ADVANC เผยปี 64 กำไรลดลงเหลือ 2.69 หมื่นล้าน ควักเงินปันผล 4.24 บาท

ADVANC เผยปี 64 กำไรลดลงเหลือ 2.69 หมื่นล้าน ควักเงินปันผล 4.24 บาท

“แอดวานซ์” เผยปี 2564 กำไรสุทธิอยู่ที่ 26,922,146 ล้านบาท ลดลง จากปี 2563 กำไรสุทธิ 27,434,360 ล้านบาท สาเหตุการระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจ กำลังซื้อผู้บริโภคอ่อนแอ ควักเงินจ่ายปันผลในอัตรา 4.24 บาท/หุ้น XD 18 ก.พ.

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC แจ้งผลประกอบการปี 2564 ผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 26,922,146 ล้านบาท ลดลง จากปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่  27,434,360 ล้านบาท เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและกิจกรรมทางธุรกิจ รวมถึงกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนก.ย. 2564 เป็นต้นมา รัฐบาลได้เริ่มผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเริ่มฟื้นตัว ในส่วนการแข่งขันด้านราคายังคงรุนแรง โดยผู้ให้บริการยังคงเน้นเสนอแพ็คเกจดาต้าแบบใช้งานไม่จำกัด (unlimited data plan) ในระดับราคาต่ำให้กับผู้ใช้บริการทั้งระบบรายเดือน และระบบเติมเงิน เพื่อรักษาฐานลูกค้า และขยายส่วนแบ่งการตลาด ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ลดลงร้อยละ 0.7 เทียบกับปีก่อน มาอยู่ที่ 117,244 ล้านบาท ในขณะที่ฐานผู้ใช้บริการยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 2.68 ล้านเลขหมาย ซึ่งได้รับแรงหนุนจากกลยุทธ์การตลาดที่แข็งแกร่ง รวมถึงการรักษาส่วนแบ่งการตลาด และสร้างการรับรู้ในบริการ 5G

 

ADVANC เผยปี 64 กำไรลดลงเหลือ 2.69 หมื่นล้าน ควักเงินปันผล 4.24 บาท

 

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC กล่าวว่า สถานการณ์ในปี 2564 เป็นอีกหนึ่งปีที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดและความท้าทายอย่างมาก แต่สำหรับบริษัทมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อนำศักยภาพของโครงข่ายคุณภาพมาสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า นำเทคโนโลยีใหม่ๆ มายกระดับการทำงานของภาคธุรกิจ ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม

จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมา AIS สามารถสร้าง Digital Ecosystem ที่มีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายทั้งระดับโลก และระดับ Local เพื่อสร้างการเติบโตร่วมกันแบบสอดประสาน ทำให้ผลงานในปี 2564 อยู่ในระดับที่น่าพอใจ เป็นผลมาจากความมุ่งมั่น ทุ่มเทของคน AIS ที่มีความเข้าใจการทำงานในฐานะผู้นำตลาดที่ต้องให้ความสำคัญกับการเติบโตในทุกมิติทั้งคุณภาพและงานบริการที่เหนือกว่า

สำหรับผลประกอบการในปี 2564 รายได้รวม อยู่ที่ 181,333 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับปีก่อน ในส่วนกำไรสุทธิ 26,922 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 1.9 เทียบกับปีก่อน ในส่วนของต้นทุน AIS ยังลงทุนขยายโครงข่าย 5G/4G อย่างต่อเนื่องเพื่อเสริมความเป็นผู้นำ และการเข้ารับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพิ่มเติมในปีนี้ (ใบอนุญาต 700MHz และ 26GHz) ส่งผลให้ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้น 4.5 เทียบกับปีก่อน

ADVANC เผยปี 64 กำไรลดลงเหลือ 2.69 หมื่นล้าน ควักเงินปันผล 4.24 บาท

ADVANC เผยปี 64 กำไรลดลงเหลือ 2.69 หมื่นล้าน ควักเงินปันผล 4.24 บาท

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

แต่จากการบริหารต้นทุนที่ดีในส่วนของค่าใช้จ่ายด้านการขายและบริหาร ที่ลดลงร้อยละ 11 จากปีก่อน ส่งผลให้เอไอเอสมี EBITDA อยู่ที่ 91,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 จากปีก่อน อีกทั้ง AIS ยังคงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในอุตสาหกรรม ซึ่งจะจ่ายเงินปันผลจากผลประกอบการครึ่งปีหลังที่ 4.24 บาทต่อหุ้น ในวันที่ 19 เมษายน 2565 โดยผลการดำเนินงานแยกตามรายธุรกิจดังนี้

• ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีรายได้ลดลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.7 จากปีก่อน อยู่ที่ 117,244 ล้านบาท เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนตัวลงในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ตลอดทั้งปี ประกอบกับการแข่งขันที่ยังคงรุนแรงต่อเนื่องโดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา แต่ด้วยการปรับตัวและนำเสนอประสบการณ์ดิจิทัลใหม่ๆ ให้กับลูกค้า ทำให้ในปี 2564 มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 2.68 ล้านเลขหมาย ส่งผลให้ปัจจุบันมีจำนวนลูกค้าโทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 44.1 ล้านเลขหมาย สำหรับการเติบโตของผู้ใช้บริการ 5G มีผู้ใช้บริการ 5G แล้วกว่า 2.2 ล้านราย 

• ธุรกิจอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ยังสามารถทำผลงานได้ดีมีอัตราการเติบโตของรายได้ที่ร้อยละ 21 เมื่อเทียบกับปีก่อน นับเป็นการเติบโตเหนืออุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้น 435,100 ราย ทำให้ AIS Fibre มีลูกค้ารวม 1,772,000 ราย ทะลุเป้าหมาย 1.6 ล้านครัวเรือนที่ตั้งไว้ในปี 2564 โดยมุ่งเน้นสร้างมาตรฐานใหม่ของการให้บริการด้วยการการันตีให้บริการภายใน 24 ชั่วโมง ทั้งการติดตั้งที่รวดเร็ว การแก้ปัญหาภายใน 24 ชั่วโมง พร้อมยกระดับตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านไปอีกขั้นด้วยแพ็คเกจความเร็วในระดับ 2Gbps ครั้งแรกในไทย ตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ต้องการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงสุด

• ธุรกิจบริการลูกค้าองค์กร ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง คิดเป็นร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขยายความร่วมมือกับ Microsoft ในฐานะพันธมิตรทางธุรกิจสำหรับบริการด้านคลาวด์ (Cloud) ในประเทศไทย เสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการลูกค้าองค์กรมากขึ้น โดย AIS Business ได้เปิดตัวบริการใหม่ๆ เพื่อเสริมความแข็งแรงมากขึ้น พร้อมขยายความร่วมมือและให้บริการ 5G Solutions ยกระดับในภาคอุตสาหกรรมและโรงงานการผลิต ทั้งกระบวนการทำงานทำงานด้วยดิจิทัลเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำงานร่วมกับ OMRON ในการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ Industry 4.0 ภาคการผลิตอัจฉริยะ Smart Manufacturing การผนึกกำลังกับ Mitsubishi Electric และ ทีเคเค ส่งเทคโนโลยี Total Industrial Solution ด้วย e-F@ctory โดยมุ่งเน้นการนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล 

• ธุรกิจดิจิทัลเซอร์วิส ในปีที่ผ่านมา เอไอเอสยังคงเดินหน้ามุ่งเสริมความเป็นผู้นำด้านบริการดิจิทัล ผ่านการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่สอดรับกับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ของคนไทย ทั้งความร่วมมือกับ Disney+ Hotstar ผู้ให้บริการคอนเทนต์บนวิดีโอแพลตฟอร์ม ซึ่งเอไอเอสได้รับสิทธิในการให้บริการแพ็คเกจพิเศษและทำการตลาดกับลูกค้าในประเทศไทย BBC เพิ่ม 2 ช่องพรีเมี่ยมทั้ง BBC World News และ BBC Lifestyle หรือแม้แต่คอนเทนต์กีฬาชั้นนำระดับโลกอย่างโอลิมปิก และการเอาใจแฟนบอลชาวไทยด้วยการคว้าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลไทยลีกในฤดูกาลล่าสุดอีกด้วย

นายสมชัย อธิบายเสริมว่า พัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และพฤติกรรมของผู้บริโภค เป็นตัวกำหนดทิศทางการเติบโตที่สำคัญของเราในอนาคต ซึ่งจากปัจจัยต่างๆ ได้สะท้อนให้เราเห็นว่า AIS พร้อมที่จะก้าวสู่การเป็นองค์กรโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Telco เพื่อต่อยอดศักยภาพของโครงข่ายสัญญาณที่เรามีในมือ ให้มีประสิทธิภาพพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีนี้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัลที่ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำให้กับคนไทยและภาคส่วนต่างๆ 

โดยเราได้เตรียมวางงบประมาณกว่า 30,000 – 35,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง รองรับโอกาสและการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการมองภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการแข่งขันและดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ AIS มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์