จับตา 5 แบงก์จ่อร่วมทุนตั้ง AMC หลังธปท.ไฟเขียว
ธปท.ไฟเขียวธนาคารพาณิชย์ ร่วมทุนจัดตั้ง “เอเอ็มซี” บริหารหนี้เสียที่เกิดจากผลกระทบโควิด คุมไม่เกิน 15 ปี "บล.กสิกรไทย" คาด 4-5 แบงก์สนใจตั้งบริษัทร่วมทุน เหตุ “ลดภาระแบกหนี้- สำรอง” มีโอกาสได้เงินกลับคืน
นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้ปัจจุบันระบบธนาคารพาณิชย์จะยังมีความแข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินกองทุน สภาพคล่อง และสำรองที่ยังอยู่ระดับสูง และภายใต้มาตรการการดูแลลูกหนี้จากผลกระทบโควิด-19 ที่อาจทำให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ไม่ได้สูงมากนัก แต่ภายใต้ความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น ธปท.มองว่ามีความจำเป็นในการสร้างความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงิน เพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ หรือหนี้เสีย ที่อาจทยอยปรับตัวขึ้นในระยะถัดไป
ธปท.จึงมีการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) สามารถร่วมทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ได้ เพื่อแก้ไขปัญหาหนี้เสียที่อาจเพิ่มขึ้น โดยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน AMC ครั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถจัดตั้งผ่านธนาคารพาณิชย์เอง หรือบริษัทในเครือได้ ร่วมกับ AMC โดยถือหุ้นเท่ากัน เช่น 49% ที่เหลืออีก 2% ให้บุคคลอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น
ทั้งนี้ ธปท.กำหนดให้มีระยะเวลาในการยื่นขอจัดตั้งบริษัทร่วมทุน 3 ปี จนไปถึงสิ้นปี 2567 โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมคือ AMC ที่จัดตั้งภายใต้ประกาศนี้ เมื่อรับซื้อลูกหนี้ด้อยคุณภาพมาแล้ว จะต้องช่วยเลือลูกหนี้ต่อเนื่อง ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ต่อเนื่องด้วย
นอกจากนี้ เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราว จึงกำหนดให้ AMC เคลียร์หนี้ให้แล้วเสร็จภายใน 15 ปีก่อนปิดกิจการ เว้นแต่เกิดเหตุสุดวิสัยจะกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
“ธปท.หวังว่า การบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น ทำให้แบงก์ตัวเบา ไม่ต้องระวังหลังในการช่วยลูกหนี้ให้เดินต่อไปข้างหน้าได้ ส่วนทิศทางหนี้เสียในระบบมองว่า แม้ทยอยปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะไม่เร่งตัวขึ้นหรือเป็นหน้าผา NPLs ปัจจุบันพบว่ามีแบงก์สนใจตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวแล้ว 2-3 ราย”
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ภายหลัง ธปท.ออกหลักเกณฑ์อนุญาต เชื่อว่าจะเห็นการประกาศความร่วมมือระหว่างธนาคารและ AMC เพิ่มเติม จากปัจจุบันธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นเจ้าแรกที่ประกาศร่วมทุนกับ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) มีกระแสข่าวสนใจรูปแบบธุรกิจดังกล่าวเช่นกัน
ทั้งนี้ จากการประชุมระหว่างนักวิเคราะห์และผู้บริหารธนาคารในช่วงสัปดาห์ก่อน (17-21 ม.ค.) เชื่อว่าจะมีบริษัทที่ 4 และ 5 ตามมา เพราะแต่ละธนาคารมองเห็นข้อดีของการร่วมทุน ทั้งกำลังคนที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่ NPLs เพิ่มขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 โอกาสได้เงินกลับคืนมาเพิ่มขึ้นจากความเชี่ยวชาญในการทวงถามหนี้ของกลุ่ม AMC และภาระการตั้งสำรองที่ลดลง เช่น หนี้ที่มีหลักประกัน (NPA) หากเกิน 5 ปีจะต้องสำรองเต็มจำนวน เป็นต้น
นายภาสกร หวังวิวัฒน์เจริญ ผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า คาดว่าธนาคารที่สนใจทำจะเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนลูกหนี้รายย่อยสูง เพราะเป็นหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน แตกต่างจากลูกหนี้รายใหญ่ หรือลูกหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งสามารถประเมินรายได้ในอนาคต โดยปัจจุบันธนาคารส่วนใหญ่มีสัดส่วนลูกหนี้รายย่อยราว 5-6% ของพอร์ตสินเชื่อรวม ยกเว้นธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่มีสัดส่วนสูงสุดในตลาดราว 10%