ธปท.ไฟเขียวแบงก์ JV ทำธุรกิจ AMC บริหารหนี้เสียในพอร์ตชั่วคราว
ธปท.ออกประกาศ เปิดช่องให้ธนาคารตั้งบริษัทร่วมทุนกับ AMC ทำธุรกิจบริหารสินทรัพย์ชั่วคราวไม่เกิน 15 ปี เพื่อจัดการหนี้เสียในระบบที่สูงขึ้นจากโควิด-19 โบรกฯ ประเมินได้ประโยชน์ทั้งแบงก์-AMC
วันที่ 26 มกราคม 2565 เว็บไชต์ "ราชกิจจานุเษกษา" เผยแพร่ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าด้วย หลักเกณฑ์การดำเนินงานในกิจการร่วมทุน (JV) เพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) อันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าวเปิดให้ธนาคารตั้งบริษัทร่วมทุนโดยต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) หรือต้องมีการจดทะเบียนโอนหุ้นใน AMC ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.เป็นรายกรณี
ทั้งนี้ กิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต้องมีการร่วมลงทุนระหว่างธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทแม่หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์อย่างน้อยหนึ่งแห่ง และบริษัทบริหารสินทรัพย์อย่างน้อยหนึ่งแห่งซึ่งมิใช่บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนนั้น โดยอาจมีบุคคลอื่นร่วมลงทุนด้วยก็ได้
นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทแม่หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งรวมกัน และบริษัทบริหรสินทรัพย์แต่ละแห่ง ต้องมีสัดส่วนการถือหรือมีหุ้นในกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพเท่ากัน และมีการควบคุมร่วมตามที่มาตรฐานการบัญชีกำหนด
โดยวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทแม่หรือบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุนที่ดำเนินกิจการเป็นการชั่วคราว (ไม่เกิน 15 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มดำเนินงาน) เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในระบบเศรษฐกิจการเงินที่คาดว่าจะทยอยเพิ่มสูงขึ้นอันเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ คันทรี่ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CGS เปิดเผยว่า ภายหลัง ธปท.ออกประกาศดังกล่าวชัดเจน คาดว่าจะเห็นการร่วมทุนระหว่างธนาคารกับ AMC มากขึ้น ภายหลัง ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประกาศร่วมทุนกับ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ไปแล้ว
เบื้องต้นที่มีรายงานข่าวออกมา อาทิ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) เพราะเป็นรูปแบบธุรกิจที่น่าสนใจ นอกจากไม่ต้องตัดขาดสัมพันธ์กับลูกค้าแล้ว ยังมีโอกาสรับรู้รายได้จากบริษัทร่วมทุน (ขึ้นอยู่กับวิธีบริหารจัดการ)
ในมุมมองการลงทุนจากประเด็นนี้ แนะนำซื้อกลุ่มธนาคาร เพราะได้ประโยชน์จากภาระดูแลหนี้เสียที่น้อยลง รวมถึงกลุ่ม AMC ที่มีโอกาสได้รับหนี้เสียมาบริหารมากขึ้น