ประกันคุ้มครองมะเร็งร้าย เจอ จ่าย แต่ห้ามจบ
เมื่อคนไทยให้ความสำคัญซื้อ "ประกัน" สุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อคุ้มครองโรคที่ใกล้ตัวและรุนแรง อีกโรคภัยหนึ่งที่คนไทยตระหนักซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิต "โรคมะเร็ง" ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ให้ความคุ้มครองโดยเฉพาะที่ระบุความคุ้มครองในลักษณะ “เจอ จ่าย จบ”
ปัจจุบันคนไทยให้ความสำคัญกับการซื้อประกันสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเพื่อคุ้มครองโรคที่ใกล้ตัวและรุนแรงถึงชีวิตมากขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การขอสินไหมทดแทนเมื่อตรวจพบเชื้อ COVID-19 ที่บริษัทรับประกันภัยต่างๆ ออกผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ จนทำให้บริษัทประกันบางแห่งเริ่มขาดสภาพคล่องในการจ่ายสินไหม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ยากในยุคที่มีฝ่ายกำกับธุรกิจประกันภัยเข้าไปช่วยดูแลความมั่นคงของธุรกิจการเงินภายหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม อีกโรคภัยหนึ่งที่คนไทยตระหนักถึงความร้ายแรง ซึ่งเป็น 1 ใน 5 สาเหตุหลักของการเสียชีวิตอย่าง โรคมะเร็งนั้น ปัจจุบันก็มีผลิตภัณฑ์ประกันที่ให้ความคุ้มครองโรคมะเร็งโดยเฉพาะ ที่ระบุความคุ้มครองในลักษณะ “เจอ จ่าย จบ” เช่นเดียวกับประกัน COVID-19 แต่แท้จริงแล้ว การพิจารณาซื้อประกันโรคมะเร็งหรือโรคร้ายแรงอื่นๆ นั้น ควรพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่จะเพิ่มขึ้น หรือ รายได้ต่างๆ อาจลดลงระหว่างการรักษา ที่หากเราไม่วางแผนความคุ้มครองให้ครอบคลุม อาจทำให้เราซื้อประกันที่มีวงเงินความคุ้มครองน้อยกว่าที่ควรจะเป็นได้
สำหรับโรคมะเร็งนั้น ค่าใช้จ่ายครั้งแรกต้องเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการตรวจวินิจฉัย แน่นอนว่าประกันที่มีลักษณะ “เจอ จ่าย จบ” ผู้เอาประกันสามารถเคลมสินไหมเป็นเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาได้ทันที แต่ควรคำนึงถึงเงื่อนไขเพิ่มเติมในแต่ละผลิตภัณฑ์ประกันว่าคุ้มครองมะเร็งที่ตรวจพบในระยะไหน สัดส่วนเท่าไหร่ของทุนประกัน ซึ่งวิธีการที่ดีที่สุดในการวางแผนประกันประเภท “เจอ จ่าย จบ” คือ อย่างน้อยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองในมะเร็งทุกระยะที่ตรวจพบเลย ก็จะช่วยลดความไม่แน่นอนว่าอาการที่ตรวจพบจะเข้าข่ายที่บริษัทรับประกันจะยอมจ่ายสินไหมหรือไม่
ส่วนต่อมาเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการรักษา ซึ่งโดยนิยามของคำว่า “เจอ จ่าย จบ” มักไม่มีความคุ้มครองค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล แต่ที่แบบประกันที่คุ้มครอง COVID-19 ได้รับความนิยมเนื่องจากในภาวะโรคระบาด รัฐบาลสามารถช่วยออกค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ เสมือนว่าผู้ทำประกันได้เงินชดเชยทันทีเมื่อตรวจพบเชื้อ ทำให้ตัดสินใจซื้อประกันได้ง่าย ฉะนั้นก่อนซื้อประกันมะเร็งประเภท เจอ จ่าย จบ ต้องประเมินให้ดีว่า เงินสินไหมที่ได้จากประกันสามารถนำมาเป็นค่ารักษาพยาบาลได้ครบถ้วนหรือไม่
จากข้อมูลของศูนย์บริการการแพทย์ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ให้ตัวอย่างการรักษาโรคมะเร็งเต้านมกับโรงพยาบาลเอกชนไว้ พบว่า ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดและพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจะเริ่มต้นที่ราว 4 แสนบาท แต่หากเป็นระยะลุกลามที่อาจต้องทำค่าเคมีบำบัดเพิ่มเติม จะมีค่าใช้จ่ายถึงกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงรายได้ที่เสียไปในช่วงที่ต้องรักษาตัว ยิ่งไปกว่านั้น ยังไม่รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการรักษาที่ไม่ได้รวมอยู่ในค่ารักษาพยาบาลที่ประกันสุขภาพกำหนดไว้เบื้องต้น เช่น ค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์การแพทย์ ค่าพยาบาลส่วนตัว รวมถึง หากค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาด้วยยาที่อาจไม่ได้อยู่ในเวชปฏิบัติของสถาบันการแพทย์ในไทย เช่น ในปัจจุบันโรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจายที่มีผล HER2/neu เป็นบวก ซึ่งหมายถึงมีโอกาสเกิดมะเร็งจุดอื่นได้ ตามรายการเวชปฏิบัติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติกำหนดให้ใช้ยามุ่งเป้า (Targeted-Therapy) Trastuzumab หรือ Lapatinib ซึ่งหากต้องการใช้ยาตัวอื่นนอกเหนือจากนี้ อาจไม่สามารถเบิกสินไหมในวงเงินค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้จากบริษัทรับประกันได้ หากผู้เอาประกันต้องการเผื่อความคุ้มครองเพิ่มเติม ก็ควรพิจารณาซื้อประกันที่มีเงินก้อนเพิ่มเติมกรณีตรวจพบมะเร็ง เป็นต้น
กระแสเรื่องบริษัทประกันมีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวบ่งชี้ว่า คนไทยให้ความสำคัญกับความไม่แน่นอนของรายได้และค่าใช้จ่ายที่เกิดจากโรคภัยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นประกันมะเร็งโดยเฉพาะ หรือ ประกันคุ้มครองโรคร้ายแรงอื่นๆ ก็ตาม ก็ไม่ควรเพียงแค่ดูผลประโยชน์คร่าวๆ เพราะการรักษาโรคร้ายแรงนั้นมีค่าใช้จ่ายไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับระยะ ความรุนแรง หรือความซับซ้อนของแต่ละโรค และยังมีรายการความคุ้มครองบางรายการที่ประกันโรคร้ายแรงบางแบบอาจไม่ครอบคลุม ซึ่งหากไม่พิจารณาและตัดสินใจให้ดีว่าจะซื้อเท่าไหร่ และให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่กล่าวไปข้างต้น การทำประกันโรคร้ายแรงต่างๆ เพิ่มเติมกรณีที่ผู้เอาประกันมีประวัติเป็นโรคร้ายแรงมาก่อนแล้ว บริษัทประกันต่างๆ มีสิทธิ์ปฏิเสธความคุ้มครอง ซึ่งการซื้อประกันที่วงเงินความคุ้มครองน้อยเกินไป รวมถึงตระหนักถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ หลังจากที่ตรวจพบเป็นโรคร้ายไปแล้ว ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าเสียดายไม่น้อย
หากท่านใดมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการวางแผนการเงินของตนเอง สามารถส่งคำถามของท่านมาได้ที่ [email protected] I บทความโดย ศิวกร ทองหล่อ CFP® Wealth Manager