CKP เปิดแผนโตก้าวกระโดด รุกพลังงานหมุนเวียนใน-ตปท. ปักธง ปี67 แตะ 4.8 พันเมก
CKP เปิดแผนโตก้าวกระโดด เดินหน้ารุกลงทุนพลังงานหมุนเวียนทั้งใน-ต่างประเทศ ตั้งเป้า 3 ปีข้างหน้า (65-67) เพิ่มอีก 2,800 เมกะวัตต์ เป็น 4,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2567
พลันที่...! การประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ “COP 26” ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ได้มีมติเห็นชอบในข้อตกลง “Glasgow Climate Pact” ด้วยการที่ประเทศต่างๆ ตัดสินใจร่วมมือกัน เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส และ กำหนดให้ปี 2563 เป็นปีเริ่มต้นเดินหน้าภารกิจสำคัญ “แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน”
สอดคล้องกับ “เป้าหมาย” ของรัฐบาลไทยที่จะมุ่งสู่สังคมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ! เมื่อเทรนด์ของโลกหันมาสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียน” และเป็น “โอกาส” อีกมหาศาล สะท้อนผ่านคาดการณ์ “ความต้องการ” (ดีมานด์) พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอีก “เท่าตัว” ภายใน 20 ปีข้างหน้า
และหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ ที่กำลังได้รับปัจจัยบวกจากประเด็นดังกล่าว คงต้องยกให้ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP ของ “กลุ่มตรีวิศวเวทย์” ที่มีประสบการณ์ยาวนานในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งการเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีระดับคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่ำที่สุดรายหนึ่ง ซึ่งทำให้บริษัทมีส่วนที่จะช่วยสนับสนุนเรื่อง “การลดคาร์บอนของประเทศไทย” เพื่อช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนด้วยเช่นกัน
ธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP เล่าให้ฟังว่า จากการร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนของโลก ทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ เข้ามาอีกมหาศาลต่อธุรกิจของบริษัท โดยบริษัทวางเป้าหมายผลงานในอนาคตเติบโตแบบ “ก้าวกระโดด” ด้วยกลยุทธ์การขับเคลื่อนลงทุนธุรกิจใหม่ 6 โครงการ เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ สะท้อนผ่านแผนเบื้องต้นมองการลงทุนในต่างประเทศ 3 โครงการ ซึ่งทุกโครงการลงทุนจะใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และ พลังงานลม
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 บริษัทยังมองหาโอกาสการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และยังคงเป็นการดำเนินการพัฒนาและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างๆ รวมถึงศึกษาโอกาสทางด้านการลงทุนในโครงการไฟฟ้าที่เป็นพลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาดทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อให้ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
“ซึ่งปัจจุบันมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้นอย่างมหาศาลจากการดิสรัปชันทั่วโลก ที่มุ่งเป้าสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และจุดยืนของ CKP ในฐานะหนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค ประเด็นดังกล่าวเอื้ออำนวยให้เราได้รับประโยชน์จากเทรนด์การผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคตอย่างเต็มที่ อีกทั้งยังได้เปิดโอกาสให้เราได้ร่วมสนับสนุนนโยบายการลดคาร์บอนเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม”
สะท้อนผ่านแผนลงทุนในระยะ 3 ปีข้างหน้า (2565-2567) บริษัทมุ่งเน้น “ขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า” เพิ่มอีก 2,800 เมกะวัตต์ รวมเป็น 4,800 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ทั่วโลกมีทิศทางหันไปผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น
“กำลังการผลิตใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 6 โครงการ เป็นการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยกำลังการผลิตติดตั้งใหม่ทั้งหมดจะมาจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ และพลังงานลม”
นอกจากนี้ ในแผนธุรกิจระยะ 5 ปีข้างหน้า (2565-2569) บริษัทวางเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 95% ของไฟฟ้าที่บริษัทผลิตทั้งหมดมาจากการใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก แบ่งเป็น “พลังงานแสงอาทิตย์” เพิ่มอีก “10เท่าตัว” หรือราว 330 เมกะวัตต์ “พลังงานลม” เพิ่มอีก “2เท่าตัว” กลายเป็น 700 เมกะวัตต์
ณ ปัจจุบันบริษัทลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในโรงไฟฟ้า 3 ประเภท ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังน้ำ โรงไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น และโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ แบ่งเป็นการลงทุนในบริษัทย่อยและบริษัทร่วม รวม 7 บริษัท ดังนี้ “การลงทุนในโรงไฟฟ้าที่เป็นบริษัทย่อย” รวม 3 บริษัท
อย่างไรก็ตาม หากมองปัจจัยที่เข้ามาส่งเสริมให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การที่รัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันมากยิ่งขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน ในฐานะเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแต่ละประเทศ นอกเหนือไปจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
ขณะที่ ในส่วนของภาพรวมอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าของเมืองไทยนั้น ปัจจุบันแนวโน้มผู้ผลิตไฟฟ้าในเมืองไทยมีการลงทุนในโครงการไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นกว่าเดิม สะท้อนผ่านเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นแนวทางการลงทุนของ CKP ที่เป็นผู้ประกอบการมีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะการลงทุนและพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) บริษัทไม่ได้รับผลกระทบต่อการดำเนินงาน รวมถึงการผลิตและขายไฟฟ้าอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริษัทมีสัญญาการขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ กลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม โดยกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมของบริษัทมีการกระจายตัวอยู่ในหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจอยู่แล้ว
เขา บอกต่อว่า สำหรับผลดำเนินงานในช่วง 9 เดือน ปี 2564 บริษัทสามารถทำ “กำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัติการณ์” อยู่ที่ 2,056.47 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 397 ล้านบาท และมีรายได้อยู่ที่ 6,905 ล้านบาท โดยการเติบโตของผลการดำเนินงานมาจากรายได้จากการขายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำงึม 2 จำนวน 998.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบริษัทมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงสำหรับการดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยมีอัตราตราส่วนหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่ต่ำเพียง 0.67 เท่า ขณะเดียวกันก็มีงบดุลที่แข็งแกร่ง พร้อมกระแสเงินสดที่เข้ามาสม่ำเสมอจากสัญญาจำหน่ายกระแสไฟฟ้าระยะยาวที่ทำกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ท้ายสุด “ธนวัฒน์” บอกไว้ว่า การที่รัฐบาลและบริษัทขนาดใหญ่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันมากยิ่งขึ้นถึงความจำเป็นเร่งด่วนของการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน จะส่งผลให้เราได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากเทรนด์ของโลกให้เกิดการผลิตไฟฟ้าแห่งอนาคต