ซีบีอาร์อี ชี้ 4 ปัจจัยเสี่ยงอสังหาฯ ฟันธงปี 65 ตลาดคนไทยคือหนทางรอด!
ปี 2565 เป็นอีกปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ต้องพึ่งพิงตลาดคนไทย ทำให้เซ็กเมนต์บ้านเดี่ยว ตลาดเรียลดีมานด์ยังเป็นที่หมายตาของดีเวลลอปเปอร์ ซีบีอาร์อี ตกผลึก 4 ปัจจัยเสี่ยง ทั้งไวรัสโอมิครอน นโยบายรัฐ การเปิดรับนักเดินทางทั่วโลก และอำนาจซื้อผู้บริโภค ชี้ชะตาตลาด
รียลเซ็กเตอร์อย่าง “อสังหาริมทรัพย์” ก่อนโควิดถือเป็นตลาดที่มีความร้อนแรงและเติบโตต่อเนื่อง เพราะผู้บริโภคต่างต้องการมีที่อยู่อาศัย ทั้งบ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม ส่วนอาคารสำนักงาน(ออฟฟิศ)เกิดเทรนด์ Co-working space เป็นกระแส ค้าปลีกเผชิญโจทย์ใหม่ เมื่อค้าขายออนไลน์ทลาย Brick-and-mortar เพราะผู้บริโภคช้อปหน้าร้านลดลง
ทว่า 2 ปีที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ตลาดอสังหาฯ มีการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย ทั้งคอนโดมิเนียมเบรกโครงการใหม่ใจกลางกรุงติดต่อกัน 3 ไตรมาส อาคารสำนักงานอัตรการเช่าติดลบในรอบ 22 ปี เป็นต้น
ส่วนแนวโน้มปี 2565 รุ่งรัตน์ วีระภาคย์การุณ กรรมการผู้จัดการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย ให้มุมมองว่า เป็นอีกปีที่นักพัฒนาอสังหาฯต้องเจอความความท้าทาย ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวและเคลื่อนไหวในเชิงรุกมากขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ เพราะพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนแปลง มีการคัดเลือกโครงการอย่างละเอียดถี่ถ้วน ความต้องการซับซ้อนมากขึ้น
ทั้งนี้ นักลงทุนและผู้พัฒนาโครงการจึงต้องนำเสนอสินค้าที่เหมาะสมเข้ามาสู่ตลาดที่มีการพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง แต่การจะปรับตัวให้สอดคล้องสถานการณ์ ต้องรับรู้แนวโน้มหรือเทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อนำไปพลิกกลยุทธ์และการดำเนินการให้เหมาะสมกับธุรกิจ
รัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะฟื้นตัว 3.4% แต่ยังมี 4 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอสังหาฯ ได้แก่ 1.การแพร่ระบาดของไวรัสโอมิครอนที่มีผลต่อการรับมือทั้งภาครัฐและประชาชนชาวไทย 2.การตัดสินใจของภาครัฐในการดำเนินนโยบายด้านการเงิน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและอื่นๆที่จะเป็นตัวกำหนดความเคลื่อนไหวของตลาด
3.มาตรการการเดินทางระหว่างประเทศ ที่จะมีผลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ที่นักลงทุนต้องมาเยือนประเทศที่เป็นฐานทัพธุรกิจจริง หลังจากวิกฤติโควิดทำให้ทุกอย่างชะงัก 2 ปี และ4.อำนาจการใช้จ่ายของผู้บริโภค ซึ่ง 2 ปีที่ผู้คนตกงาน รายได้หด จะมีผลต่อฐานะการเงินและการซื้อที่อยู่อาศัย ทำให้การพิจารณาซื้ออสังหาฯใช้เวลานานขึ้น คิดรอบคอบขึ้น
สำหรับเทรนด์อสังหาฯที่น่าจับตาปี 2565 เป็นอีกปีที่ผู้ประกอบการต้องขายที่อยู่อาศัยจับตลาดคนไทย ซึ่งเป็นเรียลดีมานด์ โดยตลาดบ้านเดี่ยวได้รับความนิยม จากเดิมเป็นคอนโดมิเนียม ยิ่งกว่านั้นปี 2564 โควิดฉุดให้นักพัฒนาอยู่ในโหมด “ระวัง” เบรกโปรเจคคอนโดฯใจกลางกรุงติดต่อกัน 3 ไตรมาส ซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน
ส่วนตลาดออฟฟิศปีก่อนอัตราการเช่า “ติดลบ” ครั้งแรกรอบ 22 ปี ตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง และยังติดลบกันติดต่อกัน 3 ไตรมาส ยอดติดลบสะสม 80,026 ตารางเมตร(ตร.ม.) ปีนี้จะอยู่รอดผู้ประกอบการต้องทำให้ออฟฟิศมีคุณภาพ สำนักงานเก่าต้องปรับปรุงให้ทันสมัย ตอบโจทย์ลูกค้าสามารถทำงานไฮบริดได้
ขณะที่โควิด ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่ำสุดในปี 2564 กระทบการฟื้นตัวของธุรกิจค้าปลีกต่อเนื่อง ปีนี้ผู้ประกอบการจะพัฒนาโครงการใหม่ หรือลงทุนเพิ่มสาขาต้องระมัดระวัง มีแนวโน้มชะลอลงทุนมากขึ้น การปรับตัวในตลาด แลนด์ลอร์ดต้องมีความยืดหยุ่นให้เช่าพื้นที่ โดยเฉพาะ “ค่าเช่า” จากเดิมเป็นการกำหนดตายตัวมาเป็น “อิงยอดขายแทน” ด้านธุรกิจโรงแรมในสิ้นปี 2565 จะมีห้องพักสร้างเสร็จใหม่กว่า 7,400 ห้อง ส่งผลให้ปริมาณห้องพักของโรงแรมในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 6.7%
อาดัม เบลล์ หัวหน้าแผนกพื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าวว่า พื้นที่อุตสาหกรรมและโลจิสติกส์มีการเติบโตจากตลาดอีคอมเมิร์ซ โดยผู้เช่าพื้นที่ต้องการพื้นที่ตอบโจทย์เฉพาะของธุรกิจตนเอง(Built-to-Suit)มากขึ้น ซึ่งเจ้าของพื้นที่ต้องจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้เช่า รวมถึงการเป็นดาต้าเซ็นเตอร์