พิษโควิด-สินค้าแพงทุบ “ตรุษจีน” เม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดแค่ 2 พันล้าน
“ตรุษจีน” ปีเสือ 2565 เม็ดเงินท่องเที่ยวสะพัดไม่ถึง 2 พันล้านบาท “ททท.” ชี้ปัจจัยลบ โอมิครอน-สินค้าราคาแพง-ค่าครองชีพพุ่ง ทุบการจับจ่าย
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีน 2565 (วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565) เป็นปีที่ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งจากเชื้อสายพันธุ์ที่มีอยู่และการกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน (Omicron) ทำให้เป็นปีที่ 2 ที่กรุงเทพมหานครประกาศงดจัดกิจกรรมงานตรุษจีน มีเพียงแค่การตกแต่งและประดับไฟฟ้าตลอดเส้นถนนเยาวราช เช่นเดียวกับอีกหลายๆ จังหวัด ได้งดจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองเทศกาลแต่ยังคงกิจกรรมการไหว้เจ้าสักการะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามศาลเจ้า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
ส่งผลให้บรรยากาศตรุษจีนปีนี้ไม่คึกคักเท่าที่ควร แต่ไม่ซบเซาเท่ากับปีที่ผ่านมา
โดยตรุษจีน 2565 นอกจากจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยหลักของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีปัจจัยอื่นมากดดันการใช้จ่ายในช่วงเทศกาล ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจในประเทศที่ไม่ฟื้นตัว ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ทยอยปรับสูงขึ้น ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น และกำลังซื้อที่เปราะบาง ทำให้ผู้คนต้องประหยัดการใช้จ่าย กอปรกับปีนี้ไม่ตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดยาว ทำให้ไม่มีแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศมากนัก
สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้คาดการณ์การใช้จ่ายคนไทยในช่วง เทศกาลตรุษจีน 2565 (วันที่ 23 ม.ค. 2565) ไว้ว่า แม้ทิศทางราคาน้ำมันและค่าขนส่งเริ่มอยู่ในระดับสูง แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีสัญญาณที่ดีขึ้น ส่งผลให้คนกรุงเทพฯบางส่วนวางแผนทำบุญและท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่เป็นการท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวัง มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายภายใต้งบประมาณที่จำกัดตามค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น
“ดังนั้น ททท.จึงคาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวของชาวไทยในเทศกาลตรุษจีน 2565 จะกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนประมาณ 527,900 คน-ครั้ง และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 1,930 ล้านบาท และอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 15%”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะพบการแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้น แต่ด้วยสายพันธุ์นี้ไม่มีอาการรุนแรงเท่ากับสายพันธุ์เดลต้า ผนวกกับคนไทยได้รับการฉีดวัคซีนเข็ม 2 และเข็ม 3 มากขึ้น และรัฐบาลก็คลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ทำให้บางพื้นที่ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดไม่รุนแรง และมีการติดเชื้อต่างสามารถที่จะจัดกิจกรรมตรุษจีนได้ โดยรัฐบาลขอความร่วมมือพื้นที่จัดงานให้ดำเนินการภายใต้มาตรการ New Normal ปลอดภัยตามมาตรการสาธารณสุข (ที่มา: แถลงข่าว ศบค. วันที่ 17 ม.ค. 2565)
ดังนั้น ททท.จึงได้ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมตรุษจีนในบางพื้นที่ เพื่อสืบสานประเพณีและอนุรักษ์สืบทอดเทศกาลตรุษจีนชองพี่น้องคนไทยเชื้อสายจีน และสร้างบรรยากาศให้คนไทยได้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความตึงเครียดจาก สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยปี 2565 พื้นที่ที่ ททท.ดำเนินการเองมีจำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ กิจกรรมตรุษจีนที่จังหวัดราชบุรี และการตกแต่งประดับไฟฟ้าที่เส้นถนนเยาวราช กรุงเทพฯ
ส่วนพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนมีจำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรีและนครสวรรค์ ซึ่งคาดว่าบรรยากาศทางการท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างดี มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเดินทางเข้าพื้นที่ประมาณ 192,600 คน-ครั้ง และสร้างรายได้หมุนเวียน 1,080 ล้านบาท โดยแต่ละพื้นที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 26% เนื่องจากเป็นพื้นที่ ระยะใกล้ที่คนไทยสามารถขับรถยนต์เที่ยวแบบ One Day Trip หรือพักค้าง 1 คืน อีกทั้งเป็นพื้นที่แม่เหล็กที่เหล่า คนไทยเชื้อสายจีนและคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองไทยนิยมเดินทางไปไหว้สักการะขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สำหรับพื้นที่ ที่สร้างรายได้ท่องเที่ยวมากกว่าพื้นที่อื่นคือ เยาวราช (กรุงเทพฯ) ด้วยเป็นหนึ่งใน China Town ที่มี ชื่อเสียง แม้จะไม่มีการจัดกิจกรรมมีเพียงแค่การตกแต่งประดับไฟ แต่ด้วยเป็นพื้นที่ที่มีคนไทยเชื้อสายจีนอาศัยอยู่ เป็นจำนวนมาก และเป็นแหล่งรวมสถานที่ด้านความเชื่อ รวมทั้งแหล่งรวมของกินของใช้สำหรับคนจีน ซึ่งเป็น Magnet ในการเดินทางเข้าพื้นที่และการใช้จ่าย จึงทำให้สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวได้ดี
สอดคล้องกับข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ได้คาดการณ์การใช้จ่ายคนไทยในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2565 ว่าคนไทยจะยังคงใช้จ่ายเพื่อการจัดซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักของเทศกาล แม้ระดับราคาสินค้า จะปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ก็ยังใช้จ่ายซื้ออาหารเพื่อรับประทานร่วมกับครอบครัวด้วย