“พรีเมียร์ลีก” ยุคโควิด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “ยูเค” กว่า 7 พันล้านปอนด์  

“พรีเมียร์ลีก” ยุคโควิด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “ยูเค” กว่า 7 พันล้านปอนด์  

“พรีเมียร์ลีก” ฤดูกาล 2019/20 สร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร 7,600 ล้านปอนด์ รวมถึงสร้างประโยชน์อื่นๆ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สะท้อนการเป็นหนึ่งในตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

“พรีเมียร์ลีก” ฤดูกาล 2019/20 สร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร 7,600 ล้านปอนด์ และประโยชน์อื่นๆ ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 สะท้อนการเป็นหนึ่งในตัวช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

อย่างที่ทราบกันดีว่า วิกฤติโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจในระดับโลก แทบทุกประเทศต่างต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจหดตัว ซึ่ง “อังกฤษ” หรือ “สหราชอาณาจักร” (ยูเค) ได้รับผลกระทบเฉกเช่นกับหลายประเทศทั่วโลก โดยในปี 2020 ขนาดเศรษฐกิจยูเค หดตัวลงราว 2.16 แสนล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับปี 2019

หนึ่งในภาคส่วนสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด คือ “พรีเมียร์ลีก” หรือลีกอันดับหนึ่งของวงการลูกหนังอังกฤษ ที่ต้องสูญเสียรายได้ถึง 1,300 ล้านปอนด์ เนื่องด้วยการไม่สามารถเข้าชมแมตช์การแข่งขันได้ตามปกติ รวมถึงการยกเลิกแมตช์การแข่งขันในบางรายการ 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาเดียวกัน พรีเมียร์ลีกก็ยังสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ คิดเป็นมูลค่าเพิ่มราว 7,600 ล้านปอนด์ นอกจากนั้น ยังสร้างรายรับภาษีแก่รัฐบาลด้วยมูลค่ารวมที่ 3,600 ล้านปอนด์ นับเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักร

  •   “พรีเมียร์ลีก” ลีกระดับแถวหน้าของโลกให้อะไรกับเศรษฐกิจ  

นับตั้งแต่ฤดูกาล 1992/93 หรือช่วงระหว่าง ส.ค. 1992 ถึง พ.ค. 1993 ลีกฟุตบอลสูงสุดของสหราชอาณาจักร หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า “พรีเมียร์ลีก” ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างชื่อเสียงระดับโลก และเป็นหนึ่งในลีกฟุตบอลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเวลานี้ แฟนบอลจากทั่วทุกมุมโลกต่างรู้จักและให้ความสนใจเป็นอย่างมาก 

ชื่อเสียงที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างประโยชน์ให้กับวงการลูกหนังอังกฤษ แต่ยังคงสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับสหราชอาณาจักรอีกด้วย 

"EY" บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก ได้ออกรายงานที่เก็บรวบรวมข้อมูลและประมวลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้องกับพรีเมียร์ลีกในฤดูกาล 2019/20 พบว่า แม้ในปี 2020 พรีเมียร์ลีกจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ต้องสูญเสียรายได้จากค่าเข้าชม ค่าสิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และอื่นๆ รวมแล้วราว 1,300 ล้านปอนด์

ถึงกระนั้น พรีเมียร์ลีกได้สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ 7,600 ล้านปอนด์ โดยมูลค่าแท้จริงเพิ่มขึ้นจากฤดูกาล 1998/99 เท่ากับ 440% แต่หากคิดเพียงมูลค่าตัวเงินจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 840% สะท้อนถึงความสามารถในการสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“พรีเมียร์ลีก” ยุคโควิด ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ “ยูเค” กว่า 7 พันล้านปอนด์   ที่มา : Premier League 


นอกจากนี้ ยังสร้างงานกว่า 94,000 ตำแหน่ง และรายได้ภาษีแก่รัฐบาลที่ 3,600 ล้านปอนด์ โดยภาษีรายได้ของนักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกราว 1,400 ล้านปอนด์

 

  •   “พรีเมียร์ลีก” และมูลค่าที่สูญเสียไปท่ามกลางวิกฤติโควิด-19  

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ที่ได้ทำให้กิจกรรมต่างๆ ของพรีเมียร์ลีกมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป เกิดการสูญเสียรายได้และประโยชน์อื่นๆ 

ถึงแม้ว่า พรีเมียร์ลีกจะยังสามารถสร้างรายได้และคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดีระดับหนึ่ง แต่จากที่ได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่าหากไม่เกิดวิกฤติโควิด ประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากพรีเมียร์ลีกนั้นจะมีมูลค่าสูงกว่าที่ตัวเลขที่ได้แสดงไปในข้างต้น 

หากไม่มีผลกระทบจากโควิด-19 คาดการณ์ว่า พรีเมียร์ลีกจะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้ราว 8,700 ล้านปอนด์ หรือมากกว่าตัวเลขที่ปรากฏ 1,100 ล้านปอนด์ 

เช่นเดียวกับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่คาดว่าจะสามารถเก็บเพิ่มได้อีก 300 ล้านปอนด์ และมีการจ้างงานมากกว่าที่ปรากฏในข้อมูลของ EY ราว 5,000 ตำแหน่ง โดยรวมแล้วผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของพรีเมียร์ลีกจะสูงกว่าที่ปรากฏราว 15% หากไม่เกิดวิกฤติโควิด-19 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้พรีเมียร์ลีกมีความสามารถในการสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจลดลง แต่จากข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้นก็บอกได้ว่า พรีเมียร์ลีกยังคงเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่คอยช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรดังเช่นที่ผ่านมา 

 

------------------------------------

อ้างอิง

Premier League 

Statista