กรมทางหลวงลุย ก.ย.นี้ ประมูลต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

กรมทางหลวงลุย ก.ย.นี้ ประมูลต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท

กรมทางหลวงเคาะ ก.ย.นี้ เปิดประมูลต่อขยายดอนเมืองโทลล์เวย์ถึงบางปะอิน 2.7 หมื่นล้านบาท รวมระยะทาง 22 กิโลเมตร เล็งตอกเสาเข็ม เม.ย.ปีหน้าก่อสร้าง 3 ปี

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทล.เตรียมเสนอผลการศึกษาและรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (พีพีพี) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) (M5) ช่วงรังสิต - บางปะอิน ระยะทาง 22 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 27,742 ล้านบาท ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาความเหมาะสมภายในเดือน มี.ค.นี้

โดยหากได้รับการอนุมัติความเหมาะสมแล้ว หลังจากนั้นในเดือน เม.ย.2565 จะส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาใช้เวลาราว 1-2 เดือน ก่อนเสนอให้คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์พีพีพี) พิจารณาอีกครั้งในเดือน พ.ค.2565 และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติหลักการร่วมลงทุนในเดือน มิ.ย.2565 เนื่องจากโครงการมีมูลค่าเกิน 5 พันล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังจาก ครม.อนุมัติโครงการแล้ว ประมาณเดือน ก.ค.นี้ ทล.คาดว่าจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการมาตร 36 แห่งพระราชบัญญัติร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 เพื่อจัดทำรายละเอียดเอกสารเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน (ทีโออาร์) และผลักดันให้มีการเปิดประมูลในเดือน ก.ย.นี้ เบื้องต้นคาดว่าภายในเดือน ธ.ค.นี้ จะได้ตัวผู้ชนะและสามารถลงนามในสัญญาไม่เกิน มี.ค.2566 เพื่อเริ่มก่อสร้าง เม.ย.2566 ใช้เวลาสร้างราว 3-4 ปี

สำหรับแนวเส้นทางส่วนต่อขยาย จะมีการก่อสร้างต่อจากเส้นทางเดิม มีจุดเริ่มต้นโครงการเป็นการก่อสร้างทางยกระดับต่อเนื่องจาก Dead End Structure เดิมของทางยกระดับอุตราภิมุข บริเวณ กม.33+924 ของ ถนนพหลโยธิน และจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณ กม.51+924 ของ ถนนพหลโยธิน ระยะทาง 18 กิโลเมตร (กม.) และมีทางยกระดับ (Ramp) เชื่อมไปยังทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และทางหลวงหมายเลข 32 ระยะทาง 4 กม. รวมระยะทางโครงการฯ ส่วนต่อขยาย 22 กิโลเมตร (กม.)

 

โดยโครงการจะพัฒนาขนาด 6 ช่องจราจรไปกลับ กำหนดให้มีด่านเก็บค่าผ่านทาง ทางขึ้น - ลง รวม 8 แห่ง ประกอบด้วย 1.ด่านรังสิต1 2.ด่านรังสิต 2 3.ด่านคลองหลวง 4.ด่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 5.ด่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร 6.ด่านมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ 7.ด่านประตูน้ำพระอินทร์ และ 8.ด่านแยกต่างระดับบางปะอิน วงเงินลงทุนรวม 27,742 ล้านบาท แบ่งเป็นงานโยธา 26,500 ล้านบาท งานระบบประมาณ 1,200 ล้านบาท

ขณะที่กรณีของการเวนคืนที่ดิน เบื้องต้นประเมินว่าจะใช้พื้นที่การเวนคืนที่ดินบริเวณทางขึ้น - ลงของด่านเก็บค่าผ่านทาง ซึ่งมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเล็กน้อย โดยเป็นพื้นที่อ่อนไหวผลกระทบสิ่งแวดล้อม จำนวน 74 แห่ง และมีพื้นที่อ่อนไหวที่อยู่ใกล้มากที่สุด คือ โรงเรียนตรีภัทร (กม.48+798) มีระยะห่างจากจุดกึ่งกลางแนวเส้นทางโครงการประมาณ 57 เมตร

อีกทั้งโครงการนี้จะใช้ระบบการจัดเก็บค่าผ่านรูปแบบแบบไร้ไม้กั้น Multi-lane free flow (M-Flow) ตามนโยบายของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากรกระทรวงคมนาคม โดย ทล.ได้กำหนดให้จัดเก็บค่าผ่านทางแบบระบบเปิด (Open System) ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทางที่ด่านขาเข้า และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมผ่านทางแบ่งตามประเภทของยานพาหนะ