กางแผน การค้าชายแดน-ผ่านแดน ดันยอดปี 65 โต5-7 %
การค้าชายแดน-ผ่านแดนไทยปี 64 ฉลุย กวาดเงินเข้าประเทศกว่า 1.7 ล้านล้านบาท ลุ้นปี 65 โตต่อเนื่อง เล็งใช้ประโยชน์รถไฟลาว-จีน ขนสินค้าผ่านแดน ดันส่งออกสินค้าไทย
การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยถือเป็นส่วนหนึ่งในยอดตัวเลขการส่งออกของไทย โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา ตัวเลขการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยถือว่าทำได้ดี มีมูลค่าการค้ารวม 1,715,345 ล้านบาท ขยายตัว 30.03% ถือว่าเกินเป้าเดิมที่ตั้งไว้ 6% หรือเพิ่มขึ้น 5-6 เท่า
แม้ว่าในปี2564 ยังคงประสบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ทำให้ด่านชายแดนหลายด่านต้องปิด หรือมีความเข้มงวดการตรวจโควิด-19 ทั้งบุคคลและสินค้าที่นำเข้า-ส่งอออก แต่เมื่อสถานการณ์คลี่คลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า ประชาชนกล้าออกมาใช้จ่าย ทำให้ความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับภาคเอกชนแก้ปัญหาเชิงรุก จนทำให้สินค้าไทยส่งออกได้คล่องตัวขึ้น
หากไล่เฉพาะเพียงการส่งออกเพียงอย่างเดียว มูลค่าการส่งออกปี 64 สูงถึง 1,031,330 ล้านบาท เพิ่ม 34.60% ซึ่งเป็นตัวที่หนุนยอดการส่งออกของไทยทั้งปีที่มีมูลค่า 8.5 ล้านล้านบาท โดยยอดส่งออกของไทยนี้เป็นตัวเลขการผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนในประเทศเพื่อนบ้านถึง 1 ล้านล้านบาท จึงนับได้ว่า การค้าชายแดนและผ่านแดนถือว่ามีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนการส่งออกของไทยที่เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
จากสถิติการส่งออกผ่านด่านชายแดนและข้ามแดนย้อนหลังไป ตั้งแต่ปี 2560-2564 พบว่า
ตั้งแต่ ในปี2561 เริ่มส่งออกน้อยลงโดย มีมูลค่า 800,543 ล้านบาท ติดลบ 1.30 %
ปี 2562 มีมูลค่า 783,231 ล้านบาท ติดลบ 2.16 % ปี 2563 มีมูลค่า 766,211 ล้านบาทติดลบ 2.17 % ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ในปี 64 กลับมาขยายตัว 34.60 %, มูลค่า 1,031,330 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่คลี่คลายลง
และเมื่อเจาะลึกลงไปถึงรายละเอียดตัวเลขส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนทั้งปี 2564 ใน 7 ประเทศ พบว่า
สปป.ลาว มูลค่า 417,731 ล้านบาทเพิ่ม 39.31%
มาเลเซีย มูลค่า 346,603 ล้านบาท เพิ่ม 42.6%
เมียนมามูลค่า 122,086 ล้านบาท เพิ่ม 109.24%
กัมพูชา มูลค่า 144,910 ล้านบาท เพิ่ม 16.63%
จีน มูลค่า 194,820 ล้านบาท เพิ่ม 59.71%
สิงคโปร์ มูลค่า 53,853 ล้านบาท เพิ่ม 51.49%
เวียดนาม มูลค่า 46,308 ล้านบาท เพิ่ม 5.03%
สำหรับเป้าหมายการค้าชายแดนในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 5 - 7% โดยมองว่า การค้าจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี64 จากผลของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจเพื่อนบ้านฟื้นตัวและมีความต้องการสินค้าไทยอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเป็นปัจจัยที่หนุนส่งศักยภาพการแข่งขันกับประเทศคู่ค้าของไทย
ที่สำคัญที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือ การเปิดเดินรถไฟลาว-จีน จะสร้างประโยชน์ต่อการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทย เพราะจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยจากเวียงจันทน์ สปป.ลาวสะดวกมาก จากข้อมูลพบว่า ภายหลังการเปิดรถไฟลาว-จีน มีปริมาณขนส่งเพิ่มขึ้นจาก 116,552 ตันเป็น 304,119 ตัน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.64 พันล้านบาทเป็น 6.91 พันล้านบาท มูลค่านำเข้าส่งออกที่ด่านหนองคายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังมีรถไฟลาว-จีนเกิดขึ้น ซึ่งส่วนนี้ถือเป็น”กุญแจสำคัญ”ขึ้น ในการต่อยอดตัวเลขการส่งออกของไทยมากขึ้น โดยจะมีการเจรจาให้จีนไฟเขียวส่งออกผลไม้ไทยผ่านรถไฟลาว-จีน ให้ทันก่อนฤดูกาลผลไม้ไทยในช่วงเดือนเม.ย.นี้
อีกด้านหนึ่งก็จะเร่งรัดการเปิดด่านชายแดนเพิ่มซึ่งปัจจุบันมี 97 ด่านเปิดแล้ว 48 ด้าน และมีเป้าหมายเปิดปี 65 อีก 12 ด่าน ประกอบด้วย
- จุดผ่านแดนถาวรสะพานข้ามแม่น้ำแห่งที่ 1 อ.แม่สาย จ.เชียงราย
- จุดผ่อนปรนการค้า บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
- จุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงคาน จ.เลย
- จุดผ่อนปรนการค้า บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
- จุดผ่านแดนถาวร ท่าเรือหนองคาย อ.เมือง
- จุดผ่านแดนถาวร ท่าเทียบเรือเทศบาลนครพนม อ.เมือง
- จุดผ่านแดน ท่าเทียบเรือมุกดาหาร อ.เมือง
- จุดผ่านแดนถาวร บ้านปากแซง อ.นาตาล จ.อุบลราชธานี ซึ่งตนไปติดตามด้วยตนเอง
- จุดผ่อนปรนการค้า บ้านจุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
- จุดผ่อนปรนการค้า บ้านม่วง อ.สังคม จ.หนองคาย
- ช่องทางธรรมชาติ บ้านท่าเส้น อ.เมือง จ.ตราด
- ด่านหนองเอี่ยน จ.สระแก้ว
แผนที่วางไว้ในการผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดน น่าจะช่วยผลักดันการค้าไทยได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ และจะเป็นแรงหนุนส่งให้ตัวเลขการส่งออกไทยทั้งปีได้ตามเป้าด้วย