เทรนด์ Net Zero Emission โจทย์ท้าทายอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรและอาหารไทย?

เทรนด์ Net Zero Emission โจทย์ท้าทายอุตสาหกรรมสินค้าเกษตรและอาหารไทย?

ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้ทั่วโลกต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและส่งเสริมเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างจริงจังทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและการผลิตอาหาร

ทำให้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่าง BCG (Bio-Circular-Green: BCG Economy) ถูกหยิบยกมาใช้ในการ Restart เศรษฐกิจอีกครั้ง โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจแบบยั่งยืน คือ การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และเทรนด์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ทำให้ภาคเกษตรและอาหารซึ่งต้นตอสำคัญที่ก่อให้เกิด Climate Change โดยปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งโลก ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่ Low Carbon Society อย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับไทย ภาครัฐเองก็มีความพยายามสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเพื่อให้สอดรับกับแนวคิด BCG Model ผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ EEC ที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต (Future Food) และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) ผ่านมาตรการส่งเสริมด้านการลงทุนและสิทธิพิเศษทางภาษีต่างๆ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2021 มีโครงการด้านเกษตรและอาหารแปรรูปที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ทั้งหมด 57 โครงการ เพิ่มขึ้น 24%YoY หรือคิดเป็นมูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 19,007 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 182%YoY

อย่างไรก็ตาม ฝันที่ไทยอยากให้อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารมุ่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) อาจยังมีความท้าทายอยู่หลายประการ

ประการแรก ภาคเกษตรและอาหารของไทยในกลุ่มต้นน้ำซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คิดเป็น 65% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมตลอดห่วงโซ่การผลิต ส่วนใหญ่เป็นการทำฟาร์มขนาดเล็กและเป็นลักษณะต่างคนต่างทำ ทำให้ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะกว่าที่จะเกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) ซึ่งแตกต่างจากภาคเกษตรกรและอาหารในสหรัฐฯ หรือญี่ปุ่นที่ส่วนใหญ่เป็นการทำฟาร์มขนาดใหญ่

ประการที่สอง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) คิดเป็นสัดส่วน 94% ของจำนวนผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารทั้งหมด ซึ่งอาจทำให้มีข้อจำกัดในการปรับตัวทั้งในด้านเงินทุนและองค์ความรู้ เมื่อเทียบกับผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่เริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับเทรนด์ดังกล่าวไปบ้างแล้ว

ประการที่สาม เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกโดยรวมยังมีความท้าทายสูง โดยล่าสุดภาครัฐได้ประกาศเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เป็น 40% จากเดิมอยู่ที่ 25% ภายในปี 2030 เมื่อเทียบกับกรณีการดำเนินธุรกิจตามปกติ (BAU) ดังนั้น หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวม ภาคเกษตรควรเป็นสาขาแรก ๆ ที่ต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับ 2 รองจากภาคพลังงาน

จากความท้าทายที่กล่าวมาข้างต้น Krungthai COMPASS ประเมินว่า ไทยจำเป็นต้องเพิ่มเม็ดเงินลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอีกอย่างน้อย 7 แสนล้านบาทในช่วงปี 2020-2050 หรือเฉลี่ยปีละ 2.3 หมื่นล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มการลงทุนในธุรกิจอาหารที่ทำจากพืช (Plant-based food) การลงทุนในระบบการจัดการปศุสัตว์ รวมถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตร เพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากความเสียหายอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจสูงถึง 8.4 หมื่นล้านบาทต่อปี อีกทั้งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันภายใต้กฎเกณฑ์ทางการค้าใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น

 

บทความโดย 

อภินันทร์ สู่ประเสริฐ

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย