“เกษตร”เล็งขอ2.9พันล้าน ฟื้นผลกระทบ“อหิวาต์สุกร”
“เฉลิมชัย” นัดหารือเวียดนาม 3 ก.พ.นี้ ก่อนนำข้อมูลวางแผนกำหนดงบฟื้นฟูผลกระทบ “ASF ” ปศุสัตว์ของบกลาง 2.9 พันล้าน
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยหลังประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแห่งชาติ ว่า จากการผลการตรวจพบการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ตั้งแต่วันที่ 10-25 ม.ค.2565 พบการระบาด 13 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม (โรงฆ่า) กรุงเทพฯ สุพรรณบุรี พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ศรีษะเกษ ขอนแก่น ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และหนองบัวลำภู
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะหารือกับหลายประเทศที่เคยประสบปัญหาการระบาดของ ASF เช่น จีน เวียดนาม และจากนั้นจะวางแผนและกำหนดวงเงินฟื้นฟูได้ ซึ่งเบื้องต้นกรมปศุสัตว์เสนอขอใช้ใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2565 เพื่อป้องกัน ASF วงเงิน 2,937 ล้านบาท เพื่อฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายย่อย
“วันที่ 3 ก.พ.นี้ ปศุสัตว์จะหารือกับจีน เวียดนาม และหลายประเทศที่เคยมีปัญหา ASF แต่ผ่านมาได้เพื่อหารือวิธีการแก้ปัญหาแล้วนำโมเดลความสำเร็จมาปรับใช้ในไทย หลังจากนั้นจะทำแผนและเสนอของงบประมาณ ส่วนการตรวจการระบาดในจังหวัดอื่น กรมปศุสัตว์ดำเนินการต่อเนื่อง มีการแจ้งก็ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างตรวจเชื้อก่อนยืนยันว่าระบาดจุดไหน”
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า การตรวจพบเชื้อ ASF ใน 13 จังหวัด ไม่ได้ประกาศเป็นเขตโรคระบาดทั้งจังหวัด โดยจะประกาศเป็นจุดและตีวงในรัศมี 5 กิโลเมตร เพื่อควบคุมโรคและไม่ให้มีการแตกตื่น
รายงานข่าวแจ้งว่า 13 จังหวัดที่ตรวจพบ ASF มีสุกรป่วยสะสม 445 ตัว ตายสะสม 202 ตัว และทำลายสุกรไปแล้ว 425 ตัว ซึ่งการระบาดของ ASF ส่งผลให้เกษตรกรรายย่อยได้รับผลกระทบ โดยล่าสุดมีผู้เลี้ยงสุกรในไทย 107,157 ราย ลดลง 43.35% จากปี 2564 ที่มีเกษตรกร 189,152 ตัว
ทั้งนี้ ในที่ประชุมกองส่งเสริมและพัฒนาการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ได้รายงานแผนและแนวทางในการพื้นฟูการเลี้ยงสุกรรายย่อย-เล็ก และพื้นฟูการเลี้ยงหมู เพื่อให้สถานการณ์ในประเทศกลับสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด โดยเตรียมของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปีงบประมาณ 2565 เพื่อป้องกัน ASF วงเงิน 2,937 ล้านบาท แบ่งเป็น กิจกรรมฝ้าระวังและป้องกัน 1,482 ล้านบาท และกิจกรรมส่งเสริมและพื้นฟูผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก-ย่อย วงเงิน 1,455 ล้านบาท
นอกจากนี้ต้องเตรียมวงเงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 45,000 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินสำรองให้เกษตรกรได้ใช้ประกอบอาชีพ