คมนาคมเร่งขนส่งไร้รอยต่อ มุ่งลดต้นทุนโลจิสติกส์ 50%
คมนาคมดันแผนเชื่อมโยงรถไฟระหว่างไทย ลาว จีน ชี้เป็นเส้นทางหนุนการค้า ลดต้นทุนขนส่ง 50% คาดมูลค่าการค้าด่านหนองคายจะพุ่งต่อเนื่อง หลังเห็นสัญญาณเปิดบริการรถไฟลาว - จีน พบยอดขนส่งพุ่ง 1.1 แสนตัน กว่า 4.6 พันล้านบาท
โครงการรถไฟจีน - ลาว เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการแล้ว ในวันที่ 4 ธ.ค. 2564 โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคตะวันตกประเทศจีน มายัง สปป.ลาว และประเทศไทย อีกทั้งเส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเป็นส่วนสำคัญส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นโครงข่ายการขนส่งที่จะช่วยประหยัดเวลา และลดต้นทุนการขนส่งสินค้ามากถึง 50%
ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าแผนเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งรถไฟไทย ลาว และจีน โดยระบุว่า ล่าสุดอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบูรณาการการเชื่อมโยงทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน เพื่อกำหนดนโยบายการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน พร้อมจัดทำแผนการขนส่งสินค้าเพื่อกำกับ ติดตามเร่งขับเคลื่อนการเชื่อมโยงทางรถไฟ พร้อมขับเคลื่อนสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
อย่างไรก็ดี ในการประชุมครั้งนี้ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามความก้าวหน้าสถานะการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเห็นชอบการจัดทำ Framework Agreement การขนส่งทางรถไฟระหว่างไทย ลาว และจีน โดยการเชื่อมต่อการเดินทางข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ รวมทั้งได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ดำเนินการของบกลางเพื่อออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 และเร่งดำเนินการก่อสร้าง
ทั้งนี้ ยังมีการคาดการณ์ด้วยว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว มูลค่าทางการค้าที่บริเวณด่านหนองคาย ผ่านโครงข่ายรถไฟไทย-ลาว-จีน จะสร้างมูลค่าทางการค้าเพิ่มขึ้น โดยสถานะการค้าและการขนส่งในปัจจุบัน นับตั้งแต่โครงการรถไฟจีน – ลาว ได้เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2564
โดยจากสถิติการส่งออกสินค้าผ่านชายแดนหนองคายในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 เทียบกับช่วงเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปิดการให้บริการรถไฟลาว-จีน พบว่ามีปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตัน เป็น 304,119 ตัน และมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาท เป็น 6.91 พันล้านบาท ขณะที่มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญหลังจากมีรถไฟลาว – จีนเกิดขึ้น เนื่องจากการขนส่งในโครงข่ายนี้เร็วกว่าช่องทางอื่น 1 วัน และปัจจุบันมีค่าขนส่งถูกกว่าการขนส่งประเภทอื่นประมาณ 25%
พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ระบุว่า ขณะนี้กรมฯ ได้เตรียมแนวทางดำเนินงานรองรับการขนส่งสินค้าและการเดินทางข้ามแดน ระหว่างไทย-ลาว-จีน ให้เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ รองรับการขนส่งสินค้าที่มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น จัดเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งช่วงหนองคาย - เวียงจันทร์ 14 ขบวนต่อวัน ขบวนละ 25 แคร่ รวมทั้งการบริหารจัดการเพื่อใช้สะพานหนองคายเดิม และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อรองรับการขนถ่ายสินค้าในระยะเร่งด่วน
โดยตามแผนจะมีการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม ซึ่งมีการเตรียมพื้นที่บริเวณสถานีประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากทางถนนสู่ระบบราง ซึ่งจะให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. จะดำเนินการปรับปรุงพื้นที่บริเวณ ลานยกขนสินค้า โรยหินคลุกและบดอัดความหนา 10 เซนติเมตร รวมทั้งจัดเตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งเครื่อง Mobile X-ray Inspection System เพื่อตรวจปล่อยสินค้าและทำพิธีการศุลกากรต่อไป
ขณะเดียวกัน ร.ฟ.ท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาให้เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้า เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างของบประมาณ เพื่อดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและย่านกองเก็บตู้สินค้าเพื่อรองรับการขนส่งทางราง จังหวัดหนองคาย ซึ่งจะคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมลงทุนตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562