บริษัทเล็ก-ใหญ่ ถูกโควิดกระทบถ้วนหน้า
ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เอสเอ็มอีไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไป หรือต้องเร่งหาสภาพคล่องเพื่อมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อหวังว่าจะกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจมากกว่าจึงทำให้หลายบริษัทประคองตัวไปได้
ถึงแม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะมีผลกระทบที่รุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตา รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยจะลดต่ำกว่าวันละ 10,000 คน มามากกว่า 3 เดือน แต่สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่กลับมาสูงเกินวันละ 10,000 คน โดยวันที่ 6 ก.พ. 2565 มีจำนวนผู้ติดเชื้อ 10,879 คน ซึ่งทำให้การควบคุมโรคยังต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อไป เพราะผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้เพียงแต่มีความรุนแรงของอาการโรคลดลง
การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในธุรกิจท่องเที่ยวและบริการได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2563-2564 แทบจะหายไปเลย ในขณะที่ปี 2565 จากเดิมที่มีความคาดหวังแรงส่งการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 แต่การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนทั่วโลกยังทำให้การเดินทางเข้าออกหลายประเทศต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อ และทำให้ปี 2565 การท่องเที่ยวของไทยยังฟื้นตัวได้ไม่มาก
ธุรกิจท่องเที่ยวจึงเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบก่อนใคร และยังคงได้รับผลกระทบอยู่จนถึงปัจจุบัน โดยที่ผ่านมาจะเห็นผู้ประกอบการโรงแรมหรือร้านอาหารต่างปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยถ้าผู้ประกอบการรายใดที่มีสายป่านยาวก็จะสามารถยืดอายุของธุรกิจให้พ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้ แต่ก็มีบริษัทขนาดเอสเอ็มอีไม่น้อยที่ต้องปิดกิจการไป หรือต้องเร่งหาสภาพคล่องเพื่อมาใช้หมุนเวียนในธุรกิจเพื่อหวังว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวในอีกไม่นานและกลับมาทำธุรกิจได้ตามปกติ
ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นกัน เพียงแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจมากกว่า รวมถึงมีเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจมากกว่า จึงทำให้หลายบริษัทประคองตัวไปได้ แต่บางบริษัทก็ต้องปรับแผนธุรกิจใหม่เพื่อความอยู่รอด ซึ่งทำให้บริษัทบางแห่งต้องลดเงินเดือนพนักงาน หรือใช้สิทธิงดเว้นการสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามที่กระทรวงการคลังผ่อนปรนให้นายจ้างไปได้ถึงเดือน มิ.ย. 2565
บริษัทเอกชนรายใหญ่ต้องยื่นขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะบริษัทที่ทำสัญญาร่วมลงทุนกับภาครัฐในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งบริษัทประกันภัยบางแห่งขอบอกเลิกกิจการประกันวินาศภัย หลังจากต้องจ่ายสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัยไปโควิด-19 ไปจำนวนมาก ซึ่งบริษัทรายใหญ่ก็ยังคงมีช่องทางในการบริหารธุรกิจเพื่อความอยู่รอดได้มากกว่าเอสเอ็มอีที่มักมีทางเลือกไม่มาก และอาจได้เห็นเอสเอ็มอีที่ไปไม่ไหวต้องปิดตัวเองลงมากขึ้น