ปตท.สผ. ปลื้มผลดำเนินงานปี 2564 รายได้รวม 234,631 ล้านบาท

ปตท.สผ. ปลื้มผลดำเนินงานปี 2564 รายได้รวม 234,631 ล้านบาท

ปตท.สผ. เผยผลการดำเนินงานปี 2564 มีรายได้รวม 234,631 ล้านบาท ลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 365,177 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมเดินหน้าปี 2565 มองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานสะอาด

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า การดำเนินงานในปี 2564 เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ สามารถลดความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ได้ในปริมาณ 365,177 ตัน คาร์บอนไดออกไซด์ จากการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การนำก๊าซเหลือทิ้งหรือก๊าซส่วนเกินกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตหรือนำไปใช้ประโยชน์ และการปลูกป่าชายเลนเพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศโอมาน รวมถึงการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 416,141 บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ 354,052 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันของปีก่อน ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2654 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น

ส่งผลให้ปี 2564 มีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์ (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 37% จากปี 2563 ซึ่งมีรายได้รวม 5,357 ล้านดอลลาร์ (167,418 ล้านบาท) มีกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ 1,211 ล้านดอลลาร์ ( 38,864 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 68% จากปี 2563 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 720 ล้านดอลลาร์ (22,664 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ 28.52 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ 73% โดยความสำเร็จปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง

ส่วนแผนงานหลักในปี 2565 ปตท.สผ.จะให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเม.ย.2565 เพื่อให้การผลิตก๊าซ ให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น จะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความต้องการใช้ก๊าซของประเทศไทย

สำหรับแผนงานในต่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มการผลิตครั้งแรกในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้ในเร็วๆ นี้ รวมทั้ง จะเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่างๆ ที่บริษัทสำรวจพบในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บในอ่าวไทย (Carbon Capture Storage – CCS) ตามนโยบายที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต

"ในช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก ซึ่งมุ่งเน้นไปยังพลังงานสะอาด ปตท.สผ. ได้เตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนผ่านเพื่อจะมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตก๊าซ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยส่งเสริมให้เกิดพลังงานสะอาดมากขึ้น เช่น เทคโนโลยี CCS มาใช้ในแท่นผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย รวมทั้ง พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต ช่วยให้ผลิตก๊าซ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้อย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างการเติบโต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน"

 

พิสูจน์อักษร  โดย....สุรีย์   ศิลาวงษ์