"แฮมป์ตัน โฮเทลฯ" บุกตลาด 3 ดาว ชักธงรบชิง "ท็อป 5" เชนโรงแรมไทย!
บริษัท แฮมป์ตัน โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ “HHR” ธุรกิจบริหารโรงแรมและที่อยู่อาศัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2564 ตามเป้าหมายขยายการเติบโตสู่ธุรกิจใหม่ของยักษ์อสังหาริมทรัพย์ “เครือออริจิ้น” วางโรดแมพเตรียมนำบริษัทฯเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2566
จตุพร วิไลแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฮมป์ตัน โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ แมเนจเม้นท์ จำกัด ฉายภาพถึงที่มาของการก่อตั้ง HHR ว่า เกิดจากเครือออริจิ้นเล็งเห็น “โอกาสของตลาดที่อยู่อาศัย” ในช่วงเกิดวิกฤติโควิด-19 เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา จึง “ปรับโมเดล” โรงแรมสเตย์บริดจ์ สวีท กรุงเทพฯ ทองหล่อ ขนาด 303 ห้องพัก ที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือน ม.ค.2563 จากการหารายได้รายวัน อาศัยฟังก์ชันการใช้งานภายในห้องพักตอบโจทย์การหารายได้จากการเข้าพักที่นานขึ้น (Extended Stay) และพำนักในระยะยาว (Long Stay) ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับดีจากลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าญี่ปุ่นกลุ่มองค์กร ทำให้ปีที่แล้วมีอัตราเข้าพัก 82% คาดปีนี้เพิ่มเป็น 89% ส่วนรายได้ต่อห้องพัก (RevPAR) เฉลี่ยปีนี้น่าจะอยู่ที่ 2,000 บาทต่อคืน ยังน้อยกว่าสถานการณ์ปกติที่เคยได้ 2,800 บาทต่อคืน
ขณะที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ แอนด์ สวีทส์ ศรีราชา ขนาดมากกว่า 300 ห้องพัก คาดปีนี้มีอัตราเข้าพัก 55-60% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 40% ด้วย RevPAR เฉลี่ย 1,300-1,400 บาทต่อคืน เพิ่มขึ้นจาก 1,100 บาทต่อคืนเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการฟื้นตัวของลูกค้าตลาดองค์กร นี่คือดีมานด์ที่เรามองเห็น!
นอกจากนี้ยังมองเห็นศักยภาพของ HHR ตรงสามารถปรับโปรดักต์ที่อยู่อาศัยทั้งเซอร์วิสอพาร์ทเมนต์ คอนโดมิเนียม เป็น “เรสซิเดนซ์” ที่ได้มาตรฐานระดับโรงแรม เพื่อให้บริการสัญญาเช่าห้องพักรายปี ตามแผนขยายจำนวนเรสซิเดนซ์ในช่วงปี 2564-2567 ให้บริการรวม 11 แห่ง กระจายในแถบกรุงเทพฯ ทั้งย่านซีบีดีและใกล้นิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อดูเฉพาะปี 2566 จะมีจำนวนยูนิตของกลุ่มเรสซิเดนซ์รวมประมาณ 3,500 ยูนิต และเพิ่มเป็น 5,000 ยูนิตในปี 2571
ด้านแนวทางบริหารธุรกิจ “กลุ่มโรงแรม” บริษัทฯจะมุ่งบริหารโรงแรมแบรนด์อิสระ (White Label) หรือ Non Brand ให้ได้มาตรฐานเดียวกับแบรนด์โรงแรมระดับนานาชาติ ควบคู่กับการพัฒนาแบรนด์โรงแรมในกลุ่ม “แฮมป์ตัน” เพื่อเพิ่มอัตราเข้าพักและรายได้ที่สูงขึ้น ด้วยวิสัยทัศน์การเป็นเชนรับบริหารโรงแรมในไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล ผ่านแนวคิด “Think Global Act Local for Thais” ทั้งนี้กำลังพิจารณาโลเกชันที่จะเข้าไปพัฒนาแบรนด์โรงแรมกลุ่มแฮมป์ตัน โดยประเมินว่าอีก 2 ปีข้างหน้าที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 จะเป็นจังหวะที่เหมาะสมกับการเข้าไปทำตลาด “Pure Hotel”
สำหรับแผนขยายโรงแรมของบริษัทฯ จากปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 2 แห่ง ในระยะสั้นปี 2565-2566 จะเปิดอีก 11 แห่ง ขนาดเฉลี่ย 250 ห้องพักต่อแห่ง แบ่งเป็น HHR ลงทุนเอง 3 แห่ง ได้แก่ บางนา กรุงเทพฯ, เทพารักษ์ และใน จ.สมุทรปราการ รองรับตลาดนิคมอุตสาหกรรม ส่วนอีก 8 แห่งที่เหลือเป็นการลงทุนร่วมกับ “วันออริจิ้น” โดยอาศัยจุดแข็งของบริษัทแม่ฯ เพื่อคุมต้นทุนก่อสร้างห้องพักให้อยู่ที่ไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อห้อง คาดแต่ละแห่งใช้เวลาไม่เกิน 5 ปีในการเห็นจุดคุ้มทุน
โดยโมเดลการลงทุนและรับบริหารจะรุกตลาดโรงแรมราคาประหยัด (Economy Hotel) หรือ “โรงแรม 3 ดาว” กระจายในหัวเมืองท่องเที่ยวทั้งภูเก็ต กระบี่ หัวหิน พัทยา และเชียงใหม่ รวม 6 แห่ง ใช้ทั้งแบรนด์อินเตอร์ฯ และแบรนด์ “แฮมป์ตัน” เป็นหัวหอกในการบุก โดยตัวแบรนด์แฮมป์ตันวางกลยุทธ์ตั้งราคาขายห้องพักเริ่มต้นที่ประมาณ 1,200 บาท/ห้อง/คืน ชนกับแบรนด์ดังในตลาด เช่น ไอบิส ของเครือแอคคอร์ รวมถึงโรงแรม 3 ดาวแบรนด์ทั่วไปที่ไม่ได้จ้างเชนโรงแรมรับบริหาร หลังเห็นโอกาสของตลาด 3 ดาวที่สามารถอัพราคาห้องพักในช่วงพีคเมื่อสถานการณ์ท่องเที่ยวกลับมาเป็นปกติ ไล่ราคาสู้กับโรงแรมระดับ 4-5 ดาวได้! และสามารถเข้าถึงตลาดนักท่องเที่ยวไทยซึ่งเป็นดีมานด์ที่ยั่งยืน!
ทำให้ ณ สิ้นปี 2566 บริษัทฯจะมีโรงแรมรวม 13 แห่ง คิดเป็นจำนวน 2,582 ห้องพัก และตามแผนระยะยาวภายในปี 2571 จะขยายโรงแรมเพิ่มอีก 5 แห่ง เป็นทั้งหมด 18 แห่ง
ทั้งนี้ในปี 2566 บริษัทฯยังได้ตั้งเป้าหมายกระโดดติด “ท็อป 5” ของเชนโรงแรมที่มีจำนวนห้องพักมากที่สุดในประเทศไทย! ด้วยจำนวนห้องพักของทั้งกลุ่มโรงแรมและเรสซิเดนซ์รวม 6,000 ยูนิต ไต่อันดับขึ้นมาประชิดเครือเซ็นทารา เครือดุสิตธานี เครือดิเอราวัณกรุ๊ป และเครือบีทู ซึ่งแต่ละค่ายมีจำนวนห้องพักในพอร์ตประมาณ 1-1.5 หมื่นห้องพัก