“สึนามิ” ประกันโควิด หลังยักษ์ใหญ่ "อาคเนย์" ล้ม
ถือเป็น “สึนามิ” ลูกล่าสุดที่เกิดขึ้นในธุรกิจประกันภัยของไทย หลังยักษ์ใหญ่ของวงการ “อาคเนย์ประกันภัย” ภายใต้บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGH ของอภิมหาเศรษฐี “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ยอมยกธงขาว
ทำหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งขอยกเลิกกิจการหลังประเมินแล้วว่าหากฝืนไปต่อ ทุกฝ่ายทั้งลูกค้า คู่ค้า รวมถึงพนักงานทุกคนคงได้รับผลกระทบมากกว่านี้แน่นอน เนื่องจากบริษัทเห็นสัญญาณแล้วว่าแนวโน้มยอดขอเคลมประกันโควิด-19 ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะประกันแบบ "เจอ จ่าย จบ" หลังมีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ซึ่งที่ผ่านมาทางกลุ่มได้จ่ายเงินเคลมประกันโควิด-19 ไปแล้วเกือบ 1 หมื่นล้านบาท ผ่านการสนับสนุนของกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น (TCC)
แน่นอนว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อฐานะการเงินและเงินกองทุนของบริษัทที่นับวันจะร่อยหรอลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกัน และในที่สุดคงต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังเช่นที่เกิดขึ้นกับหลายบริษัทก่อนหน้านี้
โดยปัจจุบันอาคเนย์ประกันภัยมีสินทรัพย์รวมกว่า 1.8 พันล้านบาท และเงินกองทุนที่ 170% สูงกว่าเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดไว้ที่ 120%
บริษัทจึงมองว่าเพียงพอที่จะจ่ายเงินคืนให้กับผู้เอาประกันภัยทุกราย รวมทั้งสามารถชำระหนี้ให้กับลูกค้าและพนักงานของบริษัท หากตัดสินใจปิดกิจการตั้งแต่ตอนนี้
ในมุมของอาคเนย์ประกันภัยมองว่าวิธีนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย โดยผู้เกี่ยวข้องจะได้รับเงินคืนทุกราย ขณะที่ คปภ. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลรีบออกมาชี้แจง แม้บริษัทจะยื่นขอคืนใบอนุญาตแล้ว แต่ต้องรอบอร์ดคปภ. พิจารณาก่อน ขณะนี้ยังไม่สามารถปิดหรือเลิกกิจการได้ ลูกค้าทุกรายยังได้รับความคุ้มครองต่อไป
ดูแล้วคนที่ตกที่นั่งลำบากที่สุดตอนนื้ คือ ลูกค้าที่ทำประกันภัยกับบริษัท ซึ่งมีมากกว่า 10 ล้านคน แบ่งเป็นลูกค้าที่ทำกรรมธรรม์โควิด-19 จำนวน 1.8 ล้านคน และกรรมธรรม์ที่ไม่ใช่โควิด-19 เช่น ประกันอุบัติเหตุ ประกันรถยนต์ ประกันอัคคีภัย ฯลฯ อีก 8.6 ล้านคน ที่เวลานี้หัวใจคงตุ๊มๆ ต่อมๆ ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร
เพราะบริษัทระบุว่าเมื่อขอเลิกกิจการแล้ว จะให้ คปภ. และกองทุนประกันวินาศภัย เข้ามาจัดการดูแลการเคลมและคืนเบี้ยประกันทั้งหมด ขณะที่ คปภ. ออกมาสวนทันควันว่าไม่สามารถทำได้ เพราะตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย กองทุนประกันวินาศภัยจะคุ้มครองเฉพาะเจ้าหนี้หรือลูกค้าของบริษัทประกันที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาตเท่านั้น ไม่ครอบคลุมบริษัทประกันภัยที่ขอเลิกกิจการเอง
หากเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าลูกค้าของอาคเนย์ประกันภัยไม่มีหลักประกันได้เลยว่า ถ้าบริษัทต้องปิดกิจการลงจริงๆ ใครจะเข้ามาดูแล หรือบริษัทจะรับผิดชอบอย่างไร ทั้งที่ลูกค้าเหล่านี้อุตส่าห์ไว้วางใจ เชื่อมั่นในบริษัท ถึงยอมมาซื้อประกันมากกว่า 10 ล้านคน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับอาคเนย์ประกันภัยถือเป็นผลพวงการวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายไปแทบทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นธุรกิจประกันภัยที่หลายคนมองว่าอู้ฟู่ ปลอดภัย ฐานะการเงินแข็งแกร่ง กอบโกยรายได้เป็นกอบเป็นกรรม
อย่างช่วงที่เกิดโรคระบาดใหม่ๆ ประชาชนแห่ซื้อประกันโควิด-19 โดยเฉพาะประกันแบบเจอ จ่าย จบ ถล่มทลาย ดันเบี้ยประกันสุขภาพทั้งระบบพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่รายได้บริษัทประกันโตแรงไม่แพ้กัน
แต่ใครจะไปคิดว่าหลังจากนั้นไม่กี่เดือน สถานการณ์พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า จนยอดขอเคลมพุ่งแรง กระทบฐานะการเงิน จนต้องปิดขายประกันเจอ จ่าย จบ หรือ ปรับเงื่อนไขการคุ้มครองเป็นการด่วน
ขณะที่หลายบริษัทไปต่อไม่ไหว เริ่มจาก “เอเชียประกันภัย” ที่จ่ายเคลมล่าช้า เนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน จนถูกเพิกถอนใบอนุญาตเมื่อเดือน ต.ค. 2564 ถือเป็น “สินามิ” ลูกแรกที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรม
ก่อนที่จะมีอาฟเตอร์ช็อก! ตามมาเรื่อยๆ ล่าสุด “เดอะ วัน ประกันภัย” หรือ สินทรัพย์ประกันภัย ถูกกระทรวงการคลังสั่งปิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ส่วน “อาคเนย์ประกันภัย” ต้องรอติดตามต่อไปว่าจะจบลงอย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเคสนี้สังคมให้ความสนใจอย่างมาก เพราะลูกค้าเยอะ แถมยังเป็นกลุ่มธุรกิจของเจ้าสัวระดับประเทศ เมื่อมหาเศรษฐียังยอมยกธงขาวที่เหลือจะเอาตัวรอดอย่างไร ดูแล้ว “สินามิ” ลูกใหม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ
ด้านมุมมองของกูรูในแวดวงการเงินการลงทุนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมประกันภัยของไทย มองว่าผลกระทบจากประกันโควิด-19 เจอ จ่าย จบ ยังอยู่ในวงจำกัด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการขนาดกลางขนาดเล็ก แต่รายใหญ่ฐานะการเงินยังแข็งแกร่ง เงินกองทุนยังมากกว่าที่กฎหมายกำหนด และต่างเลิกขายประกันเจอ จ่าย จบ กันหมดแล้ว