ร.ฟ.ท.เตรียมเจรจาซีพี ส่วนต่อขยาย “ไฮสปีด”

ร.ฟ.ท.เตรียมเจรจาซีพี  ส่วนต่อขยาย “ไฮสปีด”

ร.ฟ.ท.ชงงบ ปี 2566 เดินหน้าออกแบบพร้อมจัดทำรายงานพีพีพี - อีไอเอ ดันส่วนต่อขยายไฮสปีดสามสนามบิน ช่วงอู่ตะเภา - ระยอง กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท เปิดทางเจรจา “ซีพี” พิจารณาร่วมทุนเป็นกลุ่มแรก ลั่นเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญากำหนด

รายงานข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยาย ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด โดยระบุว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.เตรียมเสนอของบประมาณปี 2566 ในเดือนต.ค.นี้ เพื่อของบราว 100 ล้านบาท ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษาออกแบบ รวมทั้งจัดทำรายงานแผนการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) และรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) ความเหมาะสมในการพัฒนาส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรน

โดยงบส่วนดังกล่าวเป็นงบผูกพัน 2 ปี (2566 - 2567) คาดว่าหากได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว จะใช้เวลาราว 12 เดือน ในการศึกษารายละเอียด แล้วเสร็จเพื่อเสนอให้คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.พิจารณาอนุมัติผลการศึกษาภายในปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติในปี 2568 และเปิดประกวดราคาจัดหาเอกชนร่วมลงทุนในปี 2569

อย่างไรก็ดี การก่อสร้างส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรนในเส้นทางช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด เบื้องต้น ร.ฟ.ท.ศึกษาพบว่ามีระยะทางประมาณ 190 กิโลเมตร ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเร่งรัดให้พัฒนาโครงการรองรับการขยายตัวของการขนส่งสินค้าในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยอาจนำร่องในช่วงแรก คือ อู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 30 กิโลเมตร คาดว่าวงเงินลงทุนอยู่ที่ 1.4 หมื่นล้านบาท

“ความคุ้มค่าในการลงทุนส่วนต่อขยายไฮสปีดเทรนขณะนี้ต้องประเมินความเหมาะสมก่อน แต่การขยายในเฟสแรกจากอู่ตะเภา-ระยอง มีความเป็นไปได้สูง เพราะแนวเส้นทางที่ขยายออกไปนี้จะสนับสนุนทั้งการขนส่งสินค้าทางการเกษตร ผลไม้ในจังหวัดระยอง รวมไปถึงในด้านของการท่องเที่ยวด้วย”

ทั้งนี้ หากจะมีการผลักดันลงทุนส่วนต่อขยายในช่วงอู่ตะเภา - ระยอง ร.ฟ.ท.จะต้องเปิดโอกาสให้เอกชนรายเดิมคือ กลุ่มซีพี เป็นผู้พิจารณาการลงทุนก่อน เนื่องจากเงื่อนไขในสัญญาร่วมลงทุนไฮสปีดเทรนสามสนามบิน ระบุไว้ว่าในสิทธิเจรจากับผู้ลงทุนรายเดิมในการลงทุนส่วนต่อขยาย แต่หากเอกชนรายเดิมไม่แสดงความสนใจในการลงทุน ร.ฟ.ท.จึงจะเปิดประกวดราคาเป็นการทั่วไป

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า หากกลุ่มซีพีไม่สนใจลงทุนส่วนต่อขยาย และต้องเปิดประกวดราคาหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ หากจะให้จูงใจเอกชนรายใหม่ ก็จำเป็นต้องประกวดราคาให้ครบทั้งเส้นทาง ช่วงระยอง - จันทบุรี - ตราด ระยะทาง 190 กิโลเมตร และความเหมาะสมของอายุสัมปทานก็ควรจะเป็นระยะยาว 50 ปี ส่วนรูปแบบการร่วมทุนน่าจะเป็นในลักษณะ PPP Gross Cost โดยรัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา เอกชนสร้างงานระบบและหาขบวนรถมาวิ่ง หลังจากนั้นรัฐจะเก็บรายได้ทั้งหมด และจ่ายเป็นค่าจ้างบริหารให้เอกชน

ในส่วนของการศึกษาแนวเส้นทาง เดิมมีการพิจารณา 5 เส้นทาง พบว่าแนวเส้นทางเลือกที่ 2 มีความเหมาะสมมากที่สุด ทั้งด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของประชาชนในพื้นที่ โดย ร.ฟ.ท. จะนำแนวเส้นทางเลือกที่ 2 ไปดำเนินการออกแบบรายละเอียดต่อไปเบื้องต้นต่อไป

สำหรับเส้นทางที่ 2 จะมีจุดเริ่มต้นโครงการจะเชื่อมต่อจากโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบิน ระยะที่ 1 ฝั่งตะวันออกของท่าอากาศยานอู่ตะเภา ผ่านสถานีรถไฟบ้านฉาง เข้าสู่สถานีระยอง ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 3574 (ระยอง - บ้านค่าย) ห่างจากสี่แยกเกาะลอย ประมาณ 3 กิโลเมตร จากนั้นแนวเส้นทางจะมุ่งหน้าสู่อำเภอแกลง เข้าสู่สถานีแกลง ซึ่งตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 344 (ชลบุรี - แกลง) ห่างจากสามแยกแกลง ประมาณ 2 กิโลเมตร

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์