MILL ดัน Circular Economy สร้างมูลค่าเพิ่มขยะอุตสาหกรรมในอีอีซี

MILL ดัน Circular Economy สร้างมูลค่าเพิ่มขยะอุตสาหกรรมในอีอีซี

“มิลล์คอน สตีล” เฟ้นหาพันธมิตรเสริมแกร่งเศรษฐกิจหมุนเวียน สร้างมูลค่าเพิ่มจากขยะอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC คาดผลการดำเนินงานปี 65 รายได้ทะลุเป้าหมาย 2 หมื่นล้าน รับอานิสงส์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินในปี 2565 บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้จะเติบโตมากกว่าเป้าหมายที่ 2 หมื่นล้านบาท ปัจจัยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ประกอบกับราคาเหล็กสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้นราวๆ 23% ในขณะความต้องการบริโภคเหล็กภายในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งมีความต้องการใช้งานประมาณ 19 ล้านตัน/ปี 

ทั้งนี้ แผนยุทธศาสตร์หลักของกลุ่มมิลล์คอนฯ ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้บริษัทมีแนวคิดที่จะหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นผู้นำกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในส่วนของการสร้างมูลค่าเพิ่มขยะอุตสาหกรรม

 

ในปี 2564 กลุ่มมิลล์คอนฯ รีไซเคิลเศษเหล็กจากซากรถยนต์มากกว่า 2.8 แสนตัน โดยซากรถยนต์ 1 คันประกอบด้วยเหล็กประมาณ 70% ซึ่งสามารถนำกลับมาหลอมใช้งานใหม่ได้ และอีก 30% ชิ้นส่วนต่างๆ ประกอบด้วย สายไฟ พลาสติก ฟองน้ำ เบาะ พรม จัดเป็นขยะอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ขยะที่เหลือจากการรีไซเคิลสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวะมวลได้

“ที่ผ่านมา MILL ในฐานะผู้ผลิตเหล็ก ทุกขั้นตอนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำเราให้ความสำคัญด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้เกิดระบบการกำจัดของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ" 

 

 

โดยของเสียจากขั้นตอนการบดย่อยเศษเหล็กจะถูกคัดแยกนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า มีการใช้พลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งตระกรันจากการหลอมเหล็กสามารถนำมาใช้ผสมคอนกรีตในการทำถนนตามหลัก Zero Waste ได้

นอกจากนี้ยังศึกษาและพัฒนารถบรรทุกพลังงานไฟฟ้ามาใช้ในการดำเนินกิจการเพื่อลดมลภาวะ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะผลักดันให้กลุ่มธุรกิจเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของกลุ่มอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ กลุ่มมิลล์คอน สตีล ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายเหล็ก โดยมี บริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ดำเนินกิจการด้านการบริหารจัดการเศษเหล็กและขยะอุตสาหกรรม มองเห็นโอกาสการสร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ขยะอุตสาหกรรม”

โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นับเป็นพื้นที่เป้าหมายที่สำคัญในการลงทุนด้านการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรม พร้อมเล็งหาพันธมิตรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญร่วมลงทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่ง