เช็คสัญญาณเตือน "มะเร็งปากมดลูก" ใช้ชีวิตอย่างไร?..ให้ไกลโรค
“มะเร็งปากมดลูก” สูงเป็นอันดับหนึ่งในผู้หญิงไทย ปัจจุบันมะเร็งปากมดลูกจัดอยู่ในอันดับ 5 ของมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ราว 5,500 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์การเกิดโรค 9.3 คนต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิตประมาณ 2,200 คน
“ปากมดลูก” คือ ส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์เพศหญิงที่ต่อจากมดลูกในช่องท้องโผล่ยื่นออกในช่องคลอด เป็นทางผ่านของเลือดประจำเดือน ซึ่งมาจากมดลูกและไหลออกมาภายนอกผ่านช่องคลอดขณะมีเพศสัมพันธ์น้ำอสุจิจะไปอยู่ในช่องคลอดเข้าไปสู่มดลูกทางปากมดลูก เมื่อเกิดการปฏิสนธิกับไข่ของคุณผู้หญิงจะทำให้เกิดทารกน้อยๆ อาศัยในโพรงมดลูก และคลอดออกมาทางช่องคลอดเมื่อครบกำหนด
- ใคร?มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก
โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ที่ติดต่อจากการ มีเพศสัมพันธ์ ดังนั้น การมีคู่นอนหลายคน การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ก็เป็นอีกปัจจัยร่วมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคอีกด้วย
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ นอกจากเชื้อ HPV ที่กล่าวมาได้แก่
- อายุ ส่วนใหญ่มะเร็งปากมดลูกมักพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป
- มีคู่นอนหลายคน ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV มากขึ้น
- สูบบุหรี่
- มีบุตรจำนวนมาก
- ร่างกายมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (โรคเอดส์)
- ไม่เคยตรวจภายใน เพื่อค้นหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็ง (Precancercous lesion) ซึ่งในช่วงเวลานี้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ แต่สามารถตรวจพบด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยาที่เรียกว่าแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) และสามารถรักษาได้ หากตรวจพบรอยโรคในระยะนี้ก็จะสามารถป้องกันการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
- สัญญาณเตือน“มะเร็งปากมดลูก”
อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีตกขาว เลือดหรือของเหลวที่ผิดปกติออกทางช่องคลอด ประจำเดือนมามากหรือนานกว่าปกติ ในระยะลุกลามอาจมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นต้น
มะเร็งปากมดลูก โรคยอดฮิตสำหรับผู้หญิงที่น่ากลัวไม่แพ้มะเร็งเต้านมเลย เพราะแม้จะไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็สามารถเป็นได้ และใน 1 ปีมีผู้ป่วยจากมะเร็งปากมดลูกโดยเฉลี่ยถึง 6,000 รายเลยทีเดียว
ในระยะรอยโรคก่อนเป็นมะเร็ง และมะเร็งระยะเริ่มแรกผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ แต่เมื่อโรคเป็นมากขึ้น มีอาการดังต่อไปนี้
1. เลือดออกจากช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ อาจจะเป็นตอนที่มีเพศสัมพันธื หรือประจำเดือนที่มาผิดปกติก็ได้เช่นกัน
2. ตกขาวที่มีเลือดปน โดยปกติแล้วการที่ผู้หญิงเรามีตกขาวบ้างในช่วงก่อนหรือหลังจะมีประจำเดือนนั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่หากมีมากเกินไป และมีเลือดปนอาจเป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งก็ได้
3. เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ หากมั่นใจว่าเราเตรียมตัวพร้อมสำหรับการเพศสัมพันธ์ ช่องคลอดไม่ได้แห้งจนรู้สึกเจ็บเสียด แต่ขณะมีเพศสัมพันธ์นั้นยังเจ็บอยู่ก็ไม่ควรปล่อยนิ่งดูดาย
4. มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดจำนวนมาก และอาจมีเลือดปน
5. ปวดท้องน้อยบ่อยเกินปกติ แม้จะไม่ใช่ช่วงใกล้มีประจำเดือนก็ตาม หรือช่วงที่ใกล้มีประจำเดือนแต่อาการปวดท้องประจำกเดือนมีมากกว่าที่เคย
6. เบื่ออาหาร ไม่รู้สึกอยากอาหาร จนน้ำหนัดลดลงอย่างผิดสังเกต
7. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายกว่าปกติ รู้สึกไม่มีแรงอยู่ตลอดเวลา
8. ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดท้องน้อย ท้องน้อยบวม บางครั้งรู้สึกปวดปัสสาวะแต่ปัสสาวะไม่ออก
- เช็คก่อนจะเป็น“มะเร็งปากมดลูก”
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก หมายถึง การตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกก่อนที่จะมีอาการ เป็นการตรวจหารอยโรคระยะก่อนเป็นมะเร็งและมะเร็งระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ รวมถึงรักษามะเร็งระยะเริ่มแรกอย่างได้ผล
วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในปัจจุบันมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้คือ
การตรวจเซลล์ปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยา หรือแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจเช็คให้ในขณะที่ทำการตรวจภายใน ซึ่งหลังจากตรวจเสร็จแพทย์จะนัดฟังผลตรวจหรือแจ้งผลให้ทราบในภายหลัง หากมีความผิดปกติก็จะใช้การรักษาตามความผิดปกติของรอยโรค
การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยเซลล์วิทยา ร่วมกับการตรวจหาเชื้อ HPV ชนิดที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจวิธีนี้มีข้อดีคือ แพทย์สามารถให้การดูแลรักษาเซลล์ปากมดลูกที่ผิดปกติได้ดีขึ้น แต่มีข้อเสียคือ ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก
ในปัจจุบันแนะนำให้ผู้หญิงไทยตรวจภายในพร้อมตรวจแป๊ปสเมียร์ในกลุ่มที่มีเพศสัมพันธ์แล้วประมาณ 3 ปี หรืออายุมากกว่า 30 ปี หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
การรักษาโรคนี้ขึ้นกับระยะของโรคดังที่กล่าวมาแล้ว หากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะต้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมาก
หากเป็นมะเร็งระยะกลาง การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งผลการรักษาดีพอสมควร
หากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดี
ผลข้างเคียงจากการรักษา ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการรักษาแบบใด โดยทั่วไปหากรักษาด้วยการผ่าตัด ผู้ป่วยมักจะมีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียง ในขณะผ่าตัด เช่น เสียเลือดมาก หรือหลังผ่าตัดใหม่ๆ เช่น แผลติดเชื้อ เป็นต้น แต่หากเป็นการรักษาด้วยวิธีฉายรังสีรักษาส่วนใหญ่มีผลข้างเคียงมักจะเกิดในช่วงหลังรักษา 2-3 ปีขึ้นไป อาการที่อาจเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะหรืออุจจาระเป็นเลือด อย่างไรก็ตามก่อนทำการรักษาแพทย์จะแจ้งผลข้างเคียงของการรักษาให้ทราบก่อน
ส่วนการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด โดยทั่วไปจะเกิดผลข้างเคียงคือ คลื่นไส้อาเจียน อ่อนเพลีย เม็ดเลือดขาวต่ำติดเชื้อโรคง่ายขึ้น อาจมีผมร่วงในการใช้ยาบางชนิด
- วิธีดูแลและป้องกันที่ทำได้ทันที
การตรวจสุขภาพสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อการตรวจสอบแต่เนิ่นๆ เรื่องสุขภาพของเราไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใด ก็สามารถเจ็บป่วยได้ทั้งนั้น การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่าอายที่เราจะรักสุขภาพ เพราะมะเร็งปากมดลูกหรือโรคทางเพศสัมพันธ์หากพบแต่เนิ่นๆ สามารถรักษาหายได้
อ้างอิง : โรงพยาบาลเปาโล รังสิต ,คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล