อุตฯ อาหารตั้งเป้าปี 65 ส่งออกทำนิวไฮ 1.2 ล้านล้าน
3 องค์กรด้านอุตสาหกรรมอาหารเผยปี 2564 ส่งออกอาหารทำนิวไฮ 1.1 ล้านล้านบาท โต 11.8% หลังประเทศคู่ค้าผ่อนคลายความกังวลโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงคาดการณ์ปี 2565 ทำนิวไฮต่อเนื่อง 1.2 ล้านล้านบาท โต 8.4%
รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ระบุ การส่งออกสินค้าอาหารไทยในปี 2564 มีมูลค่า 1,107,450 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.8% คิดเป็นมูลค่า 34,890 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 11.5% ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดโลกของไทยลดลงมาอยู่ที่ 2.3% จาก 2.32% ในปี 2563 และอันดับประเทศผู้ส่งออกอาหารของไทยคงที่อยู่ในอันดับที่ 13 ของโลก การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ เนื่องจากความกังวลโควิด-19 คลายตัวลง ประเทศคู่ค้าผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ส่งผลทำให้สินค้าส่งออกที่มีตลาดในกลุ่มธุรกิจบริการร้านอาหารและโรงแรมปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับได้รับปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า ส่งผลดีต่อกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่เน้นผลิตเพื่อการส่งออก และปัจจัยที่ส่งผลทำให้การส่งออกอาหารในภาพรวมขยายตัวดี คือ ราคาสินค้าเกษตรวัตถุดิบอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับแนวโน้มการส่งออกสินค้าอาหารไทยปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 8.4% ซึ่งหากเป็นไปตามคาดจะเป็นสถิติส่งออกสูงสุดครั้งใหม่ จากความต้องการสินค้าในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง ทั้งร้านอาหารและโรงแรมค่อยๆ ฟื้นตัวหลังความกังวลโควิด-19 และเงินบาทอ่อนค่าส่งผลดีความสามารถการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม คาดว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ เงินเฟ้อ ทั้งที่มาจากราคาสินค้าเกษตร ราคาพลังงาน และค่าขนส่ง ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ต้นทุนสินค้าปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ ตลาดส่งออกอาหารของไทยปี 2564 เพิ่มขึ้นเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้น สหรัฐฯ แอฟริกา โอเชียเนีย และสหราชอาณาจักร โดยปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกอาหารอันดับที่ 1 ของไทย มีสัดส่วนส่งออก 24.5% มูลค่าการส่งออก 271,674 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน โดยเพิ่มขึ้นจากการส่งออกผลไม้สดและแป้งมันสำปะหลังเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ CLMV และญี่ปุ่น เป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 2 และ 3 โดยการส่งออกอาหารไปประเทศอินเดียที่ขยายตัวสูงถึง 220% จากการส่งออกน้ำมันปาล์มเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และแอฟริกาลดลงจากสินค้าทูน่ากระป๋องและข้าวเป็นสำคัญ
สำหรับสินค้าส่งออกหลัก 10 กลุ่มสินค้า คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มสินค้าโดยกลุ่มขยายตัวสูง ได้แก่ ข้าว ปลาทูน่ากระป๋อง น้ำตาลทราย กุ้ง และสับปะรด กลุ่มขยายตัวปานกลาง ประกอบด้วย 4 กลุ่มสินค้าหลัก ได้แก่ แป้งมันสำปะหลัง มะพร้าว เครื่องปรุงรส และอาหารพร้อมรับประทาน และ กลุ่มขยายตัวต่ำ คือ การส่งออกไก่ ที่ได้รับผลกระทบจากตลาดหลักอย่างญี่ปุ่นที่ยังคงมีมาตรการที่เข้มงวดในการเปิดประเทศ ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและร้านอาหารฟื้นตัวช้า กระทบต่อการส่งออกสินค้าไก่ของไทย