ฟาร์มหมู ’ตรึง’ ราคา 110 บาทรับตรุษจีน.

ฟาร์มหมู ’ตรึง’ ราคา 110 บาทรับตรุษจีน.

สมาคมผู้เลี้ยงหมูช่วยตรึงราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม 110 บาท/กก. ส่งผลให้เนื้อหมูขายในห้างไม่เกิน 185 บาท จนถึงสิ้นเดือนก.พ หวังช่วยลดค่าใช้จ่ายของเซ่นไหว้ช่วงเทศกาลตรุษจีน จี้รัฐดูแลลักลอบนำเข้าหมู

อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย ระบุ จากการประชุมร่วมกันของผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศ มีมติให้รักษาระดับราคาจำหน่ายสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเกษตรไว้ที่ไม่เกิน 110 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 โดยราคาจำหน่ายปลีกเนื้อสุกรชิ้นส่วนสะโพก หัวไหล่ ในห้างค้าปลีกราคา 175-185 บาทต่อกิโลกรัม ด้านการหารือร่วมกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และกลุ่มฟาร์มสุกรครบวงจร โรงเชือดและแปรรูปสุกร เห็นชอบให้ความร่วมมือกับกรมการค้าภายใน เพื่อยืนราคาสุกรขุนไว้เช่นนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นเดือน ก.พ. 2565

“ผู้เลี้ยงหมูทุกคนพร้อมใจกันคงราคาหมูเป็นไว้ที่กิโลกรัม 110 บาท เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในเทศกาลตรุษจีนที่พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีน จำเป็นต้องใช้ผลิตภัณฑ์เนื้อหมูเป็นของไหว้เจ้า เพื่อร่วมลดรายจ่ายของประชาชน”

นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน Lot16 จำหน่ายหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 150 บาท ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เนื่องจากเกษตรกรเข้าใจประชาชนไทยในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ขณะเดียวกันก็ไม่อยากตกเป็นจำเลยสังคม ว่าเป็นสาเหตุของปัญหาราคาเนื้อหมูที่แพงขึ้น ทั้งที่ทุกคนร่วมกันรักษาราคาหน้าฟาร์มไว้เป็นสัปดาห์ที่ 3 แล้ว จึงไม่อยากให้มีการฉวยโอกาสปรับเพิ่มราคาขายปลีกเนื้อหมู ซึ่งเป็นการผลักภาระให้กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม ผู้เลี้ยงกำลังเร่งปรับปรุงฟาร์มกลับเข้าเลี้ยงสุกรรอบใหม่ เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตสุกรเข้าระบบให้เร็วที่สุด โดยเกษตรกรยังคงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโรคระบาดในสุกร ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุนหรือเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูการผลิตให้พร้อมที่สุด ด้วยระบบการจัดการและการป้องกันโรคตามมาตรฐานของกรมปศุสัตว์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเลี้ยง และสร้างความเชื่อมันให้กับเกษตรกร และขอให้ภาครัฐ เร่งปราบปรามขบวนการลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ เพราะเป็นปัจจัยลบต่อความมั่นใจของภาคผู้เลี้ยง