เงินฝากพุ่ง 14.89 ล้านล้านบาท สถาบันคุ้มครองเงินฝากแนะ กระจายลงทุน รับเสี่ยงเงินเฟ้อ
ยอดเงินฝากยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ณ พ.ย. 64 แตะ 14.89 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.68 แสนล้านบาท สถาบันคุ้มครองเงินฝากแจง ฝากเงิน 100% ให้ผลตอบแทนไม่พอกับเงินเฟ้อ แนะกระจายความเสี่ยงที่หลากหลาย
ผ่านมาครึ่งปีที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) หรือ DPA ปรับลดวงเงินคุ้มครองจาก 5 ล้านบาทเหลือ 1 ล้านบาท ต่อบัญชีต่อสถาบันการเงิน ซึ่งมีผลบังคับไปเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551
เมื่อพิจารณาจากยอดเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ณ เดือน พ.ย. 2564 ยอดคงค้างเพิ่มขึ้น 6.68 แสนล้านบาทแตะ 14.89 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะเงินฝากออมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะที่ 6.11 ล้านล้านบาทจากยอดเงินฝากของบุคคลธรรมดารวมที่ 8.47 ล้านล้านบาทของเงินฝากบุคคลธรรมดาเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่มียอดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ที่ 4.3 ล้านล้านบาทจาก 7.37 ล้านล้านบาทของยอดเงินฝากบุคคลธรรมดา
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในรอบปีที่ผ่านมาจะเห็นว่า ยอดเงินฝากเพิ่มขึ้นในอัตรา ที่ช้าลง จากข้อมูลเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ที่ยอดเงินฝากรวมเติบโตราว 3% เศษ จากปกติแต่ละปีที่เงินฝากจะเติบโต 3-6% ซึ่งการปรับลดวงเงินคุ้มครองอาจมีผลต่อการย้ายเงินจากธนาคารพาณิชย์ของเอกชนไปยังสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) หรืออาจมีการแตกบัญชีบ้าง
“ภาพใหญ่ไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินฝากจากธนาคารหนึ่งไปอีกธนาคารหนึ่งมากนัก แต่ที่น่าสนใจ คือจะเห็นผู้ฝากเงินมีทางเลือกหลากหลายรูปแบบเพิ่มเติม หมายถึง การลงทุนในหุ้น ทองคำ สินทรัพย์ดิจิทัล” นายทรงพล กล่าว
เงินฝากอาจจะไม่ใช่ทางเลือกเดียวอีกต่อไป เพราะผลตอบแทนหรืออัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ ทำให้การฝากเงินอาจมีผลตอบแทนจากดอกเบี้ยไม่ทันกับอัตราเงินเฟ้อในอีก 10 ปีข้างหน้า ดังนั้น จะเห็นหลายคนมีทางเลือกในการลงทุนต่างๆ ที่เห็นเยอะขึ้น คือการลงทุนในทองคำ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเติมขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนโดยมีพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ ตราสารหนี้ สินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องมีพื้นฐานที่ชัดเจน ซึ่งความเชี่ยวชาญในการลงทุนมีความแตกต่างกันระหว่างแต่ละบุคคล การจะเลือกการออมหรือลงทุนโดยกระจายความเสี่ยงไปในแต่ละประเภทอาจต้องดำเนินการโดยมีพื้นฐานชัดเจน เพราะการฝากเงินไว้ 100% อาจให้ผลตอบแทนไม่พอกับเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อถามถึงผลกระทบหลังการลดเพดานคุ้มครองเงินฝากนั้น “ทรงพล” กล่าวว่า ช่วงเปลี่ยนผ่านที่ลดความคุ้มครองจาก 5 ล้านบาท มาเป็น 1 ล้านบาทนั้น ประชาชนไม่ได้แตกตื่น เพราะหลายคนได้ช่วยอธิบายว่า การคุ้มครองเงินฝากมีเป้าหมายที่ 1 ล้านบาท มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสถาบัน สถาบันคุ้มครองเงินฝากตามพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากอยู่แล้ว
ขณะที่ผู้มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาท ก็มีสัดส่วนไม่เกิน 2% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด ซึ่งกลุ่มนี้มีการบริหารจัดการเงินฝากของตัวเองในการเลือกหาผลตอบแทนที่สูง โดยลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ อยู่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ผู้ฝากเงินที่มีเงินฝากน้อยกว่า 1 ล้านบาทมีสัดส่วน 98% แต่อัตราการเติบโตของเงินฝากทั้งสองกลุ่มใกล้เคียงกัน
แง่การดูแลประชาชนนั้น “ทรงพล” ย้ำว่า สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นหน่วยงานรัฐ จัดตั้งขึ้นหลังเกิดวิกฤติทางการเงินเมื่อปี 2540 ดังนั้น สถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงเป็นหน่วยงานหลักเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงินส่วนใหญ่กว่า 98% หากประชาชนฝากเงินกับสถาบันการเงินตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด คือ ธนาคารพาณิชย์ สาขาธนาคารต่างประเทศ บริษัทเงินทุน (บง.) บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (บค.) รวม 34 แห่ง สำหรับเงินฝากที่เป็นสกุลเงินบาท ไม่ว่าบัญชีออมทรัพย์ เงินฝากประจำ กระแสรายวัน หรือบัตรเงินฝาก จะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม
สำหรับบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก สมมติเกิดกรณีธนาคารหรือสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตหรือปิดกิจการ สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะทำหน้าที่คืนเงินให้กับผู้ฝากภายใน 30 วัน โดยโอนเงินเข้าบัญชีพร้อมเพย์ (PromptPay) หรือจะผูกบัญชีนี้ในอนาคตได้สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ผูกบัญชีดังกล่าวส่วนผู้ฝากเงินที่ไม่สามารถผูกบัญชี PromptPay เช่น ชาวต่างชาติ สถาบันคุ้มครองเงินฝากสามารถจ่ายคืนเงินเป็นเช็ค (Cheque) ได้
นอกจากนี้ อีกบทบาทของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก คือทำหน้าที่เป็น “ผู้ชำระบัญชี” ซึ่งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะรวบรวมและขายสินทรัพย์ของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนกับผู้ฝากเงินแต่ละรายเพิ่มเติมในอนาคตด้วย โดยรวบรวมทรัพย์สินของสถาบันการเงินที่ถูกปิดกิจการนั้น ออกขายเพื่อนำเงินมาเฉลี่ยคืนกับผู้ฝากเงินแต่ละรายเพิ่มขึ้น แม้กฎหมายกำหนดคุ้มครองเงินฝากไว้ที่ 1 ล้านบาทก็ตาม
"ด้วยวัตถุประสงค์หลักที่จัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้ฝากเงิน และเป็นผู้ชำระบัญชี กรณีสถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตและปิดกิจการ แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินไทยมีความแข็งแกร่ง สำหรับผู้ฝากเงินจะได้รับการคุ้มครองเงินฝากอย่างแน่นอน ขอให้ความมั่นใจเพื่อมิให้ผู้ฝากเงินมีความกังวลแต่อย่างใด" นายทรงพล กล่าว
ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังเป็นความท้าทายของประเทศทั่วโลก จึงอยากให้ระมัดระวังเรื่องการใช้เงิน ที่สำคัญคือ พิจารณาการออมและดูการลงทุนหลายรูปแบบ ด้วยพื้นฐานความรู้ที่สามารถบริหารความเสี่ยง เพราะแม้เศรษฐกิจจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ของโรคติดต่อได้ ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง