จับตา “ยูนิลีเวอร์” ทิ้งขายตรง อ่านใจ "เฮียฮ้อ" RS จ้องฮุบต่อยอดธุรกิจ
เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับ “บิ๊กดีล” ของ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” แม่ทัพใหญ่แห่ง อาร์เอส กับ “ยูนิลีเวอร์” ยักษ์ใหญ่และ “เบอร์ 1” สินค้าอุปโภคบริโภคของโลก กับการเจรจาซื้อขายกิจการครั้งสำคัญ
ทั้งนี้ ดีลการซื้อกิจการครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่ “ธุรกิจขายตรง” ของยูนิลีเวอร์ ในประเทศไทย หลังทำตลาดมาราว 22 ปี
สำหรับ “ยูนิลีเวอร์” ทำธุรกิจในประเทศไทยมายาวนานถึง 88 ปี มีสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นที่รู้จักในตลาดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บรีส ซิตร้า เคลียร์ คอมฟอร์ท โดฟ ลักษ์ โอโม ไลฟ์บอย ซันไลต์ คนอร์ วอลล์ เป็นต้น เรียกว่าหลายแบรนด์อยู่ในครัวเรือนของผู้บริโภคชาวไทยนับล้าน ยิ่งกว่านั้น แบรนด์ส่วนมากยังเป็น “ผู้นำตลาด” หรือหากเป็นผู้ตาม ก็ไม่หลุดอันดับไกลนัก ล้วนเกาะกลุ่มผู้นำทั้งสิ้น
สินค้าอุปโภคบริโภคครองใจกลุ่มเป้าหมายชาวไทย ขณะที่ “ธุรกิจขายตรง” ยังต้องใช้สรรพกำลังในการทำตลาด สร้างแบรนด์ และยอดขายให้เติบโตทัดเทียมกับ “คู่แข่ง” ทั้งแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลก ในสังเวียนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแอมเวย์ กิฟฟารีน นูสกิน ยูนิซิตี้ คังเซ็น เคนโก เป็นต้น
ยูนิลีเวอร์ ก่อตั้งธุรกิจขายตรงในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543 จวบจนปัจจุบันมีอายุ 22 ปี เส้นทางของธุรกิจขายตรงไม่ง่ายและบริษัทมีการปรับเปลี่ยนแบรนด์ แผนงานกลยุทธ์ เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมาย และต่อกรกับคู่แข่งในตลาด จากจุดสตาร์ทใช้ชื่อ “อาวียองซ์” แต่ปี 2556 ได้ปรับเปลี่ยนเป็น “ยูนิลีเวอร์ เน็ทเวิร์ค” อยู่ภายใต้เงาของ “ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง” เพื่ออาศัยแต้มต่อแบรนด์ระดับโลก ในการสร้างแบรนด์ ทำตลาด ครองใจกลุ่มเป้าหมาย
ทว่า บริษัทต้องรีแบรนด์อีกครั้งมาสู่ “ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์” ที่ต้องการทรานส์ฟอร์ม หรือเปลี่ยนเพื่อทั้งชีวิตให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นด้านผลิตภัณฑ์ ซึ่งมี 4 กลุ่ม ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณแบรนด์ "อาวียองซ์" ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและดูแลสุขภาพแบบองค์รวม “บียอนด์” ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากและฟัน “ไอเฟรช” และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดภายในบ้าน “ลีเวอร์โฮม”
นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ด้านรายได้ด้วยแผนธุรกิจขายตรงที่สร้างผลตอบแทนให้กับนักธุรกิจ และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ
ธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์ ปรับมาหลายกระบวนท่า แต่ดูเหมือนยังไม่โตโดดเด่นมากนัก เมื่อเทียบกับแบรนด์อื่นๆ ขณะที่ความเคลื่อนไหวทางการตลาด การพัฒนาสินค้า ไม่ได้เห็นการออกอาวุธ “เชิงรุก” มากนัก
อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวอาร์เอสเข้าซื้อกิจการขายตรงของยูนิลีเวอร์มีมูลค่าดีลออกมาที่ 900 ล้านบาท หากเทียบทั้งอาณาจักรของ “ยูนิลีเวอร์” ในประเทศไทยแล้ว ยังห่างไกลธุรกิจหลักคือสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างมาก เพราะแต่ละปีทำยอดขาย “หลายหมื่นล้านบาท” และ “กำไรสุทธิ” หลัก “หลายพันล้านบาท”
หากมองความเป็นไปได้ กรณีที่ “ยูนิลีเวอร์” จะทิ้งธุรกิจขายตรงที่โตต่อยาก เพื่อนำทรัพยากรที่มีทั้งทีมงาน งบประมาณการตลาด ฯไปโฟกัสธุรกิจหลัก จึงมีอยู่ไม่น้อย
เกม Win-win ของอาร์เอส หากฮุบ “ขายตรง” ของยูนิลีเวอร์ได้สำเร็จ มีอยู่มากมายมหาศาล สำหรับ “เฮียฮ้อ สุรชัย” นักธุรกิจที่มองเห็น “โอกาส” ในการต่อจิ๊กซอว์ให้กับโมเดลธุรกิจ “เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ” รวมถึงธุรกิจขายตรงชั้นเดียวที่เพิ่งปลุกปั้นเมื่อปี 2564 ภายใต้ชื่อ Exclusive Distribution Network หรือ EDN ที่ปัจจุบันจำหน่ายสินค้าของเครือ เช่น well u ในรูปแบบช่องทางเอ็กซ์คลูสีฟ
อย่างไรก็ตาม ประเด็นอาร์เอสเจรจาซื้อธุรกิจขายตรงของยูนิลีเวอร์ มีรายละเอียดมากน้อยเพียงใด “เฮียฮ้อ สุรชัย” ตอบสั้นๆที่ไม่ได้คำตอบว่า “พูดไม่ได้จริงๆ”
ทว่า แนวทางการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุน หรือเทคโอเวอร์นั้น ไม่ได้มองว่าคู่ค้าจะขายอะไร และไม่มองว่าบริษัทจะทำอะไร แต่มอง “เป้าหมาย” ในการนำมาต่อยอดอะไร เพื่อเจรจาเงื่อนไขที่เหมาะสม
“เรามองเป้าหมายจะนำธุรกิจมาต่อยอดอะไร”
วิทวัส เวชชบุษกร - สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์
ด้าน วิทวัส เวชชบุษกร กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS ฉายภาพว่า อาร์เอสทำธุรกิจขายตรงชั้นเดียวผ่าน EDM โดยเริ่มคิกออฟเมื่อปี 2564 มีสมาชิกสนใจทำธุรกิจหลัก “พันราย” และทำรายได้หลัก “ร้อยล้านบาท”
ทั้งนี้ หากมอง “โอกาส” จากธุรกิจขายตรง บริษัทยังเชื่อว่ามีการเติบโตได้ หากมีโมเดลธุรกิจที่เหมาะสม และ “ปรับ” ให้มีความทัยสมัยตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย
สำหรับคอนเซ็ปต์ธุรกิจของ EDM จะมีพันธมิตรซึ่งคล้ายกับ “ยูนิลีเวอร์ ไลฟ์” ที่ความสำเร็จมาจากพาร์ทเนอร์คนสำคัญ นอกจากนี้ EDM ไม่ได้วางกฏให้สมาชิกต้อง “สต๊อกสินค้า” เพื่อไปจำหน่าย ขณะเดียวกันยังมีการเทรนนิ่งหรืออบรมให้กับสมาชิกด้วย
“ธุรกิจขายตรงเป็นโมเดลหนึ่งที่สร้างการเติบโตได้ แต่ต้องปรับโมเดลให้ทัยสมัยมากขึ้น ส่วนโมเดล EDM สามารถเติบโตได้ ซึ่งจะถูกนำไปใช้กับการจำหน่ายสินค้าใหม่ๆของเครือด้วย และถือเป็นอีกแพลตฟอร์มที่พยายามต่อยอดนอกจากขายสินค้าผ่านทีวี คอลเซ็นเตอร์”
ข้อมูลจากสมาคมการขายตรงไทย ระบุว่า ปี 2564 ตลาดรวมมีมูลค่าราว 70,000 ล้านบาท โดยครึ่งปีมีการ “หดตัว” 5%
กระแส “อาร์เอส” เข้าซื้อกิจการขายตรงของ “ยูนิลีเวอร์” บริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าวยังมีผลต่อราคาหุ้น RS ปิดที่ 20.30 บาท บวก 0.50 บาท หรือคิดเป็น 2.53% สวนทางภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้(24 ม.ค.65)ปิดที่ระดับ 1,640.54 จุด ลบ 12.19 จุด หรือ 0.74 % โดยระหว่างวันดัชนีเคลื่อนไหวสูงสุดที่ระดับ 1,654.99 จุด และต่ำสุดที่ระดับ 1,639.14 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 76,771.10 ล้านบาท ซึ่งการที่ตลาดหุ้นไทยปิดร่วงเป็นไปตามตลาดหุ้นต่างประเทศ