สัมพันธ์ซาอุฯฟื้นดันการค้า “กลุ่มจีซีซี”ที่เก่าโอกาสใหม่

สัมพันธ์ซาอุฯฟื้นดันการค้า  “กลุ่มจีซีซี”ที่เก่าโอกาสใหม่

เปิดประตูโอกาสการค้าไทยสู่ซาอุฯหลัง"นายกฯเยือนซาอุฯในรอบ30 ปี พาณิชย์ เด้งรับ เปิดแผนส่งเสริมการค้า ประเดิมส่งไก่-สินค้าฮาลาล เพิ่มยอดส่งออก

หลังความสำเร็จในเบื้องต้นการสานสัมพันธ์ไทย-ซาอุดีอาระเบีย ที่มีการเยือนของผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกในรอบ 30 ปี  เหมือนเป็นการจุดพลุด้านการค้า การลงทุนสำหรับซาอุฯรวมไปถึงกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ หรือ GCC ที่สามารถใช้จุดเด่นและความเชี่ยวชาญที่แต่ละฝ่ายมีอยู่อย่างชัดเจนมาส่งเสริมซึ่งกันและกัน

รายงานข่าวจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองดูไบ รายงานว่า ธนาคาร Emirates NBD ได้ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจกลุ่มGCC ว่าจะมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา คาดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) โดยรวมของภูมิภาคนี้ในปี 2565 จะขยายตัวที่ระดับ 5.1%เพราะราคาพลังงานในตลาดโลกขยับราคาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมองว่าผลกระทบของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะมีผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันเพียงเล็กน้อยและเป็นระยะเวลาชั่วคราวเท่านั้น 

นอกจากนี้ด้านการใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน อย่างไรก็ดีการใช้จ่ายภาครัฐยังมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ 

 

จากปัจจัยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศกลุ่ม GCC ซึ่งประกอบด้วย

  • สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) 
  • ซาอุดิอาระเบีย
  • คูเวต 
  • กาตาร์
  • บาห์เรน
  • โอมาน

ทำให้ไทยส่งออกสินค้าไปกลุ่มประเทศดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นในปี 2564 โดยมีสัดส่วน 4.96% ที่ไทยส่งออกไปทั่วโลก  โดยมูลค่าที่ส่งออกไปกลุ่ม GCC จำนวน 177,854.4 ล้านบาท หรือ ขยายตัว 16.6% เทียบกับมูลค่า 152,511.3 ล้านบาท ในปี 2563

 

สินค้าสำคัญ 10 อันดับแรกเมื่อเรียงลำดับตามมูลค่า เช่น

  • รถยนต์และส่วนประกอบ สัดส่วน 33.0% 
  • ไม้ไฟเบอร์บอร์ด 7.7%
  • เครื่องปรับอากาศ 5.7%
  • อัญมณีและเครื่องประดับ 4.8%
  • ยางรถยนต์ 4.3% 
  • ปลากระป๋อง 3.4% 

ยูเออีเป็นตลาดรองรับที่สำคัญมูลค่ามากเป็นอันดับแรก หรือคิดเป็นสัดส่วน 49.4% ของมูลค่าที่ส่งออกไป ภูมิภาคนี้ อันดับ 2 คือซาอุดิอาระเบีย สัดส่วน 28.9%ซึ่งเป็นศักยภาพที่ได้น่าจะสามารถต่อยอดได้หลังความสัมพันธ์สองประเทศเริ่มดีขึ้น ” 

ภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ในปี 2565 กรมฯ และสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เมืองเจดดาห์ มีแผนนำคณะผู้แทนการค้าและนักธุรกิจ ทั้งจากไทยไปซาอุดีอาระเบีย และจากซาอุดีอาระเบียเยือนไทย เพื่อหารือขยายการส่งออกร่วมกัน พร้อมกับส่งเสริมการขายสินค้าไทยร่วมกับซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในซาอุดีอาระเบีย โดยนำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานแสดงสินค้าในซาอุดีอาระเบีย เช่น งานแสดงสินค้าอาหารและสินค้าฮาลาล หรือ Suadi Food Expo

นอกจากนี้ จะมีการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหาร สินค้าฮาลาล สินค้าอุตสาหกรรม สินค้าความงาม ผ่านช่องทางออนไลน์ การจัดกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้ด้านตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคเปิดกว้างทางวัฒนธรรมของซาอุดีอาระเบีย ภายใต้แนวคิด ซาอุดี วิชั่น 2030 และความสัมพันธ์ใหม่ ไทย-ซาอุฯ

 “กรมวางแผนจะส่งออกสินค้าไก่ และอาหารฮาลาล ไปซาอุฯ เพิ่มขึ้นตามนโยบาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยจะร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการผลักดันการส่งออกไก่ โดยเชิญผู้แทนซาอุฯ มาเยือนไทย เพื่อทำการตรวจสอบความพร้อมผลิตภัณฑ์ และกระบวนการผลิตของไทย เพื่อให้เริ่มส่งออกได้โดยเร็ว หลังจากที่ผ่านมาไทยยังไม่สามารถส่งออกไก่ไปซาอุฯ ได้เนื่องจากติดช่วงโควิด ทำให้ไม่มีหน่วยงานเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความพร้อมจากไทยได้ "

จากความสำเร็จการฟื้นความสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ สู่การต่อยอดทางการค้าทั้งกับไทยและซาอุฯนำไปสู่การขยายโอกาสทางการค้าไปยังประเทศอื่นๆในประเทศภูมิภาคเดียวกัน ในชื่อกลุ่ม GCC ชี้ให้เห็นว่าแม้โลกไม่ได้กว้างใหญ่ขึ้น แต่โอกาสการค้าและการลงทุนของไทยยังเติบโตได้อีกมากเพราะการโอกาสใหม่ที่เก่าที่ที่คุ้นเคย