ของแพง.. ค่าแรงไม่ขึ้น ทำไมการ "ขึ้นค่าแรง" ในไทยถึงเป็นเรื่องยาก

ของแพง.. ค่าแรงไม่ขึ้น ทำไมการ "ขึ้นค่าแรง" ในไทยถึงเป็นเรื่องยาก

ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง นำมาสู่การตั้งคำถามถึง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ที่แทบไม่พอต่อการดำรงชีพ ขณะที่ฝั่งภาครัฐ ชี้แจงสาเหตุที่ปรับขึ้นค่าแรงไม่ได้ เป็นเพราะปัจจัยทางโครงสร้างของ “เศรษฐกิจไทย” คำถามคือ เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้นขนาดนั้นจริงหรือ ?

บรรยากาศประเทศไทยเริ่มต้นปี 2565 มาด้วยข่าวการปรับ “ขึ้นราคา” ของสินค้าหลายชนิด โดยเฉพาะ “เนื้อหมู” ที่ปรับขึ้นสูงจากปลายปี 2564 ประมาณ 20-25 บาท มีผลให้ราคาอาหารสำเร็จรูป และราคาอาหารตามสั่งต้องปรับตัวขึ้นตามไปด้วย ผลักให้ค่าครองชีพของคนไทยพุ่งขึ้น ทั้งที่ “รายรับ” ยังคงเท่าเดิม 

ประเด็นดังกล่าว นำมาซึ่งกระแสในโลกโซเชียลสู่แฮชแท็ก “แพงทั้งแผ่นดิน” และถกกันร้อนแรงถึงเรื่อง “ค่าแรงขั้นต่ำ” ของไทยที่ขยับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ไม่ทันกับการถีบตัวสูงขึ้นของ “ค่าครองชีพ” 

อย่างไรก็ตาม ในงานแถลงข่าว Meet the press ครั้งที่ผ่านมา (11 ม.ค.)  ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นกับประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำว่า ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบาง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่กลับมาอยู่ในระดับปกติ 

  •   เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจริงไหม?  

คำกล่าวของผู้ว่าฯ นั้นไม่ได้ผิดนัก เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour-intensive industries) และ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ซึ่งรวมไปถึงวิสาหกิจรายย่อย (Micro Enterprises) ทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำไม่ต่างอะไรจากการเพิ่มต้นทุนการผลิต 

แม้ในปีนี้จะมีความหวังว่า ไทยจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างช่วงก่อนวิกฤติโควิด-19 แต่ในปัจจุบันเศรษฐกิจก็ยังถือว่าอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากขนาดมูลค่ายังต่ำกว่าช่วงสิ้นปี 2562 หรือก่อนเกิดวิกฤติฯ 

แนวคิดเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จึงถูกประเมินว่า จะเป็นการซ้ำเติมให้การดำเนินธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ยากลำบากไปกว่าเดิม โดยเฉพาะธุรกิจกลุ่ม MSMEs ที่มีสัดส่วนการจ้างแรงงานที่ได้รับค่าแรงขั้นต่ำในสัดส่วนที่สูง รวมถึงอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ถึงแม้ว่าจะเป็นการปรับเพียงค่าแรงขั้นต่ำ แต่ค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นจะมีผลให้ค่าแรงของแรงงานทั้งหมดเพิ่มขึ้นไปด้วย 

  •   “อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น-MSMEs” ปัจจัยทางโครงสร้างรั้ง “ค่าแรงขั้นต่ำ”  

จากการวิเคราะห์ผลกระทบในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2556 และ 2561 พบผลสรุปที่ตรงกันว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ซึ่งยังหมายรวมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro-entrepreneurs, Small and Medium-sized Enterprises : MSMEs) ด้วย 

MSMEs ถือเป็นภาคธุรกิจที่มีความสำคัญกับประเทศเป็นอย่างมาก โดยจากข้อมูลทางสถิติ พบว่า ในปี 2562 มูลค่าทางเศรษฐกิจของ MSMEs ทั้งประเทศเท่ากับ 5.96 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 35.3% ของ GDP รวม 

นอกจากนี้ ยังเป็นภาคส่วนที่หนุนภาคส่งออกของประเทศ โดยมีสัดส่วนการส่งออกในปี 2562 เท่ากับ 13.42% ของมูลค่าทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ประการที่สำคัญที่สุดของ SMEs คือการเป็นภาคส่วนที่ครองตำแหน่งการจ้างงานสูงสุดที่ 12.06 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 69.48% ของการจ้างงานทั้งหมด 

การจ้างแรงงานในสัดส่วนที่สูงนั้นได้สะท้อนถึงต้นทุนค่าแรงที่ธุรกิจต้องแบกรับ จึงเป็นเหตุให้ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

จากตัวเลขผลกระทบของการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดปี 2561 พบว่า การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่ระดับอัตรา 1% จะมีผลให้ค่าแรงเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.31% และส่งผลกระทบไปยังต้นทุนของภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้นด้วยขนาด 0.27% นอกจากนั้น ยังมีผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นด้วยตัวเลข 0.18% 

แม้ว่าตัวเลขผลกระทบข้างต้นจะดูเหมือนไม่สูงมากนัก แต่หากเทียบกับต้นทุนค่าแรงที่หลายธุรกิจต้องแบกรับในแต่ละเดือน ประกอบกับช่วงที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะชะลอตัวเช่นนี้ อาจมีผลให้หลายธุรกิจเลือกที่จะเลิกจ้างแรงงานบางส่วน เพื่อลดต้นทุนลง ซึ่งจะมีผลให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ ตามมา

อีกประการหนึ่ง ประเทศไทยมีโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่พึงพารายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่เมื่อโควิด-19 ทำให้ภาคการท่องเที่ยวยังไม่สามารถกลับมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้เครื่องยนต์หลักตกเป็นของภาคการส่งออก

ซึ่งไทยที่ยังคงเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าทุนและเทคโนโลยีในสัดส่วนที่ต่ำ ตรงกันข้ามกับสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นในการผลิตซึ่งส่งออกด้วยสัดส่วนที่สูงกว่า 

ฉะนั้น การมีค่าแรงที่ต่ำจะช่วยให้สินค้าไทยที่ส่งออกไปขายต่างประเทศนั้นยังมีราคาถูก เกิดแรงจูงใจในการซื้อสินค้าไทยเพิ่มมากขึ้น เป็นผลดีต่อภาคการส่งออกไทยสร้างรายได้มากขึ้น และขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้ การตรึงหรือชะลอการขึ้นของค่าแรงไว้ ยังจะช่วยสกัดราคาสินค้าไม่ให้สูงไปมากกว่านี้ นับเป็นการบรรเทาแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้ 

แม้ว่าการเพิ่มค่าแรงจะมีส่วนช่วยให้อำนาจซื้อของแรงงานเพิ่มขึ้น และนำมาซึ่งการบริโภคภายในและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ แต่จากปัจจัยทางโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่กล่าวไป จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การคงระดับค่าแรงขั้นต่ำไว้ จะช่วยให้เครื่องยนต์หลักมีศักยภาพที่ดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และพาให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาได้ 

พอมาถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวว่าเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของแรงงานไทย เพราะการฟิ้นตัวของเศรษฐกิจนั้นมีราคาที่ตนต้องร่วมจ่ายด้วยความยากลำบากอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

---------------------------------------

อ่านเพิ่มเติม 

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของไทยปี 2561 : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นไปอย่างจำกัดจริงหรือ - ประชาชาติธุรกิจ 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากนโยบายค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท - สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 

พฤติกรรมการส่งออกแบบสองขั้วของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยไทย - ดวงดาว มหากิจศิริ และ วิศรุต สุวรรณประเสริฐ

รายงานสถานการณ์ SME - สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

10 ปีอุตสาหกรรมไทย เรามาไกลแค่ไหน ชุติกา เกียรติเรืองไกร, พรชนก เทพขาม และ วัชรินทร์ ชินวรวัฒนา