงทั้งสถานการณ์โรคระบาดโควิด ภาคเศรษฐกิจยังอ่อนแอ กำลังซื้อหดหาย สวนทางราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น กดดันภาวะเงินเฟ้อ ขณะที่หลายประเทศเริ่มทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นหลายตัวที่ราคาปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องด้วยปัจจัยบวกเฉพาะตัว หนึ่งในนั้นมี บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ OTO ที่ไม่รู้ไปกินดีหมีมาจากไหน ราคาพุ่งแรงยิ่งกว่าติดจรวด เดินหน้าทำออลไทม์ไฮจ่อทะลุ 20 บาทเข้าไปแล้ว
ล่าสุด (21 ม.ค.) มาปิด 18.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาท หรือ 3.35% ดูแล้วสตอรี่สำคัญที่ดันราคาหุ้นติดเทอร์โบ คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจและกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ จากจุดเริ่มต้นในฐานะหนึ่งในสมาชิกครอบครัว บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ของตระกูลวิไลลักษณ์ ทำธุรกิจคอลเซ็นเตอร์
โดยเข้ามาโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 แต่หลังจากนั้นดูเงียบหายไป ไม่ค่อยมีสภาพคล่อง ก่อนที่จะกลับมาเปรี้ยงปร้าง! อีกครั้งเมื่อช่วงเดือยพ.ย. ปีที่ผ่านมา หลังกลุ่ม SAMART เทขายหุ้น OTO ยกพอร์ตให้กับกลุ่มทุนใหม่ 3 ราย ได้แก่ นายบุญเอื้อ จิตรถนอม, นายสุทธิพจน์ อริยสุทธิวงศ์ และนายณัฐพงศ์ ศีตวรรัตน์ มูลค่ารวม 464.88 ล้านบาท
การเข้ามาของทุนใหม่ต้องการปรับโครงสร้างธุรกิจมุ่งหน้าสู่ Digital ICT Solutions & Services และธุรกิจด้าน Utilities & Transportations ตามที่ได้มีการแจ้งไว้กับตลาดหลักทรัพย์ฯ กลายเป็นสตอรี่ใหม่ช่วยจุดพลุดันราคาหุ้น OTO พุ่งแรงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
หากย้อนดูราคาหุ้น OTO เมื่อปีที่ผ่านมา เริ่มเทคออฟตั้งแต่กลางปี หลังเริ่มมีกระแสข่าวขายกิจการเล็ดลอดออกมา ดันราคาหุ้นจาก 3 บาท ค่อยๆ ไต่ระดับขึ้นมาเรื่อยๆ จนแตะเลขสองหลัก ทะลุ 10 บาท ในเดือนต.ค. จากนั้นก็ใส่เกียร์เดินหน้าขึ้นมาตลอด
ขณะที่ผู้บริหารมีการฟอร์มทีมชุดใหม่ โดยแต่งตั้ง “คณาวุฒิ วรรทนธีรัช” นั่งเก้าอี้ซีอีโอ พร้อมแตกไลน์สู่ธุรกิจใหม่ โดยมอบให้บริษัทลูก บริษัท อินโน ฮับ จำกัด เป็นหัวเรือใหญ่ในการรุกเข้าสู่กลุ่มธุรกิจ New S-curve
ทั้งเข้าไปซื้อหุ้น 20% ในบริษัท บล็อคเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาและพัฒนาแพลตฟอร์มบล็อกเชนโซลูชั่น มูลค่ารวม 20 ล้านบาท เดินหน้าโปรเจค Social Bureau แพลตฟอร์มตรวจสอบอาชญากรรมบนบล็อกเชนแห่งแรกของโลก
โดยผู้เสียหายหรือคนที่แจ้งเบาะแสเข้ามาจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเหรียญคริปโทเคอร์เรนซีที่บริษัทจะสร้างขึ้น เรียกว่าเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าเข้าสู่ธุรกิจบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซีที่นาทีนี้กำลังร้อนแรงสุดๆ
สำหรับ “บล็อคเชน ไพรม์ โฮลดิ้ง” แม้จะจัดตั้งขึ้นมาได้ไม่นาน แต่ดูจากชื่อผู้บริหารแล้วน่าสนใจไม่น้อย โดยมี พ.ต.อ.ปองพล เอี่ยมวิจารณ์ อดีตรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าของฉายา “นายตำรวจสายคริปโทฯ” ที่สนใจเรื่องบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลมาตั้งแต่รับราชการ นั่งเป็นกรรมการผู้จัดการ
“ธุรกิจสุขภาพ” เป็นอีกธุรกิจที่บริษัทสนใจ โดยให้ “อินโน ฮับ” จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับ บริษัท อินเตอร์ ฟาร์มา จำกัด (มหาชน) หรือ IP เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพ และให้คำปรึกษาด้านเภสัชกรออนไลน์ หรือ Telepharmacy ตั้งเป้าว่าการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนน่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 นี้
ขณะที่ก่อนหน้านี้ “อินโน ฮับ” เข้าไปซื้อหุ้น 76% ในบริษัท อินไซท์ มีเดีย กรุ๊ป จำกัด ผู้ให้บริการเกี่ยวกับการผลิตสื่อโฆษณาในประเทศไทย และซื้อหุ้น 10% ในบริษัท ฮินซิซึ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำธุรกิจด้านการผลิตงานซิลค์สกรีนเนมเพลท ลาเบล สติ๊กเกอร์
ข่าวดีที่ปล่อยออกมาเป็นระยะ กลายเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี ดันราคาหุ้น OTO ทะยานขึ้นมาแบบไม่รู้จักเหน็ดไม่รู้จักเหนื่อย แถมล่าสุดยังมีอีกดีลที่น่าสนใจ หลังกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ OTO ซื้อหุ้นบิ๊กล็อตโบรกฯ เก่าแก่ บมจ.ทรีนีตี้ วัฒนา (TNITY) 23.24% แถมส่ง “คณาวุฒิ วรรทนธีรัช” ซีอีโอ OTO ไปนั่งในบอร์ดเรียบร้อย เตรียมพร้อมเข้าสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเต็มรูปแบบ
เห็นโครงสร้างธุรกิจที่ OTO ปูทางมาแล้วต้องบอกว่าน่าสนใจ ในการทรานฟอร์มองค์กรมุ่งสู่ “เทค คอมพานี” แต่สุดท้ายแล้วคงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าจะเปรี้ยงแค่ไหน?