สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง

สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง

ผู้บริโภคแบกรับของแพงหลังสินค้าปรับขึ้นราคา บางแบรนด์เลี่ยงไม่ขึ้นราคา แต่ปรับลดไซส์-ปริมาณสินค้า สหพัฒน์ ตรึงผงซักฟอก ยาสีฟัน มาม่า ราคาเดิม อิชิตัน-ลอรีอัล-ซอสภูเขาทอง แบกต้นทุนไหว แฟนต้าลดปริมาณ น้ำปลา น้ำมันพืชแพงขึ้น เครื่องซักผ้าต้นทุนเหล็กพุ่ง 300%

จับตาผู้ประกอบการ ทยอยขึ้นราคาสินค้า ปรับลดขนาด-ปริมาณลง หลังเผชิญภาวะต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น ยักษ์ใหญ่เครือสหพัฒน์ ตรึงราคาข้าวของจำเป็นทั้งมาม่า ยาสีฟัน ผงซักฟอก สบู่ฯ ด้านไทยเทพรส ยันไม่ปรับราคาขายแน่นอน แม้น้ำปลา 2 ยี่ห้อขอกรมการค้าภายใน ขึ้นราคาแล้ว อิชิตัน ลอรีอัล ย้ำนโยบายราคาไม่เปลี่ยนแปลงหวั่นกระทบผู้บริโภค น้ำอัดลมแฟนต้าลดไซส์ ขายราคาเดิม ขนมขบเคี้ยวปรับปริมาณ-ขึ้นราคา

ราคาน้ำมันโลกพุ่งในรอบ 7 ปี ซ้ำเติมสถานการณ์ซัพพลายเชนที่เลวร้าย การขนส่งระหว่างประเทศแพง ขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ กระเทือนต้นทุนสินค้าขยับ ขณะที่วิกฤติโควิดเริ่มคลี่คลาย ผู้คนกลับมาใช้ชีวิตปกติ หนุนความต้องการ(ดีมานด์)สินค้าและบริการเพิ่ม ปัจจัยดัน “ราคา” สินค้าแพง สวนทางค่าครองชีพลด

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่จำหน่ายในร้านค้า ห้างค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบราคาขึ้นหลายรายการ สินค้าบางหมวด แต่ปรับลดขนาด-ปริมาณลง ขายราคาเดิม หลังผู้ประกอบการเผชิญต้นทุนสูงขึ้น

++ไลอ้อน ตรึงราคาผงซักฟอก ยาสีฟัน น้ำยาล้างจานฯ

นายบุญฤทธิ์ มหามนตรี ประธานกรรมการ บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตผงซักฟอกเปา เอสเซ้นส์ ยาสีฟันซิสเท็มมา น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟฯ ในเครือสหพัฒน์ กล่าวว่า สถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวสูงขึ้นหลายรายการ อย่างผงซักฟอก วัตถุดิบหลักเผชิญทั้งปัญหาด้านราคาพุ่ง โดยเฉพาะสารลดแรงตึงผิวหรือ Surfactant ประเภทต่างๆ สารขจัดคราบช่วยให้การซักผ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันยังมีปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงมากในปีที่ผ่านมา หลังเกิดวิกฤติโรคโควิด-19ระบาด

สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง บุญฤทธิ์ มหามนตรี 

ทั้งนี้ บริษัทไม่มีนโยบายจะปรับขึ้นราคาสินค้า รวมถึงลดปริมาณ หรือขนาดสินค้าด้วย กระบวนการผลิตและจำหน่ายยังคงเหมือนเดิม แต่บริษัทพยายามหาวิธีบริหารจัดการภายในองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประหยัดการใช้จ่ายด้านต่างๆ เพื่อตรึงราคาสินค้าไม่ให้กระทบค่าครองชีพผู้บริโภค

“ไลอ้อน พยายามตรึงราคาสินค้าให้นานที่สุด แม้ว่าต้นทุนทุกตัวจะพุ่งขึ้นสูงมาก ทั้งยาสีฟัน ผงซักฟอก สบู่ฯ แต่บริษัทไม่มีการขึ้นราคา ซึ่งไม่ได้ขึ้นมาหลายปีแล้ว รวมถึงไม่มีการลดไซส์สินค้าด้วย อย่างไรก็ตามบริษัทหวังว่าสถานการณ์ต้นทุนการผลิตสินค้าจะไม่สูงมากกว่านี้”

ขณะที่ภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค ยังมีการแข่งขันกันดุเดือด ผู้ผลิตค่ายต่างๆโหมทำโปรโมชั่นไม่หยุดหย่อน และคาดการณ์ปีนี้จะเห็นทิศทางตลาดคล่องตัวขึ้น หลังจากปี 2564 ตลาดหดตัวอย่างน้อย 5%

++อิชิตัน-ไทยเทพรส-ลอรีอัล

แบกภาระต้นทุน อุ้มผู้บริโภค

นายธนพันธุ์ คงนันทะ รองกรรมการผู้จัดการสายงานธุรกิจเครื่องดื่ม บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อิชิตันยังไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้าขึ้น แม้ว่าสถานการณ์ต้นทุนบรรจุภัณฑ์บางรายการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

“เราพยายามตรึงราคา ไม่ให้ได้รับผลกระทบผู้บริโภคด้วยการปรับแผนบริหารการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

สำหรับต้นทุนหลักๆในการผลิตชาเขียว ได้แก่ ใบชาออแกนิก น้ำตาลฟรุกโตสและน้ำตาลทราย ซึ่งมีราคาผันผวน แต่เทรนด์ผู้บริโภครักสุขภาพทำให้ใช้ปริมาณน้ำตาลน้อยลง การเลือกวัตถุดิบยังซื้อจากผู้ผลิตรายใหญ่หลายรายเพื่อลดความเสี่ยงและได้ราคาที่เหมาะสม เป็นต้น

สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง แหล่งข่าวจากตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ตลาดผลิตภัณฑ์ปรุงรสมีผู้ประกอบการรายขอกรมการค้าภายใน(คน.) กระทรวงพาณิชย์ปรับขึ้นราคาน้ำปลา 2 แบรนด์ ขณะที่หนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่อย่างไทยเทพรส ที่มีสินค้าซอสปรุงรส ซีอิ๊วขาวแบรนด์ภูเขาทอง ซอสพริกแบรนด์ศรีราชาพานิชฯ ยืนยันว่าไม่มีนโนยายขึ้นราคาสินค้า เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่ผลิตสินค้ามีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าระยะยาว ทั้งนี้ หากภาพรวมต้นทุนยังสูงขึ้นต่อเนื่อง 2-3 เดือนข้างหน้า อาจต้องพิจารณาเรื่องราคาอีกครั้ง

รายงานข่าวจากบริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย ระบุว่า บริษัทนำเข้าสินค้าความงามทุกรายการจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น อินโดนีเซีย สเปน ฯ แม้ต้นทุนสินค้าจะพุ่ง แต่หลักๆมาจากสถานการณ์ซัพพลายเชน เทียบกับผู้ผลิตในประเทศเจอทั้งราคาวัตถุดิบ การขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ขณะที่ตลาดสินค้าจำเป็นบางหมวดมีการปรับไซส์ สำหรับลอรีอัล เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่พัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับช่องทางจำหน่าย และผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย โดยยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีการปรับราคาหรือไซส์สินค้าแต่อย่างใด สำหรับตลาดสินค้าความงามมีมูลค่าราว 2 แสนล้านบาท 

สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง

++มาม่าขาย 6 บาทเท่าเดิม

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ในเครือสหพัฒน์ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้นทุนการผลิตสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีวัตถุดิบหลักอย่างแป้งสาลีราคาพุ่งจากประมาณ 300 บาทต่อถุงขนาด 22.5 กิโลกรัม(กก) มาอยู่ที่ 450 บาทต่อถุง และน้ำมันปาล์มจากราคา 19 บาทต่อกก. มาอยู่ที่ 53-57 บาทต่อกก. โดยวัตถุดิบ 2 รายการ คิดเป็นสัดส่วน 70-80% ของการผลิตสินค้า

ทั้งนี้ แต่ละปีบริษัทมีการใช้วัตถุดิบจำนวนมาก เช่น น้ำมันปาล์มราว 35 ล้านกก. เมื่อต้นทุนต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้น จึงมีผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งกรณีน้ำมันปาล์มที่ขยับขึ้น ในห่วงโซ่การผลิตถือว่าเกษตรกรได้รับประโยชน์ ขณะที่แนวโน้มต้นทุนอีกตัวที่จะเพิ่มขึ้นคือการเก็บภาษีเอดีฟิล์มบีโอพีพี เพราะทำให้ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ปรับขึ้นตามไปด้วย ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการ

ส่วนภาพรวมต้นทุนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น บริษัทยืนยันจะตรึงราคามาม่าหลัก 3 รายการ ได้แก่ มาม่ารสหมูสับขนาด 60 กรัม มาม่ารสต้มยำกุ้งน้ำข้นขนาด 55 กรัม และมาม่าต้มยำกุ้งขนาด 55 กรัม ในราคา 6 บาท เช่นเดิม โดยราคาดังกล่าวไม่มีการปรับขึ้นตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งตราบใดที่สินค้าหลักจำหน่ายในราคาเดิมยังหาได้ในตลาด ไม่ควรมองเป็นการขึ้นราคา

ขณะที่สินค้าใหม่ทั้งรสชาติ ขนาด และราคา บริษัทจำเป็นต้องพัฒนาออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการแข่งขันในตลาด เพื่อแสดงศักยภาพขององค์กร เช่น การที่คู่แข่งมีสินค้ารสชาติ ขนาดใหม่ราคา 10 บาท มาม่า ต้องมีจำหน่ายเช่นกัน

สินค้าทยอยปรับราคา ระยะสั้นยอมตรึง ผู้บริโภครับแรงกระแทกค่าครองชีพพุ่ง

พันธ์ พะเนียงเวทย์

“บะหมี่ฯราคาเดิม 6 บาท ซึ่งเป็นสินค้าที่เป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเราต้องคงไว้ ไม่แตะเรื่องราคา แต่สินค้าใหม่ เวอร์ชั่นใหม่ทั้งรสชาติ ต้องมีการพัฒนาสู่ตลาดต่อเนื่อง แต่มาพร้อมกับต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นบะหมี่ฯราคา 50-60 บาท เพื่อแข่งขันในตลาด เป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคที่ทานสินค้าพรีเมียมมากขึ้น เช่นบะหมี่ฯเกาหลีซอง 30-40 บาท ช่วยทลายกำแพงด้านราคา”

++น้ำอัดลมปรับไซส์ ราคาเดิม

สแน็ค เครื่องซักผ้าขยับราคา

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เช่น ตั้งงี่สุน รายงานผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ได้ทยอยปรับราคาสินค้าขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันพืช สบู่ กระดาษชำระ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส น้ำปลา ครีมเทียม ขนมขบเคี้ยว ข้าวเกรียบเผือกมโนห์รา ขึ้นราคาจาก 10 บาท เป็น 11 บาท สำหรับช่องทางโมเดิร์นเทรด ฯ

นอกจากนี้ น้ำอัดลมให้ส่วนลดแก่ร้านค้าน้อยลง ซึ่งทำให้ซัพพลายเออร์มีกำไรมากขึ้น ส่วนร้านค้าจะได้ส่วนต่างกำไรลดลง สะท้อนการมีต้นทุนขายต่อหน่วยเพิ่มขึ้น จากการตรวจสอบ ร้านค้าให้ข้อมูลคือเป็นเป๊ปซี่ และบริษัท ซันโทรี่ เป๊ปซี่โค เบเวอเรจ (ประเทศไทย) จำกัด ยืนยันว่าบริษัทไม่มีการปรับเปลี่ยนราคาสินค้าแต่อย่างใด ส่วนน้ำอัดลมแฟนต้า ปรับลดปริมาณสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขวดแก้วจาก 422 มิลลิลิตร(มล.) เหลือ 375 มล. แต่จำหน่ายราคาปลีกเดิมที่ 9 บาท ถือเป็นการดำเนินการของบริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตน้ำอัดลมให้กับโคคา-โคล่า ซึ่งบริษัท โคคา-โคล่า(ประเทศไทย) จำกัด จะหารือกับผู้ผลิตต่อไป

 นายสุกรี กีไร ผู้จัดการฝ่ายขายอาวุโสประจำภูมิภาคอินโดไชน่า บริษัท อัลไลแอนซ์ ลอนดรี้ ซิสเต็มส์ แอลแอลซี ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าอบผ้าอุตสาหกรรม กล่าวว่า ราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น ส่งผลต่อวัตถุดิบผลิตเครื่องซักผ้า ทั้งเหล็ก เซมิคอนดักเตอร์ ค่าขนส่ง เป็นต้น ทำให้บริษัทปรับราคาเครื่องซักผ้าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564

“ต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มสูงมาก โดยเฉพาะราคาเหล็กพุ่งไป 300% เราจึงต้องแจ้งดิสทริบิวเตอร์ขอขึ้นราคา และจะขึ้นเพียงปีครั้ง เพราะเรามีการคำนวณต้นทุนให้ครอบคลุมแล้ว หากต้นทุนพุ่งกว่าที่คาดการณ์ บริษัทจะยอมแบกภาระไว้”

อย่างไร ภาวะต้นทุนพุ่งและการปรับราคาสินค้ามีความอ่อนไหว เพราะจะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค หลายบริษัทจึงไม่สะดวกให้ข้อมูล เช่น ยูนิลีเวอร์ เนสท์เล่ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ล็อกซเล่ย์ เถ้าแก่น้อย ฯ