"บอนด์ยิลด์" คืออะไร? ไขข้อสงสัยบอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่ง-หุ้นไทยร่วง

"บอนด์ยิลด์" คืออะไร? ไขข้อสงสัยบอนด์ยิลด์สหรัฐพุ่ง-หุ้นไทยร่วง

ผู้มีประสบการณ์ลงทุนหลายท่านอาจคุ้นเคยกับคำว่า "บอนด์ยิลด์" (Bond Yield) เป็นอย่างดี เพราะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้น ไม่เว้นแม้แต่ตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะช่วงที่บอนด์ยิลด์เคลื่อนไหวสูงหรือต่ำจากระดับปกติมากจนเกินไป

สำหรับผู้ลงทุนมือใหม่ เพื่อตอบคำถามว่า "บอนด์ยิลด์" คืออะไร "กรุงเทพธุรกิจ" จึงสอบถามไปยัง คุณกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เพื่อไขข้อสงสัย

โดยคุณกิจพณเท้าความว่า "บอนด์ยิลด์" หรืออัตราผลตอบแทนพันธบัตร มีความแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยทั่วไปในตลาด เพราะอัตราดังกล่าวสามารถปรับขึ้นหรือลงได้ ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยในตลาด ณ ช่วงเวลาที่พันธบัตรมีการซื้อขายเปลี่ยนมือ

ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A ออกหุ้นกู้ (ตราสารหนี้/พันธบัตรภาคเอกชน) กำหนดอัตราผลตอบแทนไว้ที่ 2% แต่ด้วยภาวะดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น ส่งผลให้ในเวลาต่อมารัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนด้วยอัตราผลตอบแทน 2.5%

ในกรณีข้างต้น ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของหุ้นกู้บริษัท A ไม่จูงใจผู้ลงทุน แต่หากผู้ลงทุนจะขายหุ้นกู้ชุดดังกล่าวเพื่อไปหาหุ้นกู้หรือพันธบัตรรัฐบาลชุดใหม่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ผู้ลงทุนที่ถือหุ้นกู้บริษัท A จะต้องขายหุ้นกู้ที่ถือในราคาที่ถูกลง เพื่อให้บอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น

ในทางกลับกัน หากภาวะดอกเบี้ยเป็นขาลง เดิมผู้ลงทุนหุ้นกู้บริษัท A ได้อัตราผลตอบแทนที่ 2% ขณะที่รัฐบาลออกพันธบัตรเพื่อระดมทุนในอัตราดอกเบี้ย 1.5% จะส่งผลให้ผู้ถือหุ้นกู้บริษัท A สามารถขายหุ้นกู้ชุดดังกล่าวได้ในราคาที่สูงขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องกดราคาหุ้นกู้ลงเพื่อให้บอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น

ขณะที่ผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น เป็นผลมาจากที่ผู้ลงทุนมักเปรียบเทียบการลงทุนของ 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดตราสารหนี้/ตลาดพันธบัตร และตลาดหุ้น โดยจะพิจารณาจากส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้น (Earning Yield Gap)

หากผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเพิ่มขึ้นสูง จะส่งผลให้ Earning Yield Gap ปรับตัวลง หมายถึง การลงทุนในตลาดหุ้นจะน่าสนใจลดลง เพราะนักลงทุนสามารถถือพันธบัตร (ที่ความเสี่ยงต่ำกว่า) แต่ได้อัตราผลตอบแทนพอๆ กับการลงทุนในตลาดหุ้น

ในทางกลับกัน หากผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรลดลง จะส่งผลให้ Earning Yield Gap ปรับตัวขึ้น และจะส่งผลให้ความน่าสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น

โดยบอนด์ยิลด์ที่มีผลต่อทิศทางการลงทุนโลกมากที่สุดคงหนีไม่พ้นบอนด์ยิลด์ของสหรัฐ หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรในตลาดปรับตัวขึ้นตามไปด้วย 

อย่างไรก็ดี บอนด์ยิลด์เป็นสิ่งที่ปรับขึ้นได้จำกัด เช่น ในภาวะที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องกู้เงินมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะออกพันธบัตรมาระดมทุนในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจูงใจนักลงทุน เพราะจะส่งผลให้ภาระหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมากจนเกินไป

นอกจากนี้ แม้ว่าบอนด์ยิลด์จะปรับตัวขึ้นสูง แต่หากกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียน (EPS) อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลให้ Earning Yield Gap ลดลง และยังจูงใจให้เงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น (จากสูตรคำนวณ Earning Yield Gap = EPS/ราคาหุ้น*100)

"ถ้าประเทศไหนกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) แข็งแกร่ง เป็นขาขึ้นตลอด ตลาดหุ้นก็ยังขึ้นได้ ไม่จำเป็นต้องลงในยามที่บอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น แต่ถ้าบอนด์ยิลด์เพิ่มขึ้น กำไร บจ.ก็แย่ จะเป็นจุดที่ทำให้เงินไหลออกจากตลาดหุ้น"