แม่ทัพเดอะ วันฯ ชี้ธุรกิจบันเทิงโลกเปิด โอกาสทองคอนเทนท์ไทย ชิงคนดู-รายได้
การปรับตัวของธุรกิจสื่อบันเทิงยังต้องเดินต่อไปไม่หยุดตราบเท่าที่พฤติกรรมผู้บริโภคหรือคนดูเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึง “ดิจิทัล ดิสรัปชั่น” ยังตีคู่ธุรกิจ “เดอะ วันฯ” เป็นอีกค่ายที่แก้เกมกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง พลิกภาพองค์กรจากสื่อไปสู่ “ผู้ผลิตคอนเทนท์”
ส่วนปี 2565 ทิศทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) บอกเล่าการขับเคลื่อนธุรกิจกับ "สุกิจ อุดมศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ Chief Research Officer บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กับคอนเซปต์ Move on to “THE NEXT CHAPTER”
ถกลเกียรติ ฉายภาพ ธุรกิจสื่อเป็นเหมือนกระจกสะท้อนสังคมแต่ละยุคสมัย การสร้างสรรค์เนื้อหาหรือคอนเทนท์ต่างๆ มาจากพื้นฐานของสิ่งทีเกิดขึ้นในสังคมแต่ละห้วงเวลา ซึ่งแตกต่างกันไป ตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน หลังสงครามโลก แม้กระทั่งช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ
ย้อนไปไกล ขยับใกล้เข้ามา ธุรกิจสื่อทีวี เดิมที่เคยมี 4-5 ช่อง เมื่อประมูลทีวีดิจิทัล เพิ่มเป็น 24 ช่อง และยกธงขาวออกจากตลาดบ้าง แต่ผู้ที่อยู่รอด ยังหาทางสร้างธุรกิจให้เติบโตฝ่าทุกมรสุม และต้องไม่ใช่ตกใจกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและแรง
“เราเคยตกใจกับเหตุดิสรัปชั่น แต่เมื่อกลับมามองตัวเอง เราคือผู้ผลิตคอนเทนท์ เมื่อสร้างสรรค์เนื้อหารายการต่างๆ จึงสามารถป้อนคนดูผ่านแพลตฟอร์มต่างๆทั้งทีวี ออนไลน์ โอทีที”
ทั้งนี้ พฤติกรรมคนดูคือตัวกำหนดให้ผู้ผลิตคอนเทนท์สร้างสรรค์เนื้อหาที่โดนใจ เหมาะกับแต่ละแพลตฟอร์ม เช่น บางคนไม่ดูรายการสด ดูย้อนหลัง ฯ ขณะเดียวกันคนดูต่างวัย ยังดูคอนเทนท์ไม่เหมือนกัน บางเนื้อหาดังพลุแตกในหมู่วัยรุ่น แต่วัยผู้ใหญ่อาจไม่เคยรู้จัก หรือติดตามเลย ดังนั้น ในการผลิตคอนเทนท์ “ผู้ชมกลุ่มเป้าหมาย” จึงสำคัญมาก
“คอนเทนท์เราไปได้ทุกช่องทาง แทนที่จะมองดิจิทัล ดิสรัปชั่นเป็นอุปสรรคหรือ Threats ต้องมองให้เป็นโอกาสเพื่อผลิตเนื้อหาที่หลากหลายป้อนคนดู แต่ทิศทางการทำคอนเทนท์ให้โดนใจผู้ชม เราต้องแม่นใครคือกลุ่มเป้าหมาย”
ปัจจุบันตลาดคอนเทนท์เปิดกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะ “กระแสเกาหลี” เพราะเป็นการสะกิดให้คนดูรวมถึงตลาด “ทั้งโลก” หันกลับมามองละคร ซีรี่ส์ รายการต่างจากผู้ผลิตเอเชียมากขึ้น รวมถึงไทยด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายเรื่องที่ติดอันดับความนิยมบนแพลตฟอร์มโอทีทียักษ์ใหญ่อย่าง “เน็ตฟลิกซ์” รวมถึงคนดูทลายกำแพงภาษา ยินดีที่จะอ่าน “คำบรรยาย” มากขึ้น เป็นต้น
เดอะ วันฯ มีการผลิตซีรี่ส์ “เด็กใหม่”(Girl From Nowhere) ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในตลาดเอเชีย รวมถึงหลายประเทศในอเมริกาใต้ เพราะติด Top 10 ที่มีผู้ชมสูงสุดมาแล้ว รวมถึงได้รางวัลระดับเอเชีย การีนตีด้วย
ทว่า การจะไปเจาะตลาดโลกต่อ ต้องตีโจทย์ใหม่ มองกลุ่มเป้าหมายเป็นที่ตั้งว่าจะผลิตเนื้อหาให้ใครดู เช่น ผลิตคอนเทนท์ให้คนไทยดู ผลิตคอนเทนท์ไทยให้ชาวโลกดู หรือผลิตคอนเทนท์ให้คนไทยและทั้งโลกดูได้ ซึ่ง ถกลเกียรติ ยกตัวอย่างการปรุงอาหารให้เห็นภาพชัดขึ้น ร้านอาหารไทยในต่างแดนทั้งสหรัฐ อังกฤษย่อมปรับรสชาติให้อ่อนลงเพื่อถูกปากคนท้องถิ่น ส่วนรสชาติไทยแท้ที่คนไทยชอบต้องหากินที่ร้านอาหารในประเทศไทย เป็นต้น
“ปี 2565 โอกาสทางการตลาดธุรกิจบันเทิงในโลกมีมากขึ้น ซึ่งจากการหารือกับบริษัทระดับโลก ทำให้รู้ว่าตลาดต่างประเทศกำลังจับตาและเชื่อมั่นคอนเทนท์จากไทยมากขึ้น”
แม้ขุมทรัพย์แห่งโอกาสเปิดกว้าง แต่ธุรกิจบันเทิงยังไม่พ้นความเสี่ยงจากพายุดิจิทัลถาโถม ซึ่งการรับมือของบริษัทคืออยู่กับปัจจุบัน พร้อมกับคาดการณ์อนาคตไว้ เพื่อสร้างสมดุลในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโต
อย่างไรก็ตาม เดอะ วันฯ มีธุรกิจหลักเป็นสื่อทีวี และพลิกกระบวนท่ามุ่งผลิตคอนเทนท์ ซึ่งเป็น Non-TV มากขึ้น ถือเป็นภารกิจสำคัญต้องบาลานซ์พอร์ตธุรกิจให้กลมกล่อม สำหรับผลการดำเนินงานปี 2561-2563 มีรายได้รวม 4,199 ล้านบาท 4,818 ล้านบาท และ 4,875 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี 7.7% และมีกำไรสุทธิ 73 ล้านบาท 228 ล้านบาท และ 658 ล้านบาท ตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี 201.0% การเข้าตลาดฯยังปลดล็อกด้านการเงิน เพื่อเคลื่อนธุรกิจให้โตต่อด้วย