เคลมโควิดพุ่ง หวั่นลามประกัน  บอร์ดคปภ.เคาะแผน“อาคเนย์”วันนี้

เคลมโควิดพุ่ง หวั่นลามประกัน  บอร์ดคปภ.เคาะแผน“อาคเนย์”วันนี้

คปภ.เผยเคลมโควิดล่าสุดเฉียด 4.2 หมื่นล้านบาท วงการคาดยอดจ่อพุ่งกระทบฐานะการเงินบริษัทประกัน ขณะที่สมาคมฯเกาะติดโอมิครอนใกล้ชิด “เมืองไทย-วิริยะ”ยันฐานะการเงินแกร่ง ดูแลลูกค้าทุกกรมธรรม์จนจบสัญญา ด้าน“อาคเนย์”เผยยังไม่ปิดกิจการ ลุ้นบอร์ดคปภ.อนุมัติวันนี้

แหล่งข่าวจากวงการประกันรายหนึ่ง ประเมินว่า ตัวเลขการเคลมประกันจากกรมธรรม์โควิด-19 ทั้งรูปแบบ เจอ จ่าย จบ และ แบบ อื่นๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากยอดเคลมในปัจจุบันที่มีเข้ามาแล้วหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งการเคลมเพิ่มขึ้น หลังจากที่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และจะเป็นประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยที่ส่วนใหญ่จะรับเบี้ยกรมธรรม์แบบเจอ จ่าย จบ ซึ่งอาจจะเกิดกรณีการปิดกิจการของ 3 บริษัทประกันกอ่นหน้านี้

ทั้งนี้ ณ วันที่ 15 พ.ย. 2564 สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัยโควิด-19 มีจำนวนกว่า 3.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 1.32 แสนล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจึงมีความเป็นไปได้ว่า สิ้นปี 2564 ยอดเคลมจากโควิดจะสูงถึง 4 หมื่นล้านบาท หรือ 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด

นอกจากนี้เมื่อเปรียบจำนวนประชากรไทยทั้งหมด 66.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อ(ณ 15 พ.ย.2564) จำนวน 1.88 ล้านคน คิดเป็นอัตราติดเชื้อ 2.8% ส่วนผู้ที่มีประกันภัยโควิด-19 เจอ จ่าย จบ และแบบค่ารักษาพยาบาล 8.5 ล้านกรมธรรม์ มีผู้ติดเชื้อ 0.32 ล้านกรมธรรม์ อัตราติดเชื้อ 3.8% ซึ่งสูงกว่าประชากรไทยทั้งหมดถึง 35.7%

ทั้งนี้ในช่วงแรกของการระบาดรลอกใหม่ในช่วงเดือนเม.ย.2564 อัตราการติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ ต่ำกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรทั้งหมด แต่อัตราการติดเชื้อสูงขึ้น และอัตราการเคลม แบบ เจอ จ่าย จบ สูงขึ้น หลังจากที่ปริมาณการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่าง ซึ่งเป็นตัวเลขติดเชื้อที่สูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ

สมาคมประกันจับตาโอมิครอน 

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ประเมินยอดเคลมประกันภัยโควิดในปีนี้ ยังต้องติดตามว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ “โอมิครอน”  จะรุนแรงขึ้นกว่าปัจจุบันอีกหรือไม่ ปัจจุบันยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายวันเฉลี่ยอยู่ที่ 8,000 คน และยอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่  1.7 แสนคน ยังถือว่าน้อยกรณีฐานที่สมาคมฯ ใช้ประเมิน แต่มีโอกาสเร่งตัวขึ้นหรือลดลงได้ ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดโอมิครอนใกล้ชิด  

 โดยสมาคมฯ ประเมินภายใต้กรณีฐานใน 2564 ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายวันเฉลี่อยู่ที่ 20,000-30,000 คน ซึ่งเร่งตัวขึ้นในช่วงจากการแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์เดลต้า 3 เดือน และยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั้งปีอยู่ที่ 2.2 ล้านคน ทำให้มียอดเคลมสินไหมประกันภัยโควิดราว 40,000 ล้านบาท  

ดังนั้นตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ ยังต้องติดตามว่าการแพร่ระบาดโควิดโอมิครอน จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสมไปแตะ 2 ล้านคนอีกหรือไม่ ถ้าถึงจะทำให้เกิดเคลมได้อีก 40,000 ล้านบาท จึงหวังว่าการแพร่ระบาดโอมิครอนจะต่ำกว่าเดลต้า

ขณะเดียวกัน นายอานนท์ ในฐานะคณะกรรมการกองทุนประกันวินาศภัย กล่าวว่า ตามกฎหมายการจัดตั้งกองทุนประกันวินาศภัย มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเจ้าหนี้ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีบริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยและเพื่อพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้มั่นคงและมีเสถียรภาพเท่านั้น จึงไม่เข้าข่ายตามที่บริษัทประกันภัยรายหนึ่ง ยื่นข้อเสนอมาที่คปภ. พิจารณา อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอผลการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(บอร์ดคปภ.) ในวันนี้ (28 ม.ค.)

ด้านคปภ.เปิดเผยตัวเลขเคลมกรมธรรม์โควิดล่าสุดเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 อยู่ที่ 41,200 ล้านบาท(ตั้งแต่ปี 2563 - ธ.ค.2564)  

เมืองไทย-วิริยะ ยันดูแลเต็มที่ 

นายวาสิต ล่ำซำ  รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ MTI กล่าวว่า บริษัทยังยืนให้ความคุ้มครองประกันภัยโควิดในทุกกรมธรรม์ที่ยังมีความคุ้มครองแน่นอน  และเงินกองทุนของบริษัทยังแข็งแกร่ง  

ขณะเดียวกันในแง่การบริหารความเสี่ยงการรับประกันภัยโควิด ได้ทำประกันภัยต่อในต่างประเทศในสัดส่วนสูงถึง 90% ของการรับประกันภัย ทำให้สามารถดูแลผู้เอาประกันภัยได้อย่างแน่นอน 

ทั้งนี้ บริษัทมีการรับประกันภัยโควิดทั้งสิ้น 500,000 กรมธรรม์ ในจำนวนนี้เป็นประกันภัยโควิดราว 100,000 กรมธรรม์ จะสิ้นสุดความคุ้มครองครบทั้งหมดในเดือนมี.ค.นี้ และมีการจ่ายเคลมประกันโควิดไปแล้วราว 1,000 กว่าล้านบาท

นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโอมิครอน ทำให้ยอดเคลมโควิดในเดือนม.ค.ปีนี้ เพิ่มขึ้น 2-3 เท่าจากช่วงเดือนธ.ค.ปีก่อน และมีิยอดเคลมประกันโควิดรวมไปแล้วราว 7,000 ล้านบาท 

แต่บริษัทยังยืนให้ความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขกรมธรรม์ตลอดไปจนถึงวันสิ้นสุดอายุความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฉบับนั้นๆ พร้อมกับเพิ่มความสะดวกในการจ่ายเคลมโควิดให้รวดเร็วขึ้นได้ที่ศูนย์บริการตั้งแต่ปีก่อน 

ขณะเดียวกันบริษัทยังมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และยังประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดรายวัน เพื่อบริหารความเสี่ยงรองรับการจัดการสินไหมที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้

 บอร์ดคปภ.เคาะแผน“อาคเนย์”วันนี้

แหล่งข่าวในวงการประกันภัย กล่าวว่า การติดตามบริษัทประกันภัยรายใหญ่ที่รับประกันโควิด ทั้งกรุงเทพประกันภัย วิริยะประกันภัย และเมืองไทยประกันภัย พบว่า ขณะนี้ไม่มีบริษัทไหนอยากจะยกเลิกความคุ้มครองผู้เอาประกันภัย หรือคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจ หรือถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกันธุรกิจ

เนื่องจากต้องการดูแลลูกค้าและไม่ต้องการเสียความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจที่สะสมมาอย่างยาวนาน และส่วนใหญ่ยังมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการความเสี่ยงในการรับประกันภัยโควิดที่ดี โดยมีการทำประกันภัยต่อต่างประเทศในสัดส่วนที่สูงมากกว่า 85% ของการรับประกันภัย      

ขณะเดียวกันเบื้องต้นการพิจารณาของที่ประชุมคณะกรรมการชุดย่อยคปภ. วานนี้(27 ม.ค.)ยังยึดหลักตามข่าวที่คปภ.ได้ชี้แจงไปก่อนหน้านี้ และในวันนี้ คณะกรรมการคณะกรรมการ คปภ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้(28ม.ค.)บอร์ดคปภ. ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานจะพิจารณากรณีการขอยกเลิกกิจการของบริษัทอาคเนย์ประกันภัย โดยสมัครใจ จะได้รับการอนุมัติหรือไม่ รวมถึงหากอนุมัติให้ปิดกิจการแล้ว บอร์ดคปภ.จะให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้าไปดูแลลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัยกว่า 10 ล้านราย ตามที่อาคเนย์ประกันภัยร้องขอหรือไม่ ซึ่งการเลิกกิจการจะต้องปฏิบัติตากหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ตามมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 กำหนดให้กรณีที่บริษัทประกันวินาศภัยใดประสงค์จะเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยให้ยื่นคำขออนุญาตต่อคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เพื่อพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย ผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย หรือผู้มีส่วนได้เสีย

 “ในกรณีคืนใบอนุญาต จะมีผลดีหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดเงื่อนไขและการปฏิบัติตามเงื่อนไขอย่างครบถ้วนของบริษัท  เช่น ถ้าจะปิดกิจการ จะโอนกรมธรรม์โควิิดอย่างไร กรมธรรม์ประเภทอื่นที่ไม่ใช่โควิดอย่างไร หรือจะมีการผ่อนเคลม เสนอทางเลือกที่โดนใจลูกค้า และจะต้องตั้งอยู่บนหลักการเพื่อเป็นการพิทักษ์ประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย โดยทางบอร์ดคปภ. จะเป็นผู้พิจารณาในวันนี้”

กองทุนไม่มีอำนาจอุ้ม

ส่วนกรณีการให้กองทุนประกันวินาศภัย มาทำตามเงื่อนไขที่ยื่นมา ไม่ใช่ภาระหน้าที่ของคปภ. หรือบอร์ด คปภ. ที่จะเป็นผู้พิจารณา เพราะกองทุนฯ ตามกฎหมายเป็นนิติบุคคล และมีภาระกิจการจัดตั้งตามกฎหมายที่ไม่เข้าเงื่อนไขตามที่บริษัทยื่นมา 

ดังนั้นมองว่าทางบริษัทอาจต้องไปยื่นข้อเสนอกับทางบอร์ด กองทุนประกันวินาศภัยให้พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าไม่เข้าข่าย เพราะปัจจุบันบริษัทยังยื่นยันว่ามีเงินกองทุนมีความแข็งแกร่ง และกองทุนฯ ยังมีภารกิจหลักดูแลเจ้าหนี้ของบริษัทประกันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นหลัก  ยังต้องเร่งเคลียการจ่ายสินไหมอีกเป็นจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นจากประกันภัยโควิดเจอจ่ายจบ       

อาคเนย์แจงยังไม่ปิดกิจการ   

บริษัท อาคเนย์ประกันภัย ชี้แจงว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจและให้บริการ รวมถึงความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยตามปกติ และขณะนี้บริษัท มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามกฎหมายอยู่ถึง 170% และยังมีสภาพคล่องเพียงพอที่จะจ่ายค่าสินไหมให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย 

ทั้งนี้ การดำเนินการใช้สิทธิขอเลิกประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยโดยสมัครใจ และส่งคืนใบอนุญาตประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียน เป็นไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบสำหรับลูกค้าผู้เอาประกันทุกประเภทและผู้เกี่ยวข้องของบริษัทให้ได้รับเงินคืนทุกราย ซึ่งลูกค้าทุกกรมธรรม์จะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามสิทธิ์อย่างถูกต้อง รวมถึงการดูแลพนักงาน คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจทุกราย