‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล-ปชป.-เอกชน’ ค้านเก็บภาษีคริปโทฯ ตัดโอกาสเศรษฐกิจ

‘สมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล-ปชป.-เอกชน’ ค้านเก็บภาษีคริปโทฯ ตัดโอกาสเศรษฐกิจ

“นายกสมาคมคริปโทฯ” หวั่นโมเดลเก็บภาษีคริปโทฯ สร้างภาระกระดานเทรด รอสรรพากรเคาะรูปแบบสุดท้ายภายใน ม.ค.นี้ “ปริญญ์” มองคริปโทฯ ให้ประโยชน์หลายด้าน ค้านเก็บภาษีผู้ลงทุนรายย่อย ฟากเอกชนห่วงไทยเสียโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ

นายศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เปิดเผยว่า สำหรับประเด็นการเก็บภาษีจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล (คริปโทเคอร์เรนซี) มองว่ายังไม่ควรเก็บตอนนี้ เพราะควรเปิดทางให้ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลได้เติบโตงอกเงยก่อน นอกจากนี้ อยากให้ภาครัฐพิจารณาประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจด้วย

โดยหากวันนี้ภาครัฐจัดเก็บภาษีทางตรงจากนักลงทุนและผู้ประกอบการก็อาจเสียโอกาสรับประโยชน์ทางอ้อม เช่น การดึงดูดเงินทุนต่างชาติ การดึงดูดทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพให้เข้ามาในประเทศ หรือการกระตุ้นการจ้างงาน ฯลฯ

หวั่นภาษีคริปโทฯ สร้างภาระเว็บเทรด

นอกจากนี้ แนวทางการเก็บภาษีคริปโทฯ ที่ภาครัฐนำเสนอในปัจจุบันมีความคล้ายคลึงกับแนวทางการเก็บภาษีหุ้นในตลาดทุน ทั้งที่พฤติกรรมของนักลงทุนทั้ง 2 ตลาดมีความแตกต่างกัน อีกทั้งยังมีประเด็นที่ควรคำนึงถึงในทางปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น หากผู้ลงทุนเป็นชาวต่างชาติจะตามไปหักภาษีอย่างไร หรือแนวทางการเก็บภาษีจากกำไรที่เกิดขึ้นโดยเอาผลขาดทุนมาหักกลบ ซึ่งเป็นการสร้างภาระมหาศาลแก่ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ (Exchange)

สำหรับข้อเสนอของสมาคมฯ เบื้องต้นมีแผนเสนอแนวทางที่ทำได้ง่าย โดยเปรียบเทียบจำนวนเงินระหว่างต้นปีและท้ายปีของผู้ลงทุนรวมถึงเงินที่โอนเข้าและโอนออกไปยังบัญชีธนาคารเพราะมองว่าเป็นส่วนต่างความมั่งคั่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งวิธีการนี้ผู้ประกอบการสามารถสืบค้นธุรกรรมได้ อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับความเห็นของผู้ร่วมตลาดด้วย รวมถึงข้อสรุปของกรมสรรพากรที่คาดว่าจะออกมาภายในเดือน ม.ค.2565

ในส่วนของผู้ลงทุนภายหลังสมาคมฯ เปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นการจัดเก็บภาษีจนถึงวานนี้ (26 ม.ค.) พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้เก็บภาษีจากธุรกรรม (Transaction Tax) แต่เป็นธุรกรรมการซื้อและขอให้อยู่ในอัตราที่สมเหตุสมผล โดยให้คิดรวมกับค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่มีการซื้อเพราะสะดวกและไม่ต้องนำไปคำนวณอื่นๆ เพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีในลักษณะดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ เพราะจะต้องปรับขึ้นค่าธรรมเนียมตามภาระที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ลูกค้าหันไปใช้บริการศูนย์ซื้อขายในต่างประเทศแทน ซึ่งผู้ประกอบการอาจต้องยอมกลืนเลือดตัวเองในระยะแรกเพื่อให้ปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) เติบโต

‘ปริญญ์’ ค้านเก็บภาษีนักลงทุนรายย่อย

นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า มองว่าไม่ควรเก็บภาษีคริปโทฯ ตอนนี้ และควรปล่อยให้ตลาดคริปโทฯ เติบโตเบ่งบานก่อน ซึ่งหากจะเริ่มจัดเก็บอีก 5-10 ปีข้างหน้าก็ยังไม่สายเกินไป เพราะมองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีประโยชน์หลายด้าน

ในแง่หนึ่งเป็นช่องทางการระดมทุนรูปแบบหนึ่งที่เข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และกลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งส่วนใหญ่มีมูลค่าโครงการที่ต้องการระดมทุนไม่มาก นอกจากนี้ ยังมองคริปโทฯ เป็นเครื่องมือที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โดยภาครัฐควรสนับสนุนประชาชนให้เข้าถึงองค์ความรู้

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ภาครัฐเดินหน้าจัดเก็บ มองว่าไม่ควรเก็บภาษีกับผู้ลงทุนรายย่อย โดยยกตัวอย่างสหรัฐที่มีแนวทางเก็บภาษีคริปโทฯ จากผู้ลงทุนที่มีการซื้อขายมากกว่า 1 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.3 แสนบาท) เท่านั้น

ภาคเอกชนหวั่นไทยเสียประโยชน์

นายตฤบดี อรุณานนท์ชัย ที่ปรึกษาด้านสินทรัพย์ดิจิทัล บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ในฐานะบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ศึกษาเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลกล่าวว่า การเก็บภาษีคริปโทฯ สิ่งสำคัญคือจังหวะ (Timimg) โดยมองว่าควรมีช่วงเวลาให้ผู้ประกอบการและผู้ลงทุนได้ปรับตัว เช่นเดียวกับการเก็บภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีที่ดิน แม้ท้ายที่สุดภาครัฐจะเดินหน้าเก็บ แต่ก็มีช่วงเวลาที่ผ่อนผันให้ เป็นต้น

“เรามองว่าการเก็บภาษีคริปโทฯ เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ แต่ Timing ตอนนี้อาจไม่เหมาะสม เพราะเป็นช่วงที่ตลาดทุนอ่อนแอจากโควิด-19 แต่มีเงินส่วนนี้เข้ามาช่วย หากรูปแบบการจัดเก็บไม่ดีก็อาจทำให้ฟันด์โฟลว์ไหลออก ซึ่งภาครัฐต้องคิดให้หลายมิติ จึงอยากให้ผ่อนผันไปก่อนเพื่อให้ตลาดได้โตเต็มที่”

นายปองพล เอี่ยมวิจารณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บล็อคเชน ไพรม์ โฮลดิ้งจำกัด กล่าวว่า แนะนำภาครัฐใช้โอกาสจากเทคโนโลยี โดยมองว่ากรณีคริปโทฯ คล้ายกับกรณีการเข้ามาของเทคโนโลยีอื่นๆ ที่มักถูกต่อต้านในระยะแรก เช่น กรณีของอินเทอร์เน็ตเมื่อราว 30 ปีก่อนที่ถูกต่อต้านจากภาครัฐ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีใครสามารถต้านทานกระแสการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีได้ หากไม่สนับสนุนเทคโนโลยีตั้งแต่วันนี้ ท้ายที่สุดประเทศไทยจะอยู่ในสถานะผู้ใช้งานเท่านั้น เพราะพัฒนาไม่ทันต่างประเทศ

นายวิรัช มรกตกาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพาณิชย์และการลงทุนบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในฐานะที่ใกล้ชิดกลุ่มลูกค้าฐานราก อยากให้ภาครัฐพิจารณาผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพราะนอกจากผู้ลงทุนที่ซื้อขายทำกำไร (เทรดเดอร์) แล้ว ยังมีผู้ประกอบการรายเล็กที่อาจถูกผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม หากอนาคตคริปโทฯ มีบทบาทมากขึ้นการที่ภาครัฐไม่สนับสนุนก็อาจส่งผลให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มฐานรากเสียโอกาสในการใช้ธุรกรรมเหล่านี้

ก.ล.ต.กางแผน 3 ปี เน้นตลาดทุนดิจิทัล

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ให้ความสำคัญกับตลาดทุนดิจิทัล สะท้อนจากแผนยุทธศาสตร์ในช่วง 3 ปีนี้ (2565-2567) ที่มีการกล่าวถึงประเด็นสินทรัพย์ดิจิทัลค่อนข้างมาก รวมถึงแผนพัฒนาตลาดทุนไทย ฉบับที่ 4 ที่ ก.ล.ต.ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดทำ ได้มีการเชิญผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาร่วมจัดทำด้วยเช่นกันอย่างไรก็ตาม ทุกการพัฒนาจะมาพร้อมกับการกำกับเสมอเพื่อดูแลการกระทำอันไม่เป็นธรรม